คงอยากรู้กันมากกว่าเนื้อหาวิทยาศาสตร์เป็นแน่ นั่นคือ “แล้วเราจะเลือกกันอย่างไร?”

เดิมที่เชื่อกันว่าล้อ aero เหมาะกับการใช้งานแบบ time trial หรือไตรกีฬาเท่านั้น เนื่องจากการแข่งและรถประเภทนั้นน้ำหนักไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ความได้เปรียบด้านอากาศจึงกลายเป็นสิ่งเย้ายวนให้เลือกมาใช้กัน

แต่ในเมื่อเวลายิ่งผ่านไปล้อขอบสูงขึ้น ทรงแอโร่มากขึ้น ก็มีน้ำหนักเบาลงมากขึ้นเรื่อยๆ แถมมีราคาและตัวเลือกน่าสนใจเพิ่มขึ้นทุกๆปี ล้อขอบสูงจึงไม่ใช่ของสำหรับแค่ขาแรงไทม์ไทรฯกับนักไตรจอมอึดเท่านั้นอีกต่อไป

ล้อขอบสูงไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป…

…ข้อเสีย 2 ประการหลักของล้อขอบสูงได้แก่ น้ำหนักที่มากขึ้น เนื่องจากใช้วัสดุมากขึ้น น้ำหนักขอบล้อจึงเพิ่มมากกว่าล้อที่มีโครงสร้าง วัสดุ และเสป็คเดียวกันที่ขอบต่ำกว่า อีกประการคือการควบคุมรถที่ยากขึ้นเมื่อโดนลมกระทำด้านข้างทั้งจากแรงยกด้านข้าง และผลจากลมที่เข้ากระทำตรงๆ ซึ่งทำให้การคุมรถยากขึ้น แถมยังส่งผลตรงกับความล้าและประสิทธิภาพของนักปั่นในระยะยาวๆนั่นเอง

ดังนั้นล้อชนิดไหนจะเหมาะกับใคร อย่างไร ต้องค่อยๆทำความเข้าใจกันครับ

ก่อนอื่นเรามาจำแนกชนิดของล้อกันในรูปแบบสากลนะครับ ล้อแอโร่โดยพื้นฐานแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักได้แก่

Mid Section Wheels
หมายถึงล้อขอบสูงที่มีความสูงอยู่ระหว่าง 28-40 มิลลิเมตร และสามารถมีน้ำหนักเบาได้ถึง 1000 กรัมต่อชุด ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เบากว่าล้ออลูมินั่มจะทำได้ และนั่นคือล้อที่ได้รับความนิยมในการขี่จักรยานถนนในทุกสภาวะ ทั้งการขึ้นเขา และความสามารถด้าน aerodynamic

Deep Section Wheels
หมายถึงล้อขอบสูงที่มาความสูง 40 มิลลิเมตรขึ้นไปแต่ไม่รวมล้อดิสค์ ล้อในกลุ่มนี้จะส่งดีอย่างมากในด้าน aerodynamics แค่ก็มีข้อเสียด้านน้ำหนักที่อาจจะมากขึ้นกว่าล้อในระดับแข่งขันหลายๆตัว ส่งผลให้ด้อยกว่าบนทางภูเขา หรือการเร่งความเร็วแบบรถถนน ที่สำคัญคือการควบคุมรถในทิศทางลมด้านข้างจะทำได้ยากกว่ามาก

