เมื่อมีข่าวว่า Campagnolo ออกชุดขับเคลื่อน 12 เฟืองออกมา และข่าวลือว่าทั้ง Shimano กับ Sram ก็น่าจะมีการเตรียมขยับตามในอีกไม่นานมานี้ ทำให้กระแสของ”เฟืองโหล” กำลังถูกพูดถึงกันไม่น้อยจากสังคมคนปั่นจักรยาน ที่ส่วนมากลงความเห็นตรงกันว่า “จะเพิ่มไปทำไม” เพราะส่วนมากใช้เฟือง 11 หรือแม้แต่ 10 อยู่ ก็ร฿้สึกว่ามันก็มากเกินจำเป็น ที่มีอยู่ก็ใช้ไม่หมดเสียแล้ว การมีมาเพิ่มก็เป็นแค่ลูกเล่นให้คนเสียเงินกันต่อไป ของเก่าจะได้ตกรุ่น ใช้งานกันต่อไปยาก หาอะไหล่ยาก และต้องตัดใจซื้อใหม่ เป็นรายได้ของผู้ผลิตกันต่อไปไม่รู็จักจบสิ้น บ้างก็ต่อต้านกันหัวเหวี่ยงว่า 12 คือความมากเกินจำเป็น แต่วันนี้ลองมาดูกันว่า อะไรคือสาเหตุที่้ทำให้เราต้องมีเกียร์มากๆสำหรับการปั่นจักรยาน และใคร จะได้ ใครจะเสีย หากมีเกียร์มากขึ้น

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า เกียร์จักรยานคืออะไร … เกียร์จักรยานไม่ใช่เกียร์รถยนต์ ที่เราต้องไล่ระดับเกียร์ใช้ไปตั้งแต่เบาจนหนักเพื่อวิ่งไปข้างหน้า แต่มันคือการทดแรง ทดกำลัง ให้เราสามารถควงขาต่อไปได้เหมือนเดิม ออกแรงได้เท่าเดิม ในแรงต้านที่มากขึ้นหรือน้อยลง เพื่อรักษาการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเอาไว้ กล่าวคือ เมื่อมีแรงต้านมาก ไม่ว่าจากถนนขรุขร ทางเนินชัน หรือลมแรง เกียร์ทดที่เบาลง ช่วยให้เราสามารถออกแรงไปได้ด้วยความหนักเท่าเดิม และยังควงขาได้เหมือนเดิม เช่น รอบขายังคงอยู๋ที่ 90 รอบต่อนาที ในขณะที่ออกแรงกดเหมือนเดิม รถเคลื่อนที่ไปช้าลงก็จริง แต่ความต่อเนื่องยังคงอยู่ ในทางกลับกันหากไม่มีเกียร์ทดแรง เพื่อให้ได้แรงกดเท่าเดิม เราก็ต้องลดรอบขาลง อาจจะเหลือเพียง 50 รอบต่อนาที ซึ่งทำให้การปั่นรู้สึกไม่ต่อนเื่อง หรือถ้าดื้อจะควงขาเร็วเหมือนเดิม ก็จะเพิ่มแรงกดลงไปไม่รู้ตัว

ในอีกทางหนึ่งหากลมส่ง หรือลงเนิน อัตราทดที่หนักขึ้นก็ช่วยให้คุณทำความเร็วได้มากขึ้นในการออกแรงเท่าเดิม หรือควงขาเท่าเดิม และในบั้นปลายมันคือการไต่ไปหาความเร็วของจักรยานที่มากขึ้นแทนที่จะซอยขาถี่ยิบแตะสองร้อยรอบต่อนาทีเพื่อให้ได้ความเร็ว 60 กม./ชม. ซึ่งจากความจริงนี้ ข้อแรกเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า เกียร์จักรยานที่มีกัน 20 เกียร์ให้เลือกใช้ เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้จนหมด ถ้าคุณไม่ได้เจอทางชันมากๆจนต้องทดเกียร์ช่วย บางทีอาจไม่ได้ใช้เกียร์เบาสุดๆเลย ในทางกลับกัน หากไม่ได้ขี่เร็วซิ่งระเบิดอะไร ก็แทบไม่ได้ใช้เกียร์หนักๆเลยเช่นกัน เพียงแต่มันต้องมีเอาไว้ เพราะการมีแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่า ตอนจะใช้แล้วไม่มีเฟืองทดเหลือให้เข้าจริงไหมครับ??

 

ด้วยเหตุนี้เอง อัตราทดเกียร์ที่หนักที่สุดและเบาที่สุดของจักรยาน แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยนับตั้งแต่ยุค 9 เฟืองมาจนปัจจุบัน  เฟืองหนักที่สุดก็ยังคงเป็นเฟือง 11 ฟัน กับจานหน้า 53 ฟัน หรือได้ค่าสัดส่วนที่ 4.82 ในขณะที่เกียร์ทดเบาสุดจากเดิมเป็นเฟือง 25 ฟัน กับจานหน้า 39 ฟันได้อัตราทดที่ 1.56 ซึ่งในปัจจุบันเฟืองมาตรฐานที่ 28 ฟัน ให้อัตราทดที่ 1.39 ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกันมากมายในในการใช้งานทั่วไป ดังนั้นอะไรคือปัจัยหลักของการเพิ่มเฟือง?? นี่คือคำถามที่หายคนอาจยังไม่ทราบที่มาของมัน และรู้สึกต่อต้านการเพิ่มจำนวนเฟืองหรือเกียร์เข้าไป

 

เฟืองเรียง ขี่ง่าย รักษาการปั่นได้เรียบกว่า

ข้อแรกนี้เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่หลายท่านอาจไม่ทราบได้ แต่ การมีเฟืองเรียงช่วยให้นักปั่นปั่นได้ดีกว่า ย้อนกลับไปยุคสมัย 9 เฟืองนั้น นักปั่นส่วนมากจะมีเฟือง 2 ชุดขึ้นไปเอาไว้สลับเปลี่ยนวันปั่นทางราบกับขึ้นเขา เพราะในวันปกติ พวกเขานิยมใช้เฟือง 11-21 มากกว่าที่จะใช้ 11-25 ที่เก็บเอาไว้ไปไต่เขา เพราะเฟือง 11-21 มีการเรียงของจำนวนฟันมากกว่า ไล่รอบขาทำความเร็วและทดตามสภาพการต่างๆได้ดีกว่าเฟืองไต่เขาที่มีช่วงกระโดดของฟันที่กว้างขึ้น การไล่รอบขาทำได้ไม่ราบเรียบเท่า  เฟืองยิ่งมาก ยิ่งเรียงฟันกันได้ จนในยุค 11 เฟือง เราได้เห็นเฟือง 11-21 ที่เรียงฟันได้ต่อเนื่องมากๆ การไล่ระดับเกียร์ทำได้ราบเรียบราวกับฝันไป ซึ่งข้อนี้จะเชื่อมโยงไปหาข้อต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

 

เฟืองเยอะขึ้น ช่วยให้ใส่เฟืองใหญ่ขึ้นได้ง่ายกว่า

ข้อนี้ แม้ว่าปัจจัยสำคัญของการใช้เฟืองที่ใหญ่ขึ้นจะมาจากตีนผีเป็นหลัก แต่ในการใช้งานทั่วไป สืบเนื่องจากข้อด้านบน การที่มีเฟืองมากขึ้น ช่วยให้การออกแบบชุดเฟือง ใช้เฟืองใหญ่ จำนวนฟันมากขึ้น เพื่อช่วยทดแรงได้เบากว่าเดิม ในสมัยก่อน ยุค 9 หรือ 10 เฟือง การใช้เฟือง 27 หรือ 28 ฟัน นั้นแปลว่า ชุดเฟืองหลัง 3 ใบใหญ่สุด คุณจะเจอกับการกระโดดของจำนวนฟันอย่างมาก การปั่นทำได้ไม่ราบเรียบ และการทดแรงบนเขาก็ไม่ได้จะดีไปเสียตลอด ซึ่งในยุคที่เป็น 11 เฟือง นักปั่นสามารถใช้เฟืองใหญ่สุด 28 ฟันได้อย่างสบายๆ การกระโดดของฟันทำได้ดีขึ้นมากนั่นเอง แปลง่ายๆก็คือ เฟืองมันมากขึ้น ก็เอามาสลับใส่ช่องว่างไล่จำนวนฟันได้ง่ายขึ้นนั่นแหละครับ

 

ทั้งสองข้อนี้ เป็นสิ่งที่จักรยานถนน หรือเสือหมอบ แตกต่างจากเสือภูเขาอย่างชัดเจน เพราะเสือภูเขาจะมีกี่เฟืองก็เถอะ ใบใหญ่ก็มี 30 ไปจน 40 กว่าฟันมานานแล้ว นั่นก็เพราะ พวกเสือภูเขาไม่ได้ต้องการการปั่นที่อัตราทดเรียงกันแบบเสือหมอบ การออกแรงเดินทางไปในป่าที่มีเนินชันสั้นๆสลับกันไปมา ต้องการการปั่นที่แตกต่างจากการปั่นบนถนน ถึงแม้จะมีแรงลมหรือทางเนินชันแบบภูเขา แต่ถนนก็ยังคงเป็นถนน ที่ตอ้งการความต่อเนื่องในการออกแรงควงขามาก่อน เพื่อรักษากล้ามเนื้อและระบบการทำงานของร่างกายเอาไว้ให้ได้ดีที่สุด

 

