แอนนา ไคเซนโฮเฟอร์ ชื่อนี้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงเวลาข้ามวันที่ผ่านมา กับความสามารถของด็อกเตอร์สาวนักคณิตศาสตร์ และเหรียญทองของเธอ ในฐานะของ”นักปั่นสมัครเล่น” ที่ทำให้หลายๆ คน พูดกันไปต่างๆ ซึ่งในวันนี้ เราจะมาเล่าให้ฟังกันว่า อะไรคือ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครับ

การคัดเลือก

ระเบียบการคัดเลือกของจักรยานนั้น ไม่ได้คัดเลือกตัวนักกีฬาคนไหน แบบไหน อย่างไร ไม่มีคุณสมบัติของตัวนักกีฬาแต่อย่างใด แต่ สิทธินี้ ให้กับประเทศที่สามารถสะสมคะแนนของ UCI Point ได้ตามลำดับและกฏเกณฑ์ของ UCI ในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะได้ผลออกมาเป็น จำนวนตั๋วเข้าร่วมที่ประเทศนั้นๆ จะได้รับในการเข้าร่วม แต้มเหล่านั้น จะได้จาก นักปั่นในรายการ UCI  ต่างๆ ในประเภทเสือหมอบ ชาย หรือ หญิง (ชายก็เก็บแต้มให้ประเทศในรุ่นชาย หญิงก็เก็บแต้มประเทศในรุ่นหญิง) ดังนั้น ถ้าจะแปลให้ชัดๆนะครับ มันคือการ “ช่วยกัน” สะสมแต้มของนักปั่นสัญชาตินั้นๆ จะอยู่กับทีมไหน อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่ได้แต้ม จะมีส่วนช่วยให้ประเทศของตน มีโอกาสลุ้นที่นั่งไปร่วมโอลิมปิคมากขึ้นไปด้วย

 

เมื่อได้ที่นั่งแล้ว ทำอย่างไรต่อ

เมื่อประเทศใดๆ ได้จำนวนตั๋วเข้าร่วมมาแล้ว จะเป็นกี่ที่ก็ตาม เป็นหน้าที่ของตัวแทนประเทศนั้นทำการเลือกส่งนักกีฬาเข้าร่วมตามจำนวนดังกล่าว โดยที่จะเป็น “ใครก็ได้”  ไม่จำเป็นต้องเป็นคนนั้นที่ได้แต้มมา ไม่จำเป็นต้องเป็นโปร ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดัง ทีมดัง หรือสังกัดทีมใหญ่ก็ได้ แปลง่ายๆ ก็คือ เมื่อสะสมแต้มกันมาแล้ว ได้ที่นั่งก็จบกันไป จะเป็นใครได้ไปก็เป็นอีกเรื่อง อยู่ที่ตัวแทน (สมาคมกีฬาจักรยานของประเทศต่างๆ) นั่นเอง ซึ่งข้อนี้ มีจุดดีคือ แต่ละประเทศสามารถจัดตัวนักกีฬาได้เหมาะสมกับการแข่งขันในแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ประเทศ มักให้ความสำคัญกัยสิทธิของตัวนักปั่นเอง เนื่องจาก ในการสะสมแต้มเพื่อให้ได้สิทธิมา นอกจากแต้มรวมกันแล้ว ยังมี แต้มส่วนตัวของนักกีฬาในอันดับแรกๆ ของตาราง UCI Points ยกตัวอย่างเช่น นายตู่ สู้เจ็ดปี สามารถสะสมแต้มจากการร่วมโปรทีมแข่งของตนเองทำอันดับต้นๆ ของตารางและทำให้ประเทศได้สิทธิร่วมมาเลย ส่วนมากแล้ว ก็จะส่ง “นายตู่” นี่แหละครับไปลงแข่ง เพราะก็ถือว่า เขาคือคนที่ทำตั๋วใบนั้นมาได้เอง และป้องกันดราม่าในหลายๆ กรณีที่เกิดมาแล้วในหลายประเทศ ซึ่ง เมื่อได้ที่นั่งมาแล้ว ทางประเทศ ตัดสินใจส่งคนอื่นไปแทน “นายตู่” นายตู่ก็เคืองสิครับ ก็ทำเต็มที่มาแล้วขนาดนี้ ยังจะมาไล่กันอย่างนี้ ปั๊ดโถ่!

 

ดร.แอนนา เป็นสมัครเล่น หรือเป็นโปร

แอนนา เธอ เป็นนักปั่นระดับชั้นนำของออสเตรียอย่างไม่ต้องสงสัยครับ ด้วยดีกรีแชมป์ประเทศของเธอเอง และเธอได้มีสัญญาร่วมทีมกับทีมใหญ่อย่าง ล็อตโค-ซูดาล มาแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ใช่ตัวสำคัญของทีม และไม่ได้มีสัญญาต่อมาในภายหลัง แต่ก็ต้องเรียกว่า ในทางนิตินัย เธอคือนักปั่นสมัครเล่นแน่นอน แต่ ในทางพฤตินัย เธอคือนักปั่นในระดับ “อีลีท” ของประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับโปรนักปั่นยุโรปนั่นเอง

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ แชมป์ประเทศในหลายๆ ประเทศ ก็เป็นนักปั่นสมัครเล่น ที่ไม่มีทีมโปรสังกัดมา เช่น ผู้ดำเนินรายการของ GCN แม็ท สตีเฟ่น ก็เคยเป็นแชมป์สหราชอาณาจักร โดยที่เขาไม่ได้อยู่ในโปรทีมใดๆ เป็นนักปั่นสมัครเล่น ทำงานประจำเต็มตัว