วัสดุ
ในอดีตล้อ aerodynamics หลายๆตัวทำจากอลูมินั่ม ด้วยเหตุผลของความแข็งแรง ทว่ามีน้ำหนักที่สูงจนเกินไป ไม่สามารถทำขอบให้สูงมากได้ในขณะที่ตัวล้อมีน้ำหนักมาก ดังนั้นวัสดุที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุดสำหรับล้อขอบสูงได้แก่คาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งสามารถทำให้แข็งแรงได้โดยที่ใช้วัสดุน้อยกว่า ส่งผลให้ล้อมีน้ำหนักเบาแม้จะมีขอบที่สูงขึ้นกว่าล้อในยุคแรกๆ ข้อเสียของล้อคาร์บอนมีอยู่ 2 เรื่องได้แก่ ราคาของวัสดุที่สูงกว่า และที่สำคัญคือเรื่องพื้นผิวการเบรค
ล้อคาร์บอนส่วนมากจะมีผิวเบรคเป็นวัสดุบะซอลท์เพื่อให้แข็งแรง ทนความร้อนจากการเสียดสี และมีพลังมากพอที่จะหยุดยั้งได้ เพราะตัวผิวคาร์บอนปกติมีแรงเสียดทานค่อนข้างน้อย เนื้อบางและไม่ทนต่อความร้อน ดังนั้นจึงได้เกิดล้อขอบสูงอีกประเภทขึ้นมา ได้แก่ล้อคาร์บอนอลูมินั่ม ซึ่งมีผิวสัมผัสช่วงเบรคเป็นอลูมินั่ม โครงสร้างภายในเป็นแกนอลูมินั่มที่พอกต่อกับตัวขอบสูงขึ้นที่เป็นคาร์บอน เป็นความลงตัวของทั้งความแอโร่ฯและการเบรคที่ดี
แต่ก็ยังมีข้อเสียเดิมก็คือน้ำหนักที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี ได้มีการออกแบบพัฒนาขึ้นจนล้อในกลุ่มนี้สามารถทำน้ำหนักลงมาได้ถึง 1500g ซึ่งเป็นน้ำหนักที่สมเหตุสมผลต่อการใช้งานในระดับแข่งขันแล้ว

ซี่ล้อ
มักเป็นโลหะไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หรืออลูมินั่ม และคาร์บอน ซี่ล้อยิ่งน้อย ยิ่งมีความ aero สูง แต่ก็จะส่งผลให้ล้อมีอาการให้ตัวได้ รวมถึงความแข็งแรงของชุดล้อด้วย แต่หากมีซี่ล้อมากขึ้น น้ำหนักและความแอโร่ก็จะลดลงไป ดังนั้นหลายๆยี่ห้อจึงออกแบบการขึ้นซี่ล้อแบบใหม่ที่ให้ความแข็งแรงสูง รวมไปถึงการใช้ซี่ล้อคาร์บอนที่สามารถรับแรงได้สูง แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนซี่ล้อมาก หัวซี่ลวดก็เป็นอีกปัจจัยของระบบการประกอบล้อที่ต้องพิจารณา หัวซี่แบบปกติอาจลดทอนความแอโร่ฯลงไป แต่ก็ง่ายต่อการดูแลและปรับแต่ง แต่หัวด้านในสามารถแอโร่ฯได้มากกว่าแต่ก็ส่งผลถึงการดูแลปรับตั้งที่ยากขึ้น และยังพบว่าหัวซี่ลวดแบบฝังด้านในช่วยเพิ่มความสติฟให้กับล้อได้อีกนิดหน่อย

ยางงัดหรือยางฮาล์ฟ?
ขอบยางฮาล์ฟมันจะเป็นที่นิยมทางดทานน้ำหนัก เพราะทั้งขอบและยางเมื่อประกอบกันแล้วได้ชุดล้อที่มีน้ำหนักน้อยกว่า แถมจุลมได้แรงดันสูงกว่า การวิ่งก็ทำได้ดีกว่ายางงัด ทว่าปัจจัยจริงๆของการเลือกประเภทล้อสองชนิดนี้คือความเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า หากนักปั่นสะดวกใช้ยางฮาล์ฟ พกติดตัวไปสำรอง พับครึ่งยัดใต้อานไป เมื่อยางรั่วก็แกะออกมา เลาะเส้นเก่า ใส่เส้นใหม่ สูบลมเข้าไปแล้วไปต่อ เส้นที่รั่วสามารถรื้อมาปะได้แต่อาศัยฝีมือพอสมควร ยางงัดสะดวกกว่าในสภาพการใช้งานทั่วไป
ยังไม่นับเรื่องราคาของยางฮาล์ฟที่มักจะสูงกว่ายางในของยางงัด ดังนั้นคงต้องพิจารณาทั้งการใช้งาน เส้นทางที่ปั่น และงบประมาณของแต่ละท่านเป็นสำคัญ

