โดย นักปั่นขยันซอย

คราวก่อนมาเล่าถึงคำถามบ้านๆ สำหรับมือใหม่ๆ ได้ทำความเข้าอกเข้าใจ ถึงอะไรต่อมิอะไรเรื่องการซ้อมปั่นจักรยาน คราวนี้จะจับมาเพียงตัวเดียวอันเดียวมาเที่ยวขยายความ ว่าการซ้อมให้สำเร็จ มันมีสูตรสำเร็จเสร็จใน ที่ใครทำก็ถึง….ฝั่งได้ หรือมันมีปัจจัยไม่ตายตัวที่กลัวจะหลงลืมกันไป

สูตรสำเร็จในการซ้อมมีอยู่” แต่จะนำไปใช้ให้สำเร็จ “ต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับคนๆไป” ตัวแปรที่อยากให้เบิ่งตาดู แทยงหูฟัง เอาให้ดังถึงแกนสมอง มาไล่ลองดูไปด้วยกันนะฮับ

  1. อายุ” โค้ชหรือเทรนเนอร์ หรือพี่น้องผองเพื่อนผู้หวังดี จะช่วยฝึกฝนให้นักปั่นไม่ว่าแห่งหนตำบลใด โปรดคำนึงถึงวัยของนักปั่นคนนั้นก่อนเลย การออกแบบการซ้อมให้คนสูงวัยที่ระบบแอโรบิคยังดี แต่ระบบการทำงานของหัวใจและร่างกายในโซนสูงๆ มันเริ่มเหี่ยวแห้ง การวางแผนที่ไม่สมดุลย์ก็เหมือนจะแกล้งให้หัวใจวายตายห่านกันเสียเปล่าๆ การวางแผนการซ้อมให้กลุ่มนักปั่นวัยรุ่น กับนักปั่นวัยแดกเหล้าเข้าบาร์ ก็หาใช่ว่าจะเหมือนกัน ยกตัวอย่างเรื่องยอดฮิตของการปั่นสร้าง Base สำหรับวัยกำหนัดที่อยากจัดหนักหวังล่าถ้วย การปั่นแบบ Steady training หรือปั่นยาวนิ่งๆ ในโซนหัวใจต่ำสัก 3 เดือนอาจเป็นเรื่องที่ต้องคุย แต่การสร้าง base ของมนุษย์เงินเดือนวัยกลางคนที่ปั่นสัปดาห์ละ 2 วัน ก็ต้องเป็นส่วนผสมของ Steady and High Intensive Interval คือเน้นหนักสลับเบาให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายของนายนั้นๆ แต่ถ้าเป็นพวกวัยหลักสี่ หรือห้าแยกลาดพร้าวชาวชรา การเก็บ base อาจไม่ต้องจองกันยาวเท่ากับการรัรกษา Aerobic fitness และนั่นคือปัจจัยวัยสังขาร ที่ต้องรู้ว่าเราวัยใด เหมาะกับการซ้อมแบบไหน

  1. เป้าหมายในการปั่น” เป้าหมายคือตัวกำหนดวิธีการ ถ้าเป้าหมายคือการแข่งขัน คืออยากอยู่แถวหน้า การซ้อมอย่างเป็นระบบ ด้วยการแบ่งการซ้อมออกเป็นช่วง Off season เพื่อสร้าง base ช่วง Pre-season เพื่อ Build form ช่วง Race season เพื่อ Peak form ก็เป็นสิ่งที่นักปั่นต้องหาเรื่องเหล่านี้ใส่ตัว ถ้าเป้าหมายของบางคนคือการปั่น Audax การปั่นสะสมระยะ การฝึกเรื่องการใช้พลังงานและโซนหัวใจที่เหมาะสมคือเรื่องที่ต้องจำใส่หัว ถ้าเป้าหมายของใครบางคนคือปั่นเพื่อสุขภาพที่ดี บำบัดโรคที่เบียดเบียน การปั่นแบบสม่ำเสมอด้วยทางสายกลางเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายคือเรื่องไม่วายต้องศึกษา ไม่ใช่ปั่นน้อยแดกหนัก ปั่นพักหนักเมาท์ ปั่นเหมือนเขา แต่เราอ้วน หรือบางคนปั่นเยอะแต่แดกยับ ก็นับว่ามาผิดทาง ถ้าเป้าหมายเราคือออกทริปปั่นหรรษา แต่งตัวสวยรวยเซลฟี่ หรือพวกขี่เดี่ยวแล้วเปลี่ยวใจ มีพวกมากทีไรหัวใจเบิกบาน คุณก็แค่จับจักรยานไปปั่นหมกเพื่อนให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะฟินได้ เพื่อตอบสนองต่อมสังคมอันเบ่งบานของเรา

