การจะสร้างแรงจูงใจ ให้สามารถไปปั่นจักรยานได้ตามที่ฝัน มันไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักกีฬาขาแรงชั้นนำ ที่มีตารางแข่งขัน ศักดิ์ศรีและความสะใจรอคอยอยู่ในรูปแบบของเกมส์กีฬา แต่สำหรับนักปั่นออกกำลังกายทั่วงไป จักรยานดูเหมือนจะเข้าถึงได้ยากและขาดซึ่งแรงบันดาลใจให้สร้างเป้าหมายต่อยอดกันได้ง่ายๆ ต่างจากงานวิ่ง ที่มีไล่กันตั้งแต่ระยะ 5 กิโลเมตร ไปจนถึงระยะผิดมนุษย์ ยอดคนทนสุดขีด 100 กิโลเมตรก็มีวิ่งกัน ยังไม่นับวิ่งในป่า วิ่งริมทะเลอีก สำหรับจักรยาน ทริปต่างๆก็มักจะมีระยะทางตั้งต้นกันตั้งแต่ 60-70 กิโลเมตรเป็นต้นไป ดังนั้นการจะเข้าถึงการปั่นจักรยานได้ คุณต้องสามารถปั่นจักรยานต่อเนื่องได้เป็นเวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไปเป็นอย่างน้อย และนั่นเองที่ทำให้ นักปั่นรักสุขภาพอีกหลายๆคน เบื่อและโบกมือลาจักรยานไปอย่างช่วยไม่ได้

 

เพราะเมื่อไปออกทริปแต่ละครั้ง ก็กรอบเกินกำลังจะก้าวไป พอปั่น 60-70 กิโลเมตรได้ อยากจะหาเป้าหมายต่อไปก็ยาวไกลไประยะทะลุร้อยกันไปแล้ว มองแล้วมันช่างหดหู่เสียนี่กระไร เอาเป็นว่าหันไปวิ่งแ้วกัน ของก็น้อย เรือ่งก็ไม่เยอะ แถมวันนี้ สัปดาห์นี้ไม่พร้อม ไประยะ 10 กิโลเมตรไม่ได้ ก็ยังมีระยะ 5 กิโลเมตร “ฟันรัน” ให้เลือกเล่น ช่วงนี้มาดีเตรียมความพร้อมได้มาก ก็ไปแตะระยะ”ฮาล์ฟ” กันได้ ก่อนจะมุ่งสู่การเป็น”มาราธอน” ในที่สุด

แถมระบบการซ้อมก็ดูพัฒนาการได้ไม่ยากนัก เพราะนักวิ่งใช้”เพซ”(pace) เป็นตัวบอกความสามารถและควบคุมความเข้มในการฝึก ซึ่งที่มาของมันแปรตรงกับการทำเวลาได้ของการวิ่งเลย ดังนั้น ถ้าเพซลดลงได้ ก็เท่ากับว่าวิ่งได้เร็ว หรือการฝึกที่เพซต่างๆในระยะเวลาต่างๆก็ฌห็นผลได้ชัดเจน ส่วนจักรยานน่ะหรือ หัวใจ วัตต์ ความชัน สารพัดตัวแปรที่ทำให้เราปวดหัว นี่ตกลงตัวข้านั้นปั่นได้ดีขึ้นหรือเป็นเพราะเทวดาบันดาลให้วันนี้มีแรงกันแน่ แทบจะบอกอะไรไม่ได้เลย

นี่คือความยุ่งเหยิง ที่วันนี้เราขอเล่าอะไรเล็กๆย้อนกลับไปสู่เบสิคกันสักหน่อย

 

จักรยานนั้นคือพาหนะที่ทำให้เราไปได้เร็วขึ้น และเป็นสิ่งแรำๆที่ทำให้มวลมนุษย์รู้สึกถึงความเร็วและสนุกสนานเร้าใจไปกับมัน ดังนั้น การใช้ความเร็วและเวลา ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กันเสมอ เพียงแต่อะไรคือตัววัดที่ชัดเจนที่สุดของความเร็วนั้น ในเมื่อแต่ละวัน แต่ละฤดูกาล อากาศและทิศทางลมก็แตกต่างกันซึ่งมันส่งผลกับผลที่ได้อย่างมากมาย อย่างที่เรารู้กัน จนกีฬานี้ต้องสร้างเคตื่องมือวัดมามากมายให้สามารถวัดค่า ประเมินค่าได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นเบสิคก็คือ “เวลาระหว่างจุด A ไป B สามารถบ่งบอกได้” และนี่คือความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียว แน่นอนว่ามันมีตัวแปรภายนอกมากมายที่เกี่ยวข้อง แต่หากคุณไม่ได้จะเอาตัวเลขไปวิเคราะห์ผลวิจัยทดสอบหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ รับรองว่าการเปรียบเทียบค่าแบบนี้ ช่วยให้ปั่นจักรยานได้สนุกมากขึ้น

 

เพียงคุณกำหนดสถานที่เดิมๆ ซ้ำๆ ระยะจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง และใช้เวลาในการผ่านมันไปได้เป็นตัวตั้ง คุณก็จะสร้างแรงบันดาลใจกับการปั่นได้อย่างง่ายด่าย ชาวกรุงก็จะคุ้นชินกับระบบของสนามปั่นเจริญสุขมงคลจิตฯ ที่เราใช้เวลาในการจบ 1 รอบคอยบอกความนัยอะไรบางอย่าง อันที่จริงมันสามารถบอกได้ในทุกๆรูปแบบเช่น เนินประจำแถวบ้าน ช่วงทางตรงเลาะคันนา ถนนสายเงียบที่ไม่มีรถยาวๆหลายกิโลเมตร แม้แต่ ช่วงทางคดเคี้ยว ที่เราใช้ฝึกเทคนิคเข้าโค้ง ก็สามารถบอกได้ หากเราคอยจับเวลาที่เราใช้ในการปั่นช่วงต่างๆเหล่านั้น ยิ่งคุณแบ่งแต่ละช่วงละเอียดเท่าไหร่ ก็จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราตั้งเป้าหมายในการปั่นได้มากยิ่งขึ้น

วันนี้คุณอาจจะปั่นทั้งเส้นทางได้เร็วกว่าเดิม 3 นาที แต่เมื่อจับระยะต่างๆพบว่า ที่ทางตรงยาว 300 เมตรที่เคยระเบิดพลังใส่ทุกครั้ง วันนี้กลับปั่นช้ากว่าสัปดาห์ก่อนไป 2 วินาที คุณก็จะเริ่มตั้งเป้าหมายมาเป็นเกมส์บอกับตัวเองได้แล้ว และจากระยะเล็กๆเหล่านี้นี่เอง ที่ช่วยให้คุณสามารถไต่ระยะการออกทริป หรือเล่นเกมส์วัดใจให้สามารถไปทริปได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปตรากตรำหาเครื่องมือมาซ้อมให้มันเรื่องมาก ยุ่งยาก นี่คือ DNA พื้นฐานที่สุดที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยของจักรยาน วิทยาการจะรุดหน้าไปเท่าใด แต่สุดท้าย หัวใจของมันก็คือสิ่งนี้นั่นเอง ซึ่งหากนำไปเทียบกับวิทยาศาสตร์การกีฬา จริงๆมันก็เรื่องเดียวกัน เพียงแต่วัดและประเมินผลได้ยากกว่า ซึ่งอย่างไรก็ตาม นี่คือเทคนิคสร้างแรงจูงใจสำหรับนักปั่นทั่วไป แน่นอนหากใครกำลังเถียงว่า ต้องไปหาเครื่องมือมาวัดจึงจะแม่นยำที่สุด ก็ถ้าคุณมีใจรักพอจะหาเครื่องมือมาวัด มาซ้อมได้ คุณก็คงไม่เข้าข่ายในกรอบที่กำลังพูดถึงอยู่แล้วล่ะ

 

ผมมีเรื่องเล่นๆมาเล่าให้ฟัง ในหนังสืออัตชีวประวัติของชายผู้สร้างการแข่งจักรยาน ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ มร.อองรี เดอกรอนจ์  ผู้รักในเรื่องของกีฬาความเร็ว ช่วงบั้นปลายก่อนจะเสียชีวิตในวัย 75 ปีไม่นานนัก เขาต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเลานาน และสิ่งหนึ่งที่เขาทำทุกวันก็คือ การเดินจากมุมห้องด้านหนึ่งไปยังมุมห้องอีกด้านหนึ่ง ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา เช้าวันหนึ่ง บั้นปลายก่อนสิ้นลมหายใจเพียงไม่กี่วัน เขานอนอยู่บนเตียงของโรงพยาบาล และเอ่ยปากพูดกับมิตรสหายที่มาเยี่ยมไข้ด้วยความห่วงใยอาลัยรักว่า

“เมื่อเช้านี้ ผมเดินได้เร็วกว่าเดิมเกือบ 2 วินาทีเชียวนะ”

ก่อนที่น้ำตาของมวลมิตร ญาติสนิทจะเอ่อล้นออกมาด้วยความประหลาดใจ มร.อองรี ได้พูดต่อไปว่า

“มนุษย์เรา ไม่เคยหยุดที่จะแข่งขันอะไรสักอย่าง แม้ว่าผมจะใกล้ได้เวลาหลับไหลไปชั่วนิรันดร์ แต่หากผมลืมตาตื่นมาที่ใดก็ตาม ผมก็จะแข่งขันกับเวลาและตัวเองอยู่แบบนี้เรื่อยไป”

 

October 25, 2018 cyclinghub 0 Comment