ราวๆ 10 ปีที่แล้ว ที่กระแสนิยมจักรยานเสือหมอบเริ่มก่อตัวขึ้น ในวันเวลาที่คนส่วนมากนิยมจักรยานเสือภูเขา และนำมาแต่งซิ่งทางเรียบ ใส่ยางเล็ก หน้าเกลี้ยง มีวลีหนึ่งที่ติดปากกันในยุคนั้นว่า นักปั่นเสือหมอบคือ “เสือสำอาง” วิ่งทางเรียบ ไม่เลอะฝุ่น ลงดิน ถนนต้องเรียบสนิทเป็นทางรถสปอร์ต เพราะมันคือรถแข่งไฮโซ เสือภูเขาคือรถลุยวิบากลงดินลงโคลน ชีวิตลูกผู้ชายตัวจริง สิงห์เข้าป่า มันคือภาพที่ถูกฝังลงลึกในความเข้าใจ จนกระทั่งหากมีทริป หรืองานปั่นไหน ที่ทะลึ่งพาเสือหมอบไปปั่นบนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนไม่เรียบสนิทกริบๆ หรือถ้าซวยเจอทางทราย ทางกรวด ทางลูกรังเข้าล่ะก็ มีโดนด่าจนแทบจะไม่ต้องคิดมาจัดงานกันอีกเลย ประเด็นด่าที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือ “รถเขาพัง ล้อเขาพัง ชดใช้ไหวมั้ย”

 

เสือหมอบและอุปกรณ์ต่างๆถูกมองว่า “บอบบาง” อ้อนแอ้น อรชร มาดสง่าของเพลย์บอยควบรถซิ่ง มันไม่เข้ากับทางที่กล่าวมาทั้งหมด ในขณะที่อุปกรณ์ต่างๆก็เบา บาง น้ำหนักรีดจนเบาหวิว เสือภูเขาจะต่ำกว่า 8 กก. ได้นี่เล่นเอาเลือด(เงิน) จางกันไปเป็นแถบๆ แต่เสือหมอบ แต่งไปแต่งมา ก็ได้เลข 7 กันสบายๆแล้ว ล้อก็เรียวเล็ก ซี่น้อย ผอมบาง ชิ้นส่วนต่างๆก็เป็นคาร์บอนดูแล้วไม่น่าแข็งแรง นี่แหละครับ สาเหตุทั้งหมดที่ทำให้เสือหมอบถูกมองว่าเป็นรถสำหรับถนนเรียบจริงๆเทานั้น แต่ในความจริงของสากลโลก มันไม่ใช่แบบนั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเสือหมอบยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีก้าวล้ำมาไกลกว่าอดีตมากมายนัก แต่ก่อนจะพูดถึงของใหม่ ผมจะขอเล่าเรื่องเก่าสั้นๆสักหน่อยสำหรับคำว่า “เสือหมอบ” และท่านจะเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังจะบอกได้เป็นอย่างดี

 

“เสือหมอบ” เป็นศัพท์ของสื่อไทย โก๋ไทย ที่เรียกบรรดานักปั่นจักรยานซิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าถูกเรียกกันมาตั้งแต่ยุค ’60s  ในสมัยที่บรรดานักซิ่งสองล้อจะไปถีบรถวนรอบๆสวนลุมพินี เป็นเด็กแว๊นรอบสวน กวนเท้าเหล่ากี๋สาวเต้นลีลาศภายใน เรียกว่า ข้างในคือวัยรุ่นอันมีสไตล์เต้นรำริงโก้กันอยู่ รอบๆก็มีเหล่าโก๋ขี่รถเร็วจี๋อยู่ และคำว่า”เสือ” ที่น่าจะหมายถึง คนนอกกรอบ ดุดัน นักเลง รวมถึงคนที่เข้าถึงสิ่งต่างๆอย่างลุ่มหลง ก็น่าจะเรียกเหมากันว่าพวกนี้คือ “เสือหมอบ” ให้เข้ากับท่าทางที่ขี่บนจักรยานคันโก้นั่นเอง แต่ที่มาจริงๆของมัน คือคำที่นำมาจากภาษาฝรั่งเรียกว่า “โร้ดไบค์” (Road Bike) หรือ “จักรยานถนน” (ศัพท์อย่างเป็นทางการที่ใช้กันอยู่) ถ้าจะเรียกกันตามหลักแล้วในอดีตจริงๆไม่มีคำว่าว่า “โร้ดไบค์” นะครับ เพราะย้อนกลับไปอ่านพวกสิ่งพ์พิมพ์เก่าๆ จะพบว่า พวกเขาเรียกมันรวมๆว่า “จักรยาน” เท่านั้น (Bike, Bicycle, Velo, Biciclette) คำว่า Road Bike เพิ่งมาโผล่เอาตอนมีจักรยานอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้ทำมาขี่บนถนนเกิดขึ้นมาช่วง ’70s “เมาเท่นไบค์” (Mountain Bike) นั่นแหละ ถึงต้องมีการเรียกจักรยานอีกแบบว่า จักรยานถนน (และเรียกเสือที่ไม่ได้อยู่บนถนนว่า เสือภูเขาไงครับ)

 

มาถึงคำว่า”จักรยาน” เมื่อก่อนีน้ มันก็คือพาหนะที่เดินทางไปบนถนนทั่วๆไปเป็นปกติ คำว่าถนนที่ว่ากันก็หมายถึง ทางที่ใช้เดินทางไปยังที่ต่างๆ รวมกันตั้งแต่ ซุปเปอร์ไฮเวย์ ไล่ไปจนถึงถนกรวดเลียบนาแบบยุโรป โรยอิฐ โรยดิน ทางฝุ่นนั่นแหละครับ จะเป็นถนนอิฐเก่า อิฐใหม่ ก็เรียกถนน ดังนั้นจักรยาน การออกแบบเขามองมาให้”แข็งแรง” พอจะขี่บนทางแบบนั้นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก จนแล้วจนรอด ใจมนุษย์นั้นชอบความเร้าใจ การแข่งขัน การแข่งจักรยานนจึงกำเนิดมาไล่ๆกับการมีจักรยานนั่นเอง คุณจินตนาการย้อนกลับไปเลยครับ จักรยานหน้าตาแบบไหนก็ตามในอดีต เคยมีการนำมาแข่งกันหมดทุกชนิดแล้ว จะล้อโต ล้อเล็ก เท้าไถ โครงไม้ มีเกียร์ ไม่มีเกียร์ ไม่มีเบรค เขาก็แข่งกัน ขี่กันมาเป็นร้อยปีบนทางที่มันไม่ได้เรียบหรูดูสวยสนิทกันมาตั้งร้อยกว่าปี มันถึงต้องพัฒนาให้มีอานนั่งสบาย มีล้อที่เป็นยางจะได้ลดแรงสะเทือน โครงต้องมีรูปร่างที่แข็งแรงรับแรงสะเทือนแข่งได้โดยไม่แตกไม่หัก

 

และเมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนานการแข่งจักรยานก็พัฒนาต่อไป มีการจำกัดรูปทรง รูปร่าง ชนิด น้ำหนักรถ เพื่อให้การแข่งนั้นเท่าเทียมและปลอดภัยมากขึ้น เส้นทางก็เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น ถนนหนทางตามที่ต่างๆก็พัฒนาขึ้น เรียบ สบายมากขึ้นตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงมีการแข่งอีกหลายรายการที่ยึดเอาเส้นทางเก่าแก่โบราณมาใช้ เพราะแข่งกันมาตั้งแต่รุ่นปู่โน่น มันก็ต้องรักษาเอาไว้เช่น Paris-Roubaix ที่วิ่งผ่านทุ่งนาไปบนถนนหินเก่าแบบโรมัน อายุร่วมๆ 2 พันปี กับ Tour of Flanders ที่ไต่เนินไปบนถนนอิฐของเมืองเก่าอายุแตะๆ 2 พันปี ก็เป็นอีกรายการที่น่ำจดจำ ส่วนในอิตาลีก็มี Strade Bianche (แปลว่าถนนสีขาว) ที่ปั่นแข่งกันไปบนทางฝุ่นคลุ้งขาวโพลนจนเป็นเอกลักษณ์ ล่าสุดในปีนี้ Tour de France ก็ได้มีช่วงหนึ่งของการปั่น ไต่เขาถนนฝุ่นกรวดกันแล้ว และรายการใหญ่อย่าง Paris Tour ก็ปั่นแข่งกันบนถนนกรวดในไร่องุ่น ที่ขรุขระ ร่วน ฝุ่นตลบกัน คุณคิดว่าสิ่งนี้สอดคลล้องกับความเชื่อของพวกเราที่เล่ามาตั้งแต่ต้นหรือไม่?

 

สภาพถนนลูกรัง ที่ฝุ่นตลบคลุ้งเมื่อล้อเสือหมอบวิ่งผ่าน กับความสะเทือนของถนนอิฐโบราณ หากคุณได้ลองสักครั้ง คุณจะพบเลยว่า นี่คือสิ่งที่ไม่มีทางหาได้ในประเทศไทย นักแข่งทีมชาติไทยเองก็เคยพูดประโยคนี้ เมื่อได้มีโอกาสไปแข่งชิงแชมป์โลกที่สหรัฐอเมริกา และเจอเส้นทางถนนอิฐ (ที่เป็นขนาดกลาง เทียบไม่ได้เลยกับก้อนใหญ่ๆในยุโรป) มันยิ่งกว่าแค่กระแทก สะเทือน แต่มันคืออาการกระเด้ง กระดอนโยนไปมา ที่จักรยานถูกนำมาแข่งกันแบบนี้มาเป็นร้อยปีแล้วนั่นเอง ในปัจจุบัน มีจักรยานที่เรียกว่า”เอ็นดูรานซ์” ที่ถูกเรียกว่ารถที่สร้างมาเพื่อแข่งในทางแบบนี้ ทำให้เราเชื่อว่าจักรยานปกติไม่น่าจะเหมาะสำหรับการขี่บนทางดังกล่าว แต่อันที่จริงแล้ว จักรยานถนนทั้งหมด ถูกสร้างมาให้มีความ”แข็งแรง” เท่าๆกัน สิ่งที่จักรยานเอ็นดูรานซ์ทำได้ดีกวาคือการซับแรงสะเทือนเท่านั้น ความทนทานไม่ได้แตกต่างกันเลยกับเสือหมอบน้ำหนักเบา 6.5 กก. เพราะย้อนกลับไป 12-15 ปีที่แล้ว นักแข่งก็เอาเสือหมอบธรรมดา คาร์บอนนี่แหละ ซัดโครมกันบนทางโหดๆที่เล่ามา แม้แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีนักแข่งคว้าแชมป์การแข่งบนทางอิฐสุดดิบด้วยเสือหมอบแอโร่ฯ เฟรมคาร์บอน ล้อคาร์บอน กันมาแล้ว

 

และนี่คือ หนึ่งในความเข้าใจผิดอย่างหนักหน่วง เสียงบ่น เสียงตำหนิ ทุกครั้ง ที่นักปั่นเสือหมอบต้องเจอกับเส้นทางที่ไม่เรียบสนิท กลัวเกรงของจะพัง มันสะท้อนถึงที่มาที่ยังไม่แจ่มชัดและภาพลักษณ์ที่ถูกมองของจักรยาน…”เสือหมอบ”

Tag :: endurance
October 17, 2018 cyclinghub 0 Comment