สำหรับคนที่แพ้กุ้งหรือแพ้อาหารทะเล คุณสามารถอ่านหรือก้าวข้ามบทความนี้ไปได้อย่างสบายใจครับ เพราะการไม่กินกุ้งของคุณ ย่อมไม่สะเทือนถึงท้องทะเลในความหมายที่ผมกำลังพูดถึงแน่นอน แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่โปรดเมนูกุ้งเป็นชีวิตจิตใจ ผมมีเรื่องเล็กที่ไม่น่าจะใหญ่ แต่แล้วมันก็ใหญ่เพราะมันเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลโดยตรง ว่ากันด้วยเรื่องกินกุ้งนี่แหละครับ


ปกติแล้วการเพาะเลี้ยงกุ้งหรือสัตว์น้ำ จะมีอาหารสำเร็จรูปที่มีวัตถุดิบปลาป่นเป็นส่วนประกอบ ซึ่งปลาป่นนั้นถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และตกเป็นจำเลยสำคัญว่าเป็นตัวการที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล เพราะวัตถุดิบที่ใช้ทำปลาป่นคือปลาขนาดเล็กที่ยังไม่โตเต็มวัย หรือปลาที่คนไม่นำมาบริโภค และส่วนหนึ่งเป็นปลาที่เกิดจากการผลพลอยได้ของการทำประมงแบบทำลายล้าง ด้วยอุปกรณ์ทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างอวนลากตาถีรวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ อีกมากที่ได้เข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมปลาป่น จึงส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้ไม่มีโอกาสเติบโตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ นำมาสู่จำนวนของปลาใหญ่ที่ลดลง และระบบนิเวศเสียสมดุลในที่สุด

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยอุปสงค์และอุปทาน หากความต้องการปลาป่นยังมีมากอยู่ ปัญหานี้ยังไงก็เป็นปัญหาระดับโลกที่แก้กันไม่ตก โดยเฉพาะหากเป็นความต้องการของผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ดังนั้นการได้เห็นความตั้งใจจริงของผู้นำด้านธุรกิจอาหารของบ้านเรา ที่ลดความต้องการปลาป่นในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงเป็นเรื่องดีงามที่เกิดขึ้นในวงจรนี้
ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการด้านอาหารรายใหญ่ ซีพีเอฟไม่ได้ละเลยปัญหาที่จะก่อวิกฤติให้กับท้องทะเลที่กำลังน่าเป็นห่วง จึงได้มีมาตรการสนับสนุนให้คู่ค้าปลาป่นปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืน และสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล โดยใช้ปลาป่นที่มาจากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐาน IFFO Responsible Sourcing (IFFO RS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปลาป่นอย่างยั่งยืนในระดับสากลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบไปจนถึงเรือประมงที่จับปลามาได้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความโปร่งใสในการจัดหาปลาป่นของบริษัท ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่บริษัทใช้มาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย และมีแผนลดการใช้ปลาป่นโดยการพัฒนาสูตรอาหารกุ้งอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันอาหารกุ้งของบริษัทมีปลาป่นเป็นส่วนประกอบเพียงประมาณ 5 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


ผมไม่แน่ใจว่าการลดใช้ปลาป่นในผลิตอาหารกุ้งของผู้ผลิตอาหารเบอร์ต้นของไทย จะช่วยลดการทำลายล้างของประมงผิดกฎหมายได้แค่ไหน แต่เชื่อว่าก็น่าจะส่งผลกระทบไปถึงต้นทางของการจับปลาเล็กปลาน้อยเข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ในจำนวนหนึ่ง และการกินกุ้งครั้งต่อๆ ไปจากผู้ผลิตที่ใส่ใจต่อผลกระทบนี้ ก็ช่วยให้ผมสบายใจได้ว่าตัวเองได้ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่มีต่อท้องทะเลให้น้อยลง แม้การเลือกกินของผมจะมีส่วนช่วยเพียงแค่เล็กน้อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเสียเลย

November 22, 2018 cyclinghub 0 Comment