ความกว้างของขอบล้อ
ขอบล้อแอโร่ในปัจจุบันจะมีความกว้างมากขึ้น หรือเรียกกันว่า “ล้อขอบอ้วน” เนื่องจากการศึกษาพบว่าขอบที่อ้วนขึ้น ลดช่องว่างของขอบกับตัวยาง ช่วยให้ความ aerodynamics เพิ่มมากขึ้น และสามารถใส่ยางได้หน้ากว้างขึ้น ซึ่งส่งผลดีเรื่องความสบาย ลดแรงสะเทือนเวลาปั่นได้ดีกว่า

การเลือกดุม
อาจไม่ใช่สิ่งที่เรามองเป็นลำดับแรกๆ แต่การเลือกชนิดของดุมให้เหมาะสมก็จะช่วยให้การเลือกล้อทำได้ง่ายขึ้น ล้อบางชุดมาพร้อมกับดุมที่มีระบบลูกปืนเซรามิคส์ซึ่งมีความกลมมากกว่า ทำให้การวิ่งของล้อลื่นขึ้น แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างงบประมาณและความต่างที่ได้มาก ซึ่งแต่ละคนมีความคุ้มค่าในใจไม่เท่ากันครับ รวมถึงอย่าลืมเลือกโม่ที่รองรับเฟืองให้เหมาะสมกับชุดขับเคลื่อนด้วยนะครับ

ล้อไหนเหมาะกับใคร?
นักปั่นแนวทัวริ่งหรือระยะทางไกล
ล้อขอบต่ำยางงัดปกติจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุด ความเร็วที่ใช้ในการเดินทางไม่ได้สูงมากจนความได้เปรียบทางอากาศส่งผลชัดเจน เทียบกับงบประมาณที่ต้องลงทุนไป สำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาและความทนทานที่มากกว่า ในการเดินทางไกล ปัญหาจุกจิกด้านเทคนิคเป็นสิ่งที่ทำให้ทริปนั้นไม่สนุก

นักปั่นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ล้อ mid section ยางฮาล์ฟ หรือยางงัด เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน น้ำหนักของล้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้งานได้ทั่วทุกเส้นทาง และนักปั่นได้รับความสนุกจากการได้ขี่ล้อแอโร่%ในขณะที่หากนำล้อ deep profile มาใช้อาจต้องรับกับน้ำหนักที่มากขึ้น ส่งผลกับการใช้งานบนเส้นทางเขาหรือการเร่งความเร็วบ่อยๆ หากจะใช้ deep section ก็คงต้องมองไปที่ยางฮาล์ฟเป็นหลัก แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมของเส้นทางและการขี่ด้วย

นักปั่นขาแรง นักแข่ง นิยมร่วมการแข่งขัน
คงไม่สามารถระบุได้ว่าล้อแบบไหนจะเหมาะกับนักแข่ง เพราะต้องพิจารณาทั้งเส้นทางการแข่ง และรูปแบบแผนการปั่นของการแข่งในแต่ละครั้งด้วย แต่นักแข่งส่วนมากจะมีล้อมากกว่า 1 ชุด อาจมีล้อที่ใช้ขี่ทั่วไปหนึ่งชุด และล้อแอโร่ฯยางฮาล์ฟสำหรับการแข่งขันอีก 1 ชุด ซึ่งแต่ละคนจะเลือกความสูงที่เหมาะสมกับตนเองเป็นหลัก บางคนก็มีล้อให้สลับเลือกได้ 3-4 ชุดตามแต่เส้นทางของการแข่งขันต่างๆ ยิ่งนักแข่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถเลือกล้อได้ตรงกับสถานการณ์ของสนามต่างๆง่ายขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่านักแข่งใช้ได้ดี แล้วคนอื่นๆจะเลือกมาใช้ได้ดีบ้าง ดังนั้นการเลือกล้อเลียนแบบคนอื่นจึงไม่ใช่ทางออกที่ดี

สุดท้ายก็คงไม่พ้น “รู้เขา รู้เรา” รู้จักเลือกสิ่งที่เหมาะกับตนเอง HUBเชื่อว่าใครที่อ่านและทำความเข้าใจบทความจะมีคำตอบและการเลือกล้อที่”ถูกใจ”ได้อย่างไม่ยาก หรือแม้แต่รู้จักวิธีการปรับตัวเข้าหาล้อแบบต่างๆ กับสถานการณ์ต่างๆเพื่อให้ได้ผลการปั่นที่ดีที่สุด

Tag :: Bicycle
March 12, 2018 cyclinghub 0 Comment