“ปั่นทน” หรือนิยามของ ultra endurance cycling ที่ผมตั้งขึ้นมาเอง เป็นกิจกรรมจักรยานที่ได้รับการตอบรับดีอย่างไม่น่าเชื่อในบ้านเรา มีการเติบโตสูงและได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยปกติแล้วการ”ปั่นทน” แตกต่างจากกีฬาจักรยานที่ระบุอยู่ในรูปแบบการดูแลขององค์กรจักรยานที่เชื่อมโยงกับ uci อย่างพวก road race และรถลู่ หลากหลายการแข่งขัน แต่เป็นรูปแบบกีฬาที่ต้องอาศัยความทนทานและการฝึกซ้อมพัฒนาอย่างเป็นระบบ หนึ่งในรายการที่โด่งดังที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือ AUDAX หรืออีกรายการของโลกที่มีแข่งกันจนเกิดเป็นนักจักรยานอาชีพสาย”ปั่นทน”อย่าง RAAM

ในระดับนักปั่นอาชีพกลุ่มนี้ แม้จะมีกติกาและรูปแบบการแข่งต่างไปจากรายการยอดนิยมจากฝรั่งเศส (แต่ก็แตกต่างจากการแข่งจักรยานถนนทั่วไป)แต่ด้วยความที่มีทุนสนับสนุนและทีมงานค้นคว้าวิจัย ทำให้การพัฒนา การออกแบบการซ้อมและวางแผนการปั่นบนระยะยอดมนุษย์แบบนั้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งแตกต่างจากการเตรียมตัวของนักปั่นสมