“สุดเลยครับ จะได้ไม่คาใจ”

วลีติดปากของบรรดานักปั่นทั้งหลาย ชาย/หญิง ที่นำมาเป็นเหตผลในการตัดสินใจเมื่อต้องการเลือกซื้อจักรยานสักคัน หรืออุปกรณ์สักอย่างมาออัพเกรดให้กับรถคู่ใจ จนทำให้สังคมปั่นในประเทศไทยเต็มไปด้วย”รถเทพ” ชนิดที่ฝรั่งมังค่ามาเห็นแล้วต้องถึงกับตาโต ว่านี่บ้านเรามีโปรขาแรงกันเยอะขนาดนั้นเชียวหรือ เพราะจากรถที่ใช้กันแล้ว เรียกได้ว่า แทบจะยกเอาโปรทัวร์มากองรวมกันเลยทีเดียว หรือถ้าใครโชคดีได้ไปปั่นเมืองนอกก็จะรู้สึกทันทีว่า รถคันเก่งที่ติดไปด้วยนั้น มันเด่นโดดออกมาจากฝูงนักปั่นอย่างน่าแปลกใจ อัไหล่บางตัว รถบางรุ่น เราไม่เคยเห็นในบ้านเราด้ยซ้ำ อ๊ะๆ อย่าคิดนะครับว่ามันเทพมากจนเราไม่เจอ จริงๆคือ มันคือรุ่นกลางๆ ที่ผู้นำเข้าเหนื่อยใจไม่อยากนำเข้ามาขายแล้ว เพราะพี่ไทยนิยมซื้อของอยู่แค่ 2 แบบคือ ถูกไปเลย กับ แพงให้มันสุดตัว

คำถามที่คาใจก็คือ ถ้าไม่นับเรื่องฐานะและการจับจ่ายอันเป้นสุขของปุถุชนแล้วไซร้ มันจำเป็นขนาดไหนกันที่ต้องไปให้สุด และเคยมีใครตั้งคำถามหรือไม่ว่า รุ่นท็อปสูงสุด กับรุ่นรองลงมาสักหน่อย มันแตกต่างกันมากขนาดไหน ในฐานะที่เราได้มีโอกาสทดสอบรถ ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ไปจนถึงรุ่นเรือธง วันนี้จึงขอมาเล่าอะไรให้ฟังกันสักหน่อย

ตามปกติแล้ว ต้นทุนการวิจัยและพัฒนาเกือบทั้งหมดของแต่ละแบรนด์จักรยาน จะมุ่งไปที่การผลักดันเรือธงรุ่นใหม่ที่ต้องเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีและวิศวกรรมล้ำยุคเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันอย่างหนักหน่วงในตลาดได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น มันยังต้องเป็นม้าศึก อาวุธหนักในการแข่งขันระดับอาชีพที่ทุกความได้เรปียบอันน้อยนิดมีค่ามากมย มูลต่าของคำว่าแพ้ กับชนะ ความต่างระหว่างโพเดี้ยมและตำแหน่งตรงกลางของจุดสนใจ มันประเมินค่ากันแทบจะไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มันตอบโจทย์ การใช้วัสดุ การผลิต ไหนจะอุโมงค์ลม และรายละเอียดยิบย่อยที่อยู่ในชิ้นงานนั้นๆ ต้องลงทุนลงแรงกันอย่างมากกว่าจะรีดออกมาได้ จากนั้น จะค่อยๆถ่ายเทเทคโนโลยีลงไปยังรุ่นรองๆ หรือ เมื่อออกรุ่นใหม่ที่เทพกว่ามาแทนที่รุ่นเก่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็ปลดระวางรุ่นเก่าลงไปในตลาดที่ราคาย่อมเยากว่า เพราะราคาของเทคโนโลยีมันได้ลดลงไปมากจนต้นทุนไ่มได้สูงลิ่วเช่นเคย ถ้าใครอยู่กับวงการจักรยานมาเกิน 10 ปีอาจจะพอนึกออกว่า เมื่อทศวรรษที่แล้ว เฟรมคาร์บอนที่เรียกว่า “โมโนค็อก” เพิ่งออกมาให้ตลาดได้จับจองกันในรุ่นบนๆเท่านั้น อย่าว่าแต่แอโร่ฯ ซ่อนสาย ต่างๆนานาเลย เอาแค่ทำให้มันเบาแล้วขี่ได้สติฟฟ์ดีแค่นี้ก็ยากแล้ว น้ำหนักเฟรม 1 กิโลกรัม เป็นของปกติในการแข่งขัน ใครรีดลงไปต่ำกว่า 9 ขีดได้ก็เรียกว่าเบาหวิวๆ แต่จะสติฟฟ์ดีแค่ไหนก็ต้องถามกันอีกทีหนึ่ง นี่เรานับเฉพาะเฟรมเท่านั้น ลองย้อนกลับไปดูเรื่องของล้อกันบ้าง แล้วจะยิ่งน่าสังเกตว่า ล้อที่หนัก 1.5 กก. ในวันวาน มันคือน้ำหนักของล้อที่ซิ่งอยู๋ในโปรทัวร์กันเป็นปกติ แต่มาวันนี้ ล้อหนักโลครึ่งนี่เป็นของเบสิคทั่วไปหาได้ง่ายเสียเหลือเกิน

 

ลองมามองเล่นๆกันที่เฟรมก่อนเลยดีกว่า ใครพอจะคุ้นๆกันมั้ยครับว่า เฟรมรุ่นท็อปตัวไหนกันนะที่แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน  เรียกว่าตั้งแต่ออกสายพันธุ์แรก รุ่นปู่ทวดมา จนรุ่นหลาน เหลน ก็ยังหน้าตาคล้ายๆเดิม เฉลยให้คือ Specialized Tarmac ไงครับ ลองย้อนไปยุค Tarmac SL ตัวแรก จนถึงเจเนอเรชั่นที่ 5 Tarmac SL5 หน้าตาของมันแทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย พับผ่าสิ!! สิ่งที่เปลี่ยนคือ ความสติฟฟ์ที่มากขึ้น น้ำหนักที่เบาลง อันเป็นหัวใจของการพัฒนา แต่ลองดูดีๆว่าในระยะเวลาร่วมๆ 15 ปีที่ผ่านมา มันพัฒนาไปมากขนาดไหนกัน? คำตอบคือความต่างระหว่างน้ำหนักของเฟรม Tarmac SL กับ Tarmac SL5 อยู่ที่ประมาณ 150-180 กรัมเท่านั้น!! น้ำหนักนี้ แค่ท่านไปชิ๊งฉ่องก็หายไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนความสติฟฟ์ของเฟรม ถ้านับโดยรวมแล้วจะแตกต่างกันไม่น่าเกิน 15% เพราะมาตรฐานการทดสอบและเป้าหมายการออกแบบโดยรวมก็ไม่ได้ทดสอบที่แรงบิดสุงไปกว่าเดิมขนาดนั้น สิ่งที่แตกต่างกันจริงๆคือเรื่องของความสติฟฟ์เฉพาะจุดส่งกำลังที่เพิ่มมากขึ้นรวมๆกันแล้ว ทดสมการแต่ละรุ่นก็ต่างกันเกิน 30% เอาล่ะครับตัวเลขมันฟังดูชักจะเยอะ แต่สิ่งที่ต้องถามกลับมาคือ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างที่บอก ส่งผลกับการขี่จริงๆมากแค่ไหนกันนะ?  คำตอบที่คงต้องถามตัวเองกันแล้วว่า บนระยะทาง 40 กม. คุณขี่ได้เร็วขึ้น 6 วินาที หรือการกระชากเนินที่แรงบิดสุงลิ่ว กระทืบกัน 800 วัตต์ แล้วสามารถเปิดระยะห่างต่างกันได้ 1.5 เมตร เป็นสิ่งสำคัญของคุณขนาดไหน ถ้าตอบได้ นั่นคือความต่างที่”อาจจะ” ได้รับหากคุณมีกำลังพอจะทำออกมา

 

