By Auum
ในโลกจักรยานมีหลายครั้งที่เรามักจะได้ยินประโยคคุ้นหู
“อาทิตย์หนึ่งจะปั่นอะไรเยอะแยะ จะไปเป็นนักกีฬาอาชีพเหรอ”
“ในกลุ่มจักรยาน มันมีอะไรดีนัก ไปทีนึงหายไปเป็นวัน”
“เอะ อะ ก็จักรยาน เอะอะ ก็ออกทริป คิดถึงคนที่บ้านบ้างไหม”
ฯลฯ

นี่อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งในบทสนทนาเมื่อนักปั่นอย่างเราที่หลงใหลการปั่นชนิดกรีดเลือดออกมา เป็นล้อคาร์บอน หายใจเข้าออกเป็นความสนุกที่เราได้ปั่นกับเพื่อน แต่ถ้าชีวิตสามารถปั่นจักรยานเพื่อสร้างรายได้จนเลี้ยงตัวได้ทุกวันนี้บอกตามตรงว่าคงจะยาก แม้กระทั่งร้านขายจักรยานหลายเจ้าก็ถึงขนาดโบกมือร่ำลาวงการ ในขณะเดียวกันนักปั่นสมัครเล่นอย่างเราๆ มากมายหลายอายุในกลุ่มเดียวกันมีทั้งขาอ่อนขาแรงผสมกันไป แต่เวลาปั่นก็มักจะเอาความมันในการปั่น ความเร็วเฉลี่ย(Av)สูงๆมาทับถมกันสนุกสนาน จนหลายครั้งก็พาลให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียของ เสียรถ บางรายหนักข้อถึงเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครอยากให้เกิดเลยวันนี้เลยต้องมาคุยกันว่า “ปั่น อย่างไร ให้พอดี”

รู้จักคำว่า “หยุดพัก” (Break)
นักปั่นหลายคนเข้าใจว่า “ยิ่งปั่นเยอะยิ่งเก่ง” “ยิ่งกดได้หนักปั่นได้เร็วยิ่งแรง” แต่ในทุกครั้งที่เราปั่นกล้ามเนื้อยิ่งโดนทำลาย ถ้าเราจัดหนักทุกวัน ไม่รู้จักคำว่า “หยุดพัก” หรือ “เบรก” เสียบ้าง ไม่ใช่จะส่งผลเสียแค่เพียงสุขภาพอย่างเดียวแต่เวลาที่เรามีให้กับสิ่งอื่นเพื่อการใช้ชีวิตก็จะเสียไปด้วย เช่น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว สุขภาพ เช่น อาการหัวใจโต กล้ามเนื้ออักเสบ เสียงานเสียการ เสียเงิน และอีกมากมายที่เราจะเสียถ้าเราไม่สังเกตตัวเองว่า “มันเริ่มมากเกินไปแล้วนะ”
ยกตัวอย่างการ “ออกทริป” ผมเป็นคนนึงที่ชอบออกทริปทางไกลไปกับกลุ่มเพื่อน ยิ่งได้ปั่นได้ไกลกว่าที่เคยปั่นได้ก็รู้สึกว่าเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น หรือ การได้เปลี่ยนที่ปั่นในเส้นทางที่คุ้นเคย บอกได้เลยครับว่ามันสุดยอดมากๆ แต่พอเดินเข้าบ้านบางครั้งหลังจบทริปที่สนุกสนานท้าทาย เราก็กลับมานอนหลับหมดสภาพแล้วคนที่บ้านก็ต้องมาทำหน้าที่แทนเรา ซึ่งเราก็มักมีข้ออ้างว่า “มันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ” “เธอไม่ปั่นเธอไม่เข้าใจหรอก” ซึ่งไปๆมาๆก็ทะเลาะกันบ้านแตกเปล่าๆ

หรือ วลีเด็ด “ของต้องมี” ผมไม่เถียงครับว่า ของ (อุปกรณ์จักรยานต่างๆ) มันมีตั้งแต่ราคาหลักร้อย จนหลักแสน หลายครั้งที่ซื้อของไปแล้วไม่ว่าจะเงินสด เงินผ่อน มือหนึ่ง มือสอง มาถึงจุดหนึ่งเมื่อเรามีเรื่องร้อนเงินต้องขายแล้วของขายไม่ออก ตลาดแน่นิ่งแบบในปัจจุบัน ลดแล้วลดอีกจนขาดทุนกันยับ กว่าจะขายได้ หรือไม่ก็ดองอยู่อย่างนั้นแล้วเราก็ต้องไปหาเงินจากแหล่งอื่นกู้ยืมคนอื่นเพื่อเอามาใช้จ่าย อันนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก ถ้าเรารู้จักคำว่า “พอ” เงินก็จะมีเหลือให้ได้อัพกันอย่างพอเพียง เพราะความแรงไม่ได้อยู่ที่ “ของ” และ การที่เราจะดูดีก็ไม่ได้อยู่ที่ “ของ” เช่นกัน

“วางตาราง” การใช้ชีวิตให้เหมาะสม
เพราะ ชีวิตมีมากกว่า 1 ด้าน ใน 1 วันมีเรื่องมากมายที่เราต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยก็มีเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องการพักผ่อน การนอน กิจกรรมนันทนาการ งานอดิเรกอื่นๆ การที่นักปั่นส่วนหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับการปั่นจักรยานเพียงอย่างเดียว ทั้งวันคุยแต่เรื่องจักรยาน มันก็ดูสนุกและผ่อนคลายเพราะได้อยู่กับสิ่งที่ชอบ แต่พออยู่กับมันไปนานๆเคยไหมครับที่ “เบื่อ” แล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรใหม่เลยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากเราอยู่กับสิ่งนั้นมากเกินไป “การออกแบบ” การดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะถ้าหากเราไม่สามารถออกแบบได้แล้วปล่อยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปตามใจโดยมากมักจะส่งผลกระทบต่อ “คุณภาพ” ของการดำเนินชีวิตไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง
“ตั้งเป้าหมาย” ที่เป็นไปได้ในเวลาที่จำกัด

การกำหนด “เป้าหมายของความสำเร็จ” โดยเฉพาะการปั่นจักรยานเป็นสิ่งช่วยให้นักปั่นเกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสม การกำหนดเป้าหมายจึงไม่ใช่แค่ “ความเร็วเฉลี่ย” ที่ทำได้ แต่อาจต้องมองให้กว้างขึ้น เช่น คำชมของคุณหมอในการตรวจสุขภาพครั้งต่อไป รอบยิ้มของคนในรอบครัวที่เกิดจากการใช้เวลาร่วมกัน ความสุขที่คุณภาพชีวิตในภาพรวมดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่เราต้องการความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในทุกๆด้าน เพราะการหยุดปั่นจักรยานนานเกินไปไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเราแน่นอน แต่การปั่นมากไปก็เช่นกัน

 

มาเริ่ม “หยุด” เพื่อ “เริ่มต้น” ไปพร้อมกันครับ

Tag :: Trainingtrip
October 27, 2018 cyclinghub 0 Comment