จากอดีตสมาชิกทีม ล็อตโต-ซูดาล ที่ไม่ได้ต่อสัญญาด้วยการบาดเจ็บ แต่เธอผ่านเวทีระดับนานาชาติมาแล้ว ไปถึงระดับรายการชิงแชมป์โลก และปัจจุบัน เธออยู่กับสโมสร ทีมคุกีน่า-แกรซ  ทีมหญิงชั้นนำของออสเตรีย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตอนท้าย)

 

“อีลีท” คืออะไร

ในการแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติ ที่มีแต้ม UCI Points  นักปั่นในรุ่นสูงสุด จะเรียกว่า “อีลีท” (Elite) ไม่ว่าจะเป็นทีมโปร ทีมชาติ ทีมคลับ ทีมอะไรก็ตามที่มาเข้าร่วม บ้านเราอาจเรียกกันง่ายๆว่า “รุ่นโอเพ่น” หรือ “รุ่นทั่วไป” นั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเข้าไปเก็บแต้มของ UCI Points สามารถเข้าไปร่วมได้ทั้งในฐานะทีมสมัครเล่น ทีมชาติ และ ทีมอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ในการจัดระดับของสนามแข่งขัน UCI ก็จะระเบียบข้อบังคับของทีมที่เข้าร่วมได้เอาไว้ชัดเจนว่าระดับไหน ทีมสมัครเล่นเข้าร่วมได้บ้าง ระดับไหน ต้องเป็นโปรเท่านั้น แต่แต้มที่ได้มาทั้งหมด จากนักปั่นสัญชาตินั้นๆ ก็จะนำไปรวมเป็นแต้มของประเทศ ดังข้อแรกที่เรามาอธิบายกันนี้เอง

 

ใครๆ ก็ไปโอลิมปิคได้สินะ

จากบทความหลายๆ ช่องทางโซเชียล เขียนว่า เธอไปร่วมรายการนี้แบบโนเนม แบบไม่มีใครส่งไป ไม่มีคนดูแล ไม่มีโค้ช ไม่มีอะไรเลย และ ตามหลักการแล้วตอบว่าใช่ครับ กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติสร้างระเบียบข้อบังคับนี้มาเพื่อให้ทุกคนในโลกมีสิทธิในการเข้าร่วมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องเป็นโปร เป็นมืออาชีพ เพราะเขาถือว่า ในเกมส์กีฬาของนานาประเทศที่แตกต่าง ไม่ควรเอาชื่อชั้นของนักกีฬามาเป็นตัวคัดเลือก

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สิทธิในการคัดเลือกและส่งชื่อเข้าร่วมเป็นของตัวแทนของประเทศนั้นๆ ดังนั้น เมื่อได้ที่นั่งมาแล้ว การจัดการ วางแผน ตัดสินใจส่งชื่อ ก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรประเทศนั้นๆ รับไปครับ แน่นอนว่า ผมมั่นใจเลยว่า ดร.แอนนา เธอได้มาเพราะเธอคือแชมป์ประเทศในปีก่อน แถม มีฝีเท้าที่เป็นที่รู้กันดีในบ้านเขาอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ใช่ว่า แม่นักคณิตศาสตร์สาว เดินมาสมัครที่โตเกียว กรอกเอกสารแล้วได้เข้าร่วมอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ

 

นี่เป็นเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่อธิบายให้ฟังกันง่ายๆ นะครับ ยังมีข้อปลีกย่อยไปอีกเยอะมากๆ เรื่องของการจัดอันดับแต้ม การวางช็อตสอง ช็อตสาม ของสิทธิที่ได้เข้าร่วม และข้อกำหนดพิเศษอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บทความนี้เพียงอยากให้เข้าใจถึงกระบวนการที่มาถึงจุดนี้ของเธอ และประเทศออสเตรีย ที่รับรองได้ว่า ไม่ใช่เรื่องสวยหรูพรมแดง แบบมือสมัครเล่นมากระชากเหรียญไปจากเหล่านักปั่นอาชีพ ดั่งเช่นหนังแนวกีฬาดราม่าแอ็คชั่นพล็อตสุดเฟี้ยว …. อย่างแน่นอน

 

ส่วนเพิ่มเติม

ประเทศออสเตรีย เป็นประเทศที่กีฬาจักรยานไม่ใช่กีฬาเด่นนัก ทำให้โครงสร้างทีมของประเทศ ไม่มีทีมระดับอาชีพชั้นสูง ทีมชายมีทีมหลักเป็นทีมในระดับคอนติเน็นตัล (ดิวิชั่นสาม) และ ทีมหญิงมีทีมในระดับสโมสรที่ไม่ได้จดทะเบียนกับทาง UCI ซึ่งก็คือทีมระดับ “คลับ” หรือเรียกกันติดปากว่าทีมสมัครเล่น อันที่จริงแล้ว โครงสร้างแบบนี้คล้ายกับในประเทศไทยพอสมควร เนื่องจาก ในประเทศไทย ทีมสโมสรต่างๆ ทั้ง กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นทีมระดับสมัครเล่นทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนกับทาง UCI แต่ในทางปฏิบัติแล้ว นักกีฬาในทีม ถือว่ามีอาชีพแข่งจักรยานเป็นส่วนใหญ่ โครงสร้างแบบนี้ มีในหลายๆประเทศไม่เพียงออสเตรียเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม โดยนักปั่นระดับคลาสสูงสุดของสมัครเล่น ส่วนมาก มักอยู่กับคลับที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง มีระบบผู้สนับสนุนที่ดี นักกีฬา มีสปอนเซอร์และมีรายได้เกี่ยวเนื่องกับการขี่จักรยาน ก่อนจะก้าวขึ้นสู่การได้สัญญากับทีมระดับอาชีพที่จดทะเบียนกับ UCI เอาไว้ในขั้นต่อไป

July 26, 2021 cyclinghub 0 Comment