Time Trial สำหรับบางท่าน อาจมองว่านี่คือนิยาของชนิดจักรยาน ที่ดูแล้วสุดเฟี้ยว เฉี่ยวจนเยี่ยวราด พุ่งผงาดแหวกอากาศไปได้แบบมนุษย์จรวดร็อคเก็ตเทียร์ แต่จริงๆแล้วคำๆนี้ หมายถึงหนึ่งในรูปแบบการแข่งขันจักรยานที่หมายถึงการแข่ง”จับเวลา” แปลง่ายๆคือ จากจุดเริ่มต้นไปถึงเส้นชัยใครขี่แล้วใช้เวลาน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะ ไม่เกี่ยวกับว่าใครถึงก่อนหรือหลัง เพราะไม่ได้วึ่งเมื่อคุณปล่อยตัวไปพร้อมกัน เนื่องจาก ไม่สามารถขี่เกาะกลุ่มตามดูดกันได้ นี่จึงถูกเรียกในอีกชื่อว่า The Race Of Truth ที่เป็นตัวพิสูจน์กันให้ชัดที่สุดว่า “ใครจริงกว่า” นั่นเอง

แล้วทำไมพอพูดถึงคำนี้ คนส่วนมากจะนึกภาพรถ TT ขึ้นมาก่อน จนบางคนเข้าใจผิดว่า การขี่ไทม์ไทรอัลนั้น จะต้องใช้รถชนิดเฉพาะจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และกลายเป็นอีกหนึ่งความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนอย่างมาก ที่ว่า รถไทม์ไทรอัล ช่วยให้เราขี่ได้เร็วขึ้นอย่างยิ่งยวด

หลายคนอ่านมาตรงนี้แล้วอาจจะเคืองเพราะมันค้านกับที่ได้ยินมา อย่าเพิ่งง้างครับ เก็บหมัดไว้ก่อน มาเริ่มใส่กันไปทีละยกกัน ยกแรกนี้ต้องเข้าใจเรื่อง”ความได้เรปียบ” กันก่อน

สำหรับการแข่ง The Race Of Truth  นั้น หลักการคือการแข่งกับขีดจำกัดของตัวเอง ที่จะสามารถออกแรงได้เยอะที่สุดบนเส้นทางที่กำหนดมา แม้ว่าผลการแข่งขันจะถูกชี้ด้วยเวลาที่แตกต่างกัน แต่ในหลักการ มันคือการอยู่กับแรงเต็มที่ในช่วงนั้นของแต่ละคน ดังนั้น นักปั่น นักกีฬาที่แข่งชนิดนี้ ถูกวางไว้บนพื้นฐานว่า รีดแรงจนหมดที่สุดจริงๆ และ สำหรับทีมสนับสนุน หน้าที่สำคัญก็คือการทำยังไงก็ได้ให้แรงหนึ่งถังพลังงานมนุษย์นั้น ส่งออกไปเป็นความเร็วที่สูงที่สุด หน้าที่ของทีมสนับสนุนก็คือการหาทางทำให้นักปั่นของตนปั่นได้เร็วที่สุด เพื่อเวลาน้อยที่สุด และ ชนะได้นั่นเอง

คำว่า”แรงต้านอากาศ” ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยครับ เค้ารู้กันมาตั้งแต่สมัยขี่ม้ากันแล้ว นักขี่ม้าจะพยายามทำตัวเองให้ลู่ลมเพื่อแหวกอากาศไปได้เร็วที่สุด และ ทันทีที่มีการแข่งจักรยานเกิดขึ้น  นักปั่นจักรยานก็รู้ว่า การทำตัวเองให้ลู่ลมลงมา หมายถึง ความเร็วที่ได้มาด้วยอย่างมากมาย ซึ่งนั่นนำมาซึ่งการสร้างจักรยานเสือหมอบเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ใช่แล้วครับ ศตวรรษที่แล้ว เค้าก็รู้เรื่องพวกนี้กันถ้วนหน้า ไม่ใช่ศาสตร์อะไรที่ใหม่ล้ำยุคบุกอวกาศเลย

แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือความรู้ ความเข้าใจเรื่องของ”อากาศพลศาสตร์” ที่มีมากกว่าแค่แรงต้าน หรือ อากาศที่เราต้องแหวกผ่านไป แต่มันหมายถึง การไหลของกระแสอากาศอันก่อให้เกิดแรงฉุดทางด้านหลังของวัตถุนั้นๆ แรงนั้น ส่งผลรั้งให้วัตถุที่แหวกอากาศผ่านไป มีความเร็วลดลง เพื่อต่อสู้กับแรงนั้นยิ่งเราแหวกอากาศผ่านไปเร็วเท่าไหร่ เราก็ต้องเพิ่มแรงให้มากเป็นเท่าทวี (เพิ่มเป็นอัตรายกกำลัง) ซึ่งองค์ความรู้นี้เอง นำมาซึ่งจุดเริ่มในการพัฒนา หลักอากาศพลศาสตร์เพื่อสร้างความได้เปรียบนั่นเอง

ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการพัฒนา”ท่าขี่” ที่น่าจะได้ผลดีที่สุด จากการศึกษาหลากหลายวิธี จนถึงขั้น นำจักรยานและนักจักรยานเข้าไปในอุโมงค์ลมยุคแรกๆเพื่อศึกษาการไหลของกระแสอากาศรอบตัวนักปั่น ก่อนจะสรุปออกมาได้ว่า ร่างกายของคนปั่นนั้น คือตัวหลักในการสร้างแรงฉุดทางด้านหลัง และถือเป็นพื้นที่หน้าตัดขนาดใหญ่ที่สุดที่จะแหวกอากาศไปด้านหน้า ในอดีตเราเชื่อว่า 70% ของภาระทางด้านอากาศพลศาสตร์เกิดจากตัวคน แต่ในปัจจุบันการศึกษาลึกลงไปพบว่า ยิ่งเพิ่มความเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวคนก็จะยิ่งเป็นภาระมากขึ้นเป็นทวีคูณ และ อาจส่งผลถึง 90% ของแรงอากาศเลย

ทั้งหมดนี้มีนำมาสู่การพัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกกันว่า “แอโรบาร์”(Aerobar) หรือ แฮนด์ที่มีรูปร่างซึ่งช่วยให้นักปั่นอยู่ในท่าที่ได้เปรียบทางอากาศพลศาสตร์มากที่สุด ใครอ่านแล้วงง ผมจะขออธิบายสั้นลงว่า แอโร่บาร์ไม่ใช่ตัวทำให้เร็วขึ้นแต่แอโรบาร์คือตัวที่จัดท่าปั่นของเรา นั่นเอง ตั้งแต่อดีตกาลนานมาหลายสิบปี จนถึงทุกวันนี้ มีการศึกษาความแตกต่างระหว่างแอโรบาร์กับแฮนด์ปกติเอาไว้หลายสำนัก หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะให้ผลทดสอบที่สอดคล้องกันอย่างมาก ในครั้งนี้ เราจะมายกตัวอย่างการทดสอบของสื่อ ไซคลิ่งวีคลีย์ ซึ่งจับเอานักปั่นเข้าไปในอุโมงค์ลมและทำการวัดค่าต่างๆเปรียบเทียบกัน โดยแบ่งรายละเอียดเป็นดังนี้

1.เสือหมอบกับท่าขี่แบบปกติ

2.เสือหมอบกับท่าก้มจับดร็อป

3.เสือหมอบก้มลงจับดร็อปและงอศอก

4.เสือหมอบกับท่าขี่แบบดุดัน

5.เสือหมอบที่ติดแอโรบาร์ (โดยไม่ปรับตั้ง)

6.เสือหมอบที่ติดแอโรบาร์(ที่ปรับให้ได้ท่าที่ดีที่สุด)

7.รถ Time Trial

การทดสอบใช้ความเร็ว 40 กม./ชม. แล้ววัดแรงที่เกิดจากอากาศมาเทียบกัน ซึ่งผลที่ออกมา ตอกย้ำเส้นทางพัฒนาที่เรานำมาเล่าอย่างมาก

เมื่อเปรียบเทียบกับท่าขี่แบบปกติบนเสือหมอบ ซึ่งใช้กันในการขี่ทั่วไป การก้มลงจับดร็อปด้านล่างทำความเร็วได้มากกว่า 0.9 กม./ชม. เทียบได้กับการเซฟค่ากำลังได้ราว 18 วัตต์ที่ความเร็วเท่าเดิม หรือ เวลาที่ทำได้เร็วขึ้น 1 นาที 20 วินาที บนระยะทาง 40 กม. ผลลัพธ์นี้โดยส่วนมากเกิดจาก พื้นที่หน้าตัดทางด้านหน้าที่ลดลง จากการก้มลงและช่วงหัวที่ลดต่ำลง