จากปัจจุยที่สอง ก็จะต่อยอดไปยังผลพลอยได้ของการมีเฟืองทีเ่รียงและจำนวนมากขึ้นอีก 2 ประการเพื่อตอบสนองการใช้งานเฉพาะทางได้อีก นั่นคือ เราสามารถใช้จานหน้าใบเดียว กับการทดแรงจักรยานได้เพียงพอ ด้วบจำนวนเฟืองหลังที่มากขึ้น เช่นในกรณีเฟืองหัลง 13 เฟือง กับจานหน้าใบเดียว คุณจะมีเกียร์ทดแรงให้ใช้ได้พอๆกับการมีจานหน้าสองใบและเฟืองหลัง 8 ชั้นเลย อย่างงนะครับ อย่าลืมว่าในชุดขับเคลื่อนปกติ มีเกียร์ต้องห้ามอยู่ 2 ตำแหน่งที่โซ่จะเบื้องมากจนเกินไป แต่สำหรับจานหน้าใบเดียว โซ่จะไม่เยื้องตัวมากขนาดนั้น ทำให้สามารถใช้เกียร์ที่มีได้ทุกอัตราทด ดังนั้น อัตราทด 16 แบบจากเฟือง 8 และจานหน้า 2 ใบ ใช้งานได้จริงๆแค่ 14 เทียบกับเฟือง 13 กับจานหน้าใบเดียว ถือว่่าคล่องตัวกว่ากันอย่างมาก ข้อนี้คงเกิดขึ้นจริงใช้งานจริงไม่ได้หากไม่มีเฟืองหลังมากพอ

ทีนี้…ข้อดีของการมีจานหน้าใบเดียวคืออะไรบ้าง ลองดูกันข้างล่างแบบเร็วๆสั้นๆกันเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น และอย่าแปลกใจครับว่าในอนาคตเมื่อเฟืองมีมากขึ้น เราจะได้เห็นจักรยานจานหน้าใบเดียวออกมาใช้งานหลากหลายยิ่งกว่าเดิม รวมถึง ได้เห็นนักแข่งใช้กันในสนามแข่งอย่างแน่นอน

น้ำหนักเบาลงกว่าเดิม

จานที่หายไปหนึ่งใบกับสับจาน ลดน้ำหนักรถลงไปได้อีก น้ำหนักลดลงก็ทำให้ออกแบบจุดเด่นแบบอื่นมาช่วยได้อีกมาก

โอกาสเกิดปัญหาทางกลไกน้อยลง

ก็ลดปัญหาเรื่องโซ่ตก โซ่กระโดด ไปได้อย่างสิ้นเชิง เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องไปยุ่งกับการสับจานหน้า ที่เหลือก็เป็นเรื่องโซ่กระโดดในทางขรุขระเท่านั้น

แอโร่ฯมากขึ้นกว่าเดิม

ข้อนี้เป็นการทดสอบมาแล้ว และเราได้เห็นในการแข่งขันแล้วว่าจานนห้าใบเดียว ช่วยลดกำลังที่ออกแรงในแง่ของแอโรไดนามิคส์ได้อย่างชัดเจน

การดูแลรักษาที่เรียบง่ายมากขึ้น

ระบบต่างๆทำงานได้อย่างเรียบง่ายมากขึ้น ต้องการการดูแลรักษาและการประกอบที่ง่ายกว่าเดิม

 

ดังนั้นในจักรยานหลายๆชนิดเราเริ่มเห็นพวกเขาใช้จานหน้าใบเดียวกันแล้ว ทั้งจักรยานในเมือง ไปจนถึงจักรยานแข่งขันระดับอาชีพก็ใช้จานหน้าใบเดียว ทั้งเพื่อความแอโร่ฯ และลดน้ำหนักเพื่อใช้ในทางภูเขา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีจำนวนเฟืองหลังที่มากขึ้น จนเพียงพอสำหรับอัตราทดที่ต้องการใช้งาน

สุดท้ายนี้ ต้องอยู่ที่แต่ละท่านจะมองในเรื่องนี้ครับ มากหรือน้อย ต้องการหรือไม่ต้องการ จะทดช่วยหรือเรียงต่อเนื่อง ดีแค่ไหน ของแต่ละคนไม่เท่ากัน นี่คือสัจธรรมที่โลกของการอกแบบจะวิ่งต่อไป เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้น ทว่าเราซึ่งเป็นผู้บริโภค อาจไม่จำเป็นต้องวิ่งตามมันติดๆเสมอไป หลายๆท่านอาจยังคงปั่นจักรยาน 6 เฟืองได้อย่างไม่ต้องรู้สึกต้องการอะไรเพิ่ม แต่สำหรับบางคนต่อให้มี 15 เฟืองก็ยังมองหาสิ่งที่ดีกว่าได้เสมอ ดังนั้น สุขที่พอดีของแต่ละคนไม่เท่ากันหรอกครับ ไม่มีใครผิด หรือถูก

July 14, 2018 cyclinghub 0 Comment