นี่คือการเทียบระหว่างเทพยุคนี้ กับเทพในอดีต ลองมาเทียบกับ น้องๆเทพที่อยู่ในยุคปัจจุยันกันสักนิด คราวน้เรามามองกันที่ Tarmac SL6 กันเลย สุดหล่อล่าสุด รุ่นที่ฉีกหน้าตาจากบรรพบุรุษไปอย่างสิ้นเชิง ในตัวรองลงมา Tarmac SL6 Pro ที่เปลี่ยนวัสุดให้ต่างกัน ลด ลดต้นทุนลงมานิดๆหน่อยๆ จับต้องได้มากขึ้น ค่าตัวต่างกันเปลี่ยนหลักตัวเลขกันเลยทีเดียว นับเอาน้ำหนักอย่างเดียว เฟรมมันเบากว่า Tarmac SL ตัวปู่ทวดเสียอีก และมีควาสติฟฟ์ที่เป็นรองรุ่นเรือธงปัจจุบันเพียงนิดหน่อยเท่านั้น เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ มันก็ไม่ได้ต่างไปจาก Tarmac SL2 หรือ SL3 ก็ว่าได้ ฟังดูแบบนี้แล้ว รุ่นนี้น่าจะเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดสินะ ถูกต้องเลยครับ มันขายดีมากๆ ยิ่งจำนวนการผลิตเยอะ มันก็ยิ่งราคาต่อชิ้นถูกลง ในอเมริกาเหนือ นี่คือรุ่นที่ทำยอดได้สูงอย่างน่าอิ่มเอิบใจ เข้าร้านไหนก็ต้องมีให้เห็น แต่ที่สยามประเทศนั้นไซร้ หายากเป็นที่สุด แขวนกันอยู่ไม่กี่ที่ เห็นกันเยอะๆก็ที่โชว์รุมของผู้นำเข้าเองนั่นแหละ ร้านค้าปลีกน้อยรายที่จะสั่งไปเก็บเอาไว้ เพราะคนซื้อไม่นิยม  เพียงเพิ่มเงินราวๆ 5 หมื่น ก็ได้จับต้องเรือธงแล้ว มันสุดกว่า จบกว่า นี่คือเรื่องจริงที่เราเป็น

 

ลองมาดูฝั่งค่าย Cervelo กันบ้าง ค่ายนี้ก็มีความน่าสนใจในเรื่งอการบริหารจัดการไลน์ผลิตภัณฑ์อยู่ไม่น้อย ตอนนี้เรือธงก็คงไม่พ้น Cervaelo R5 ล่าสุดที่ออกมาถีบมาตรฐานวิศวกรรมของจักรยานให้สูงขึ้น และมีรุ่นรองระดับน้องๆอยู่คือ Cervelo R3 ที่ดูแล้วความเทพลดลงมาตามลำดับ แต่ย้อนกลับไปเพียง 7-8 ปีเท่านั้น ถ้าใครพอจะจำได้ เจ้า Cervelo r3 เคยเป็นรถระดับเสื้อเหลืองของ Tour de France กันมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปมีพี่ใหญ่ R5 ออกมาเจ้าตัว R3 เองก็ไม่ได้ลดเกรดอะไรลงไป อาจมีการปรับการผลิตให้ตอบสนองต่อจำนวนมากขึ้นเล็กน้อย แต่มาตรฐานทางวิศวกรรม น้ำหนัก และความสติฟฟ์ก็ยังถือว่าเป็นระดับเดียวกันกับเรือธงเมื่อก่อนหน้านี้ แต่ราคาลดลงอย่างมาก แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่บ้านเรามักจะเห็นเจ้าตัวท็อปได้ง่ายกว่าตัวรอง เพราะคนซื้อักรยานระดับนี้ คิดว่ายอมจ่ายเพิ่มอีกแค่ 1 ใน 3 แต่จะได้ไม่คาใจยาวๆ เป็นความสุขที่มากกว่า

 

ลองมาส่องฝั่งอะไหล่ประกอบกันบ้าง มาดูกันที่ชุดขับเคลื่อนอย่าง Sram ซึ่งในบ้านเราชุดที่ขายดิบขายดีใครๆก็ใช้คงไม่พ้น Sram Red  แต่ในความเป็นจริงรุ่นที่ขายดีที่สุดในโลก มันคือรุ่น Sram Rival หรือลดลงมาสองรุ่นด้วยซ้ำ! ยังพอสังเกตุได้ว่า Sram Force ซึ่งเป็นรุ่นรองท็อปแต่มาในราคาจับต้องได้ง่าย น้ำหนักเทียบกันได้กับ Shimano Dura Ace เรือธงของอีกค่าย ก็ขายดิบขายดีเทน้ำเทท่าในบ้านเรา แต่ด้วยกลไกราคาที่ผู้ขายนำเสนอ ไปๆมาๆ ระยะหลัง Sram Red กลับกลายเป็นรุ่นที่ออกไปสู่มือตลาดอย่างมากมาย สถานการณ์แบบนี้ก็พบได้ในชุดขับเคลื่อน Campagnolo  เช่นกัน เมื่อรุ่นกลางๆนั้นแทบจะหาได้ยากยิ่งในบ้านเรา ตัวเลือกก็น้อย ในขณะที่รุ่นบนๆมีมากันให้เต็มไปหมด เพราะคนที่จะประกอบรถ หรือจะอัพเกรด ถ้ามีทุนสักหน่อย มองไปยาวๆที่ Record หรือ Super Record กันไปเลย