ทีนี้มาดูท่าขี่ที่ก้มจับดร็อปและงอศอกลงบ้าง นี่คือท่าที่มักพบเห็นนักแข่งโปรใช้ในช่วงการทำความเร็ว ท่านี้เทียบกับการขี่ปกติ เพิ่มความเร็วได้ 2 กม./ชม. เทียบได้กับการประหยัดกำลัง 38 วัตต์ หรือ เซฟได้มากกว่า 10% (ประมาณ 12%) การทดสอบนี้พิสูจน์ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำกันมาร้อยปี ามารถได้ผลดีเยี่ยมโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อะไรใหม่ลำอนาคตแม้แต่นิดเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนฐานของความเข้าใจว่า “ตัวคน” คือสิ่งที่เป็นภาระทางอากาศมากที่สุดนั่นเอง

มาดูกันต่อที่ท่าขี่ซึ่งนิยมในศตวรรษที่ 21 กับการจับชิฟท์เตอร์แล้วงอศอกก้มลงขนานพื้น หรือท่าที่พบในโปรยุคใหม่เวลาขี่เดี่ยวนำหน้าขบวน ท่านี้ การทดสอบของไซคลิ่งวีคลีย์พบว่า ได้ผลลัพธ์ใกล้เคยงกับการจับดร็อปล่างแบบปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า สำหรับนักปั่นหลายๆคน หากเราปรับลดขนาดแฮนด์ให้แคบลง ปรับองศาของชิฟท์เตอร์ให้เหมาะสม เราสามารถรีดความได้เปรียบจากท่านี้ได้มากขึ้นอย่างมาก ทั้งจากการลดพื้นที่หน้าตัดที่ต้องแหวกอากาศ และ ปรับร่างกายให้เกิดแรงฉุดทางด้านหลังน้อยลง

ทีนี้มาดูกันที่ไฮไลท์ครับ ว่าด้วยแอโรบาร์ โดยอันดับแรกคือการทดสอบติดแอโรบาร์แบบแกะกล่องมาติดเอาดื้อๆ เหมือนที่คนทั่วไปทำกัน แอโรบาร์ช่วยบังคับให้ผู้ขี่มีพื้นที่หน้าตัดเล็กลง และเกิดแรงฉุดน้อยลงอย่างมาก เทียบเป็นความเร็วที่ได้เพ่ิมมาทันที 4 กม./ชม. หรือค่ากำลังวัตต์ลดลง 66 วัตต์ เทียบเป็นเวลา 5 นาที บนระยะทาง 40 กม. ซึ่งถือว่านี่เป็นก้าวกระโดดที่มหาศาลมากๆ ลองคิดดูนะครับว่าคุณสามารถขี่ได้เร็วขึ้นทันที 4 กม./ชม. ตอนนี้ขี่ได้ av26 เพียงติดแอโรบาร์เข้าไปคุณจะขี่ได้ av30 ส่วน 66 วัตต์ ในการทดสอบนี้คือราว 22% ของแรงที่ลดลง สามารถเปลี่ยนจากโซน 4 มาเป็นโซน 2 ได้เลย

ทีนี้ เมื่อทำการปรับเซ็ทท่าขี่ให้เหมาะสมที่สุดด้วยแอโรบาร์เดิม ดวยการปรับองศาให้เชิดขึ้นเล็กน้อย ลดความกว้างของแผ่นรองข้อศอก ปรับระยะหลักอานมาข้างหน้านิดหน่อย จนได้ท่าขี่ที่ดีที่สุด ผลที่ได้คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้นอีก 1.5 กม./ชม. สามารถลดกำลังที่ใช้ลงไปได้อีก 20 วัตต์ นั่นหมายถึงความเร็วที่เทียบกับเสือหมอบปกติ ท่าขี่ปกติแตกต่างกันถึง 5.5 กม./ชม. และ ประหยัดกำลังได้มากถึง 86 วัตต์ เทียบเท่ากว่า 28% และนี่น่าจะเป็นความได้เปรียบสูงสุด ที่แอโรบาร์สามารถช่วยเราได้บนรถเสือหมอบ ในแง่ของแอโรไดนามิคส์

