ถ้าคุณกำลังวางแผนจะลงแข่งรายการสำคัญ หรือ มุ่งหน้าสู่ทริปใหญ่ที่กำลังใกล้เข้ามา แล้วยังคิดไม่ออกว่า เช้าวันนั้น จะทำอย่างไรให้ปั่นได้ดีที่สุด ลองมาดู Tips สั้นๆ 5 ประการ ที่จะช่วยให้คุณปั่นได้อย่างเต็มที่ไร้กังวลในเช้าวันสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของคุณกันเลย

 

1.อาหารสำคัญที่สุด

อาหารคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการจะปั่นให้ได้เต็มที่ คุณควรเติมพลังด้วยอาหารเช้ามื้อเต็ม ราว 3-4 ชม. ก่อนเวลาออกสตาร์ท ถ้าเป็นงานปั่นบ้านเราก็หมายความว่า ควรตื่นมาหาอาหารเช้าที่ให้พลังงานได้ดีในช่วง 04.00 น. ซึ่งก็แปลว่า คุณควรนอนให้เร็วและเตรียมอาหารเอาไว้ให้พร้อม หลีกเลี่ยงการปาร์ตี้แลองรับงานใหญ่ หรือ อาการนอนไม่หลับเพราะความตื่นเต้นอย่างเด็ดขาด อาหารเช้าก่อนเวลาแบบนี้ จะเก็บสะสมเป็นพลังงานเอาไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และมันสำคัญยิ่งกว่าการ”โหลด” คืนสุดท้ายก่อนปั่นเสียอีก

นอกจากนั้น ราว 60 นาทีก่อนเวลาออกตัว ควรมีอาหารเบาๆ ย่อยง่ายๆให้พลังงานได้ดีเช่น กล้วยหอม ขนมปังนิ่มๆ เติมพลังในรอบสุดท้าย อาหารเหล่านี้จะย่อยสลายและให้พลังงานออกมาในระยะแรกของการออกปั่นจักรยานได้ดี

 

2.วอร์มอัพให้พร้อม

การเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนปั่น มีทั้งการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการวอร์มอัพ ไม่ว่าจะวอร์มบนถนนทั่วไปหรือวอร์มบนเทรนเนอร์อยู่กับที่ก็ตาม คุณควรวอร์มอัพ 10-25 นาที ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ใช้ปั่น (ปั่นยาววอร์มสั้น ปั่นน้อยวอร์มนาน) โดยการวอร์มควรค่อยๆไล่ระดับความหนักจากโซนต่ำๆค่อยๆไล่ไปหาโซนที่สี่ จากนั้นเมื่อฟื้นสักหน่อย ก็ควรขึ้นไปวอร์มในโซน 5 แะมากกว่า เป็นเวลาสั้นๆเพื่อกระตุ้นระบบการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบพลังงานระดับสูง จากนั้นพักฟื้นให้ร่างกายได้คืนสภาพ มีเครื่องดื่มทั้งน้ำ เกลือแร่ และพลังงานเติมหลังการอบอุ่นร่างกาย เผื่อเวลาให้ร่างกายได้พักแต่ไม่นานจนหยุดความพร้อมเต็ที่ ควรมีเวลาหลังวอร์มอัพจนถึงการออกตัวราวๆ 10 นาที (งานบ้านเราก็จะมีเวลา”พิธี”ปล่อยตัวกันยาวนานอยู่แล้ว)

แต่หากคุณไม่เคยทำการวอร์มอัพมาก่อนเลย เราไม่แนะนำให้คุณวอร์มอัพเต็มสูบนัก เพราะมันจะได้ผลแย่มากกว่าดี ดังนั้น ในการปั่นซ้อมเตรียมตัว คุณควรฝึกที่จะอบอุ่นร่างกายให้เป็นนิสัย เริ่มต้นการปั่นเบาๆให้ครบโซนจนพร้อมก่อนค่อยเริ่มใส่พลังลงไป ทริคนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำมาว่า “ซ้อมให้เหมือนแข่ง แข่งให้เหมือนซ้อม” อย่าไปทำอะไรที่ไม่เคยทำในวันสำคัญเด็ดขาด

 

3.เช็คจักรยานและอุปกรณ์ให้พร้อมทุกอย่าง

คุณอาจจะเช็คจักรยานระหว่างที่ปั่นวอร์มอัพบนถนน หรือมีเวลาตรวจสอบการทำงานของมันหลังวอร์มอัพ ไล่เกียร์ให้ครบว่าขึ้นหรือลงได้อย่างที่ใจต้องการและทำงานเป็นปกติหรือไม่ ตรวจสอบการเบรค สายเบรค สายเกียร์ แกนปลดทั้งหมดว่าแน่นหนาปลอดภัย รวมถึงรองเท้าที่รัดได้แน่นกระชับ แม้แต่เสื้อผ้าเองก็ควรเป็นตัวที่คุณคุ้นชิน ถ้าเป็นไปได้ อย่าไปเอาอะไรที่ไม่เคยลองมาใช้ในวันสำคัญ เพราะความเสี่ยงที่จะ”ไม่ถูกโฉลก” มันอาจทำให้การปั่นในครั้งนั้นเป็นฝันร้ายไปเลยก็ได้