 

ฟังดูแบบนี้ เหมือนกับว่าพี่ไทยช่างมือเติบกันเสียทั้งหมด อันที่จริงมันไม่ใช่แบบนั้นหรอกครับ เพราะถ้าคุณลองเดินทางไปให้ทั่วๆก็จะพบว่า ในหลายๆภูมิภาค เราจะได้พบรถรุ่นรองๆมากกว่ารุ่นท็อป แต่แน่นอนในระดับเมืองใหญ่ ที่เศรษฐกิจมีมูลค่าสุงกว่า สถานการณ์อย่างที่ผมเล่ามาตั้งแต่แรกถือเป็นของธรรมดายิ่ง ผิดหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ผมคงตอบไม่ได้และไม่สามารถตัดสินได้ ขอย้ำอีกครั้งในตรงนี้ว่า ความจำเป็นหรือคุ้มค่านั้น ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ในการจับจ่ายของแต่ละคน และสุขในการจับจ่ายเป็นสุขอันพึงหาได้ของปุถุชน ถ้าไม่ได้เบียดบัง เบียดเบียนส่วนไหนให้เดือดร้อน มันก็คุ้มค่าต่อใจทั้งนั้นแล ส่วนคำว่าจำเป็นนั้นก็สอดคล้องกับความสุข ความต่างของวินาทีที่ทำได้ กับความสุขที่ได้ครอบครอง มันคนละเรื่องเดียวกัน เราที่กำเนิดเิบโตมาด้วยวาสนาที่ต่างกัน ก็ไม่สามารถไปวัดได้ว่า”จำเป็น” ของเราับเขานั้นเหมือนกัน

 

แต่คำถามนี้ อาจช่วยให้อีกหลายต่อหลายคนที่ยังคง”คัน” อย่างเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะกิเลสที่อยากได้ อยากมี อยากครอบครอง จนใจร้อนรุ่ม แต่ยังไม่สามารถหามาครองได้ ลองตั้งคำถามเพื่อให้ใจสงบร่มลงบ้าง ว่า สำหรับเราที่อาจไม่ลื่นไหลใช้คล่อง ต้องพยายามบดเบียดเสียดสีให้ได้มาครองนั้น จะคุ้มค่าควรแก่ความจำเป็นหรือไม่ ผมยังคงจำได้ถึงคำถามที่เพื่อนผมถามว่า “จักรยานแพงเท่าไหร่ถึงจะออกกำลังกายได้สุขภาพดีเท่ากัน” … คำถามนี้ทำให้ผมต้องคิดก่อนตอบ เพราะในความเป็นจริง คันละหมื่น ก็ออกกำลังกายได้เหมือนกันนั่นแหละ อยู่ที่ตัวเราเองเป็นผู้ขี่มันทเ่านั้น แต่ผมก็ตอบไปอย่างที่ตัณหาพานำว่า

 

“จักรยานแพงๆก็ทำให้อยากขี่ไง พอขี่บ่อยสุขภาพก็ดีกว่า”

ขอเอวังด้วยประการเช่นนี้ และเป็นคำถามเล็กๆที่อยากฝากให้ท่านลองทบทวนถึงคำว่า”จำเป็นไ เมื่อจะเลือกซื้ออะไรเกี่ยวกับจักรยาน ที่สำคัญหากคุณสุขได้อย่างเข้าใจ สุขนั้นจะจีรังยั่งยืนและมองกลับไปที่พื้นฐานแรกที่สุดที่ทำให้คุณรักในจักรยานดูอีกครั้ง

June 20, 2018 cyclinghub 0 Comment