  1. สังขาร” จะทำอะไรก็ให้ดูสังขารกันนิด คิดถึงร่างกายกันหน่อย เอาง่ายๆ เช่นชายกับหญิง บรรดาหนุ่มใหญ่วัยเจริญพันธุ์ ถ้าให้ลองปั่นโปรแกรมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแค่ 4 สัปดาห์ ก็เห็นหน้าเห็นหลัง แต่หญิงใสวัยผสมพันธ์ทั้งหลายอาจต้องใช้ 6-8 สัปดาห์ กล้ามขาถึงจะแข็งแกร่ง แถมเมื่อหยุดฝึกซ้อมเพียงไม่นาน สาวน้อยสาวใหญ่ก็จะถดถอยไวกว่าชายมากโข สังขารบางคนที่ทั้งดูดเหล้าเมาบุหรี่เอ้ย ดูดแกงกระหรี่ เมาว่าวเอ้ย ดูดบุหรี่ เมาเหล้าเอ้ย ถูกแล้ว แฮร่แต่ยังมีใจรักการปั่นและมันส์ในบรรยากาส ถ้าดันอุกอาจให้ฝึกโซนหนักสูงๆ ก็เหมือนให้แบกซุงขึ้นเขา แบกเมียเก่าขึ้นหลัง รังแต่จะหล่นทับขี้แตกตาย บางคนคอเรสเตอร์รอลกระฉูด ไขมันเลวมีเยอะแล้วก็ไม่สำนึก ครั้นจะมาฝึกคอร์สแบบโปรฯ ก็โถเวรกรรม หรือคนตัวเบาอยากเอาดีทางสปรินท์คนตัวหนักอย่างหลินปิงอยากจะซิ่งบินขึ้นเขา เราก็ต้องแนะนำแนวการฝึกให้เหมาะแก่สังขาร นี่ยังต้องนับรวมถึงพวกที่มีโรคภัยไข้เจ็บเหน็บหลังกันมาด้วยนะครับ บางคนหอบหืด บางคนภูมิแพ้ บางคนเบาหวาน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้อย่ามองข้าม ไม่งั้นเดี๊ยวจะเจอสี่คนหาม สามคนแห่ แย่เสียเปล่าๆ ดังที่เราได้เห็นนักกีฬาและนักจักรยาน ที่วูบดับลับลาน่าใจหายเคาะโตะ 3 ที ปฏิบัติ

  1. สันดาน” เรียกให้หรูดูดีว่าสไตล์ คือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การสืบพันธุ์ย่อมพัวพันกับสันดาน การซ้อมจักรยาน ก็มีสันดานเป็นการสืบพันธุ์ พวกคนหัวร้อนก้าวร้าว ยิงก่อนถาม ไม่ยอมโดนหยามว่าไม่สู้ เขาเหล่านี้จะให้ทำโปรแกรมฝึกเรียบๆ ยาวๆ มีหาวหลับ จะให้โปรแกรมที่กว่าจะเห็นผลจับต้องได้ว่าไป 3 เดือน ก็จะสลบจบข่าวกันซะก่อน การทำ workout แบบกระชับ หนักสลับเบา ที่ท้าทายต่อมสืบพันธุ์ขยันแข่ง จะทำให้คงความกระตือรือร้นเอาไว้ได้ สำหรับพวกนักปั่นขยันเกียจคร้าน ปั่นหนักเป็นไข้ ปั่นไกลเป็นลม ปั่นจบยาดม แต่เห็นนมสู้ตาย พวกนี้คงนิยมอะไรสั้นๆ กระชับรับผลใน 4 สัปดาห์ บางพวกเป็นนักปั่นสายวินัย ให้ปั่นน้อยอึดอัด ไม่ให้ซัดก็ขัดใจ การจัดโปรแกรมที่มีขั้นตอน ให้เห็นพัฒนาการที่ต่อยอดไปยันบั้นปลาย ก็น่าจะถูกอกถูกใจสายฮาร์ดคอร์ ยิ่งวิวัฒนาการปัจจุบันมันมีเครื่องมือสแกนกรรม อย่างพวกวัดค่า Body composite ที่ผมได้ไปทดลองมา แค่จับเครื่องนี้เพียง 2 นาที มันบอกสังขารงานงอกออกมาหมด ทั้งมวลกระดูก มวลกล้ามเนื้อ มวลไขมัน พลันเห็นแล้วก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ มาวางแผนการซ้อมให้เหมาะกับสังขารได้ดีทีเดียว เรื่องนี้น่าสนใจ ไว้ว่างๆ จะมาซอยเรื่องนี้ให้เข้าใจในภายหลังนะฮับ..