จากนั้น ไซคลิ่งวีคลีย์ เปลี่ยนจากเสือหมอบติดคลิปออนแอโรบาร์ มาเป็นรถ Time Trial ทั้งคัน ที่เซ็ทรถให้พอดีกับตัวผู้ขี่และมีท่าขี่ที่ดีที่สุด ซึ่งผลต่างระหว่าง รถ TT กับเสือหมอบติดแอโรบาร์นั้น ออกมาแตกต่างกันน้อยมาก โดย TT ทำความได้เปรียบมากกว่าเสือหมอบติดแอโรบาร์เพียง 3% เท่านั้น แต่เมื่อเพิ่มความเร็วที่ทดสอบขึ้นไปเป็นกว่า 50 กม./ชม. ผลของรถ TT ทำความได้เรปียบเหนือเสือหมอบติดแอโรบาร์เทียบได้กับความเร็วเพิ่มมา 1 กม./ชม. หรือลดกำลังวัตต์ได้ 20 วัตต์ ซึ่งเทียบได้กับเวลาอันมีค่าที่จะตัดสินแพ้ชนะของโปรระดับโลก ที่ขี่ด้วยความเร็วนี้ในการแข่งขัน และนี่คือเหตุผลว่า เพราะอะไร ในโปรระดับโลกจึงต้องขี่รถ TT กันหมดทุกคนในการแข่ง Time Trial เพราะ รถ TT ที่ออกแบบมาอย่างละเอียดยิบในทุกๆส่วนท่อของเฟรม จะช่วยสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ในความเร็วสูงมากๆ ในขณะที่ ในความเร็วปกติ ความต่างนี้อาจน้อยมากจนแทบไม่ส่งผลกับเวลาเลยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ เราได้พบว่า แม้แต่โปรนักแข่งก็ไม่ได้ใช้รถ TT ลงทำการแข่งขันเสมอไป ช่นในการแข่ง Uphill Time Trial หรือการแข่งไทม์ไทรที่มีช่วงขึ้นเขามาเกี่ยวข้อง มีนักแข่งระดับโลกหลายคนเลือกใช้เสือหมอบที่เปลี่ยนใส่ชุดแฮนด์แบบไทม์ไทรอัลมาแทน เนื่องจากความได้เปรียบจากน้ำหนักที่เบากว่าของเสือหมอบ ช่วยให้ไต่เขา หรือ ออกตัวจากโค้งได้เร็วกว่ารถ TT ที่มีน้ำหนักมากกว่า

นอกจากนี้ ในการทดสอบของสื่อ GTN  ที่ทำการทดสอบลักษณะเดียวกัน โดยใช้เสือหมอบติดแอโรบาร์ เทียบกับ รถไตรกีฬาที่เซ็ทอัพแบบสบายๆ กับ เซ็ทอัพแบบดุดันที่สุด เทียบกับเสือหมอบปกติ ที่ความเร็ว 30 และ 40 กม./ชม. ผลที่ได้ออกมาในแนวทางเดียวกัน แถมยังสร้างความน่าประหลาดใจด้วยซ้ำ เมื่อพบว่า เสือหมอบที่ติดแอโรบาร์ สามารถสร้างความได้เรปียบได้ดีกว่ารถไตรกีฬาที่เซ็ทแบบสบายๆด้วยซ้ำ และ มีส่วนต่างความได้เรปียบน้อยมากๆเมือ่เทียบกับรถไตกีฬาที่เซ็ทมาหใ้ดุดันที่สุด

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ คือหนึ่งบทสรุปว่า “ตัวคน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดหากต้อกงารความแอโร่ฯ บนจักรยาน อุปกรณ์ชิ้นแรกที่ควรนึกถึงคือ แอโรบาร์ ที่ช่วยจัดท่าขี่ให้เราได้เรปียบทางอากาศพลศาสตร์มากที่สุด และ เป็นที่สังเกตุเพิ่มเติมอีกว่า ที่ความเร็วทั่วไป สำหรับนักปั่นอาชีพ รถ ธธ.  สร้างความได้เรปียบที่น้อยนิดอย่างมาก ตัวแปรใหญ่ก็ยังคงเป็นตัวคน และ ตัวแปรที่สำคัญจนมองข้ามไม่ได้คือ การปรับเซ็ทท่าขี่ให้เหมาะสม สร้างความได้เปรียบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวแอโรบาร์ หรือ รถ TT  ก็ตาม หากไม่เซ็ทให้ดีแล้ว ก็ไม่สามารถรีดสมรรถนะสูงสุดออกมาได้เต็มที่นั่นเอง

March 14, 2024 cyclinghub 0 Comment