นอกจากเป็นการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยและลดปัญหาด้านเทคนิคแล้ว นี่คือการเพิ่มความมั่นใจ ในเพื่อนรักคู่ใจของคุณ ที่จะทำให้คุณออกไปวาดลวดลายได้อย่างไม่ต้องมีอะไรคาใจกับอุปกรณ์ต่างๆ

 

4.ศึกษาเส้นทางและจุดสำคัญ

ก่อนแข่งหรือออกทริปใหญ่ คุณควรศึกษาเส้นทางและจุดสำคัญเอาไว้ล่วงหน้า ในงานต่างๆจะมีขจึ้อมูลการแข่งขันสามารถตรวจสอบได้ว่า รุ่นที่เราลงนั้นมีระยะทางเท่าไหร่ กลับตัวตรงไหน จุดให้น้ำมีหรือไม่อย่างไร ภูเขาอยู่ช่วงไหน และมีอะไรที่ควรรู้บ้าง และคุณจะสามารถวางแผนการปั่นในวันนั้นได้อย่างรัดกุมมากขึ้น ก่อนออกตัว อย่าลืมที่จะทบทวนข้อมูลต่างๆเหล่านี้ให้ขึ้นใจ เมื่อลงไปบนถนนแล้ว คุณอาจมัวจดจ่ออยู่กับการปั่นและความสนุกของวินาทีนั้น จนอาจหลงลืมข้อมูลเส้นทางสำคัญ นึกภาพว่า คุณเผลอออกแรงสุดตัวไปก่อนจะขึ้นเขาลูกสำคัญ และต้องโดนกลุ่มทิ้งเอาไว้กลางเขา เพียงเพราะคุณลืมรายละเอียดนี้ไป

นักแข่งระดับโปรหลายๆคน(และหลายๆทีม) หรืองานแข่งระดับสากล จะจัดทำสติ๊คเกอร์ที่ระบุข้อมูลการปั่นเอาไว้ติดบนเฟรมจักรยาน บอกรายละเอียดคร่าวๆและระยะทางต่างๆ เพื่อให้นักปั่นคอยมีข้อมูลนี้อยู่เสมอ ส่วนในโปรทีมระดับบนๆนั้น ผู้จัดการทีม ก็จะวิทยุบอกข้อมูลเหล่านี้ให้นักกีฬาของตนเองเพิ่มอีกด้วย

 

5.ไปยังจุดปล่อยตัวให้พอดีเวลา

ธรรมเนียมปฏิบัติของงานจักยาน ใครมาก่อน อยู่หน้า ใครมาหลังก็อยู่หลัง หากทริปนั้นมีผู้ร่วมทริปหลายๆร้อย หลายๆพันคน แล้วคุณหวังจะเล่นให้มันส์กับกลุ่มหน้า คุณควรรู้ว่าคุณจะต้องไปถึงจุดปล่อยตัวกี่โมงถึงจะได้อยู่หน้าๆ เพราะการขี่ไล่จากท้ายไปหัวกลุ่มหลายพันคน กว่าคุณจะไปถึงก็เสียแรงไปมากแล้ว ในทางกลับกัน หากคุณไปเร็วเกินไป คุณก็ต้องยืนรอจนเครื่องดับกว่าจะได้ออกตัว ที่วอร์มมาทั้งหมดอาจสลายหายไป นักแข่งมือเก๋าๆบางคน จะเลือกเวลาที่ไปปล่อยตัวให้พอเหมาะพอดี และได้ตำแหน่งที่อยู่ที่พอดี

สิ่งเลวร้ายที่สุดคือการไปปล่อยตัวไม่ทันกลุ่มหรือรุ่นของตนเอง มันอาจฟังดูตลกๆแต่กรณีนี้มีทุกายการจริงๆนะครับ วันนั้นช่วงใกล้บริเวณงาน รถอาจจะคับคั่ง หาที่จอดยาก กว่าจะจอดรถ เตรียมตัวต่างๆรู้อีกทีก็ปล่อยตัวกันไปแล้ว ต้องขี่ไล่เข้าไปอย่างร้อนรน และโดยมากหากพลาดขนาดนี้ ก็จะตกหล่นเรื่องการวอร์มและอาหารไปด้วย ซึ่งมันือหายนะขั้นโศกนาฏกรรมเลยทีเดียว

March 20, 2019 cyclinghub 0 Comment