  1. พื้นฐานในอดีต” ไม่ใช่พื้นฐานครอบครัว พื้นฐานการศึกษา แต่มันคือพื้นฐานกีฬา ที่ได้สั่งสมบุญญามาแค่ไหน พวกมีบุญเก่าอย่างนักบอล นักวิ่ง นักกีฬาต่างๆ เขาเหล่านี้สั่งสมบารมีด้านแอโรบิคฟิตเนส ลงในบันทึกหนังหมามาเรียบร้อย มันก็ต่อยอดได้เร็ว จัดโปรแกรมหนักๆ หรือโปรแกรมแบบ shortcut ก็จัดได้ แต่พวกสั่งสมเหล้ายาปลาปิ้ง เป็นคนจริงเรื่องเหล้ายา แต่เรื่องกีฬานั้นบ้าบอ จะล่อกันหนักๆ แต่แรก ก็จะแหกหดตดแตกกันเสียก่อน ก็ต้องค่อยๆ ให้ปั่นเบาๆ สะสมเลขไมล์เป็นกำลังใจกันไปก่อน คนที่ปั่นมาแล้ว 1 ปี โปรแกรมการซ้อมย่อมต่างจากพวกปั่นมาแล้ว 3 ปี ชั่วโมงบินในกีฬาจักรยาน นั้นถือว่าต้องเอามาคำนวณในการวางแผนการฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน

นักปั่นขยันซอยก็จะทยอยปูพรมเรื่องการซ้อมปั่นกันไป เพราะรู้ว่าคนซื้อจักรยานหลักหมื่นหลักแสน คงไม่ใช่แค่อยากเอามันส์หรือเพียงสันทนาการ แต่คงอยากมีพัฒนาการยันคลองตันแฮร์ อันนี้รู้สึกเงียบ ไม่เฉียบอย่างที่หวัง ก็ขอให้ผู้อ่านจงยิ้มอ่อนมองบนกันตามอัธยาศัย เสร็จแล้วถ้าใครมีเศษเสี้ยวหัวใจให้นักปั่นขยันซอย ก็ขอให้ทยอยมอบไลค์และใช้แชร์ให้กับโพสของนักปั่นขยันซอยด้วยนะจ๊ะ เพราะอีตาบรรณาธิการผู้มีอาการทางจิตของเว็บ Cycling Hub ก็ขยันขู่ฟ่อๆๆ ว่า ถ้า Post ของพี่ซอยไม่มีแขกคอยติดตาม มีแต่คนมองข้ามไม่กดไลค์ มันจะให้พี่ซอยกลับไปคอยเชียร์แขกที่โปไซดอน โคลอนเซ่ ดูมันทำกับพี่ซอยเอาหละคราวหน้าจะมาซอยเรื่อง “สัดส่วนการซ้อม ใครๆก็พร้อมออกแบบได้” ถ้าโพสนี้ไลค์เกินร้อยก็พบพี่ซอยในครั้งหน้า ถ้าโพสนี้ไลค์ไม่มา ก็อย่าหวังจะมีครั้งหน้ากับพี่ซอย..อ่านจบให้ตบไลค์ด้วยรัก และมักมากนักปั่นขยันซอย

June 15, 2018 cyclinghub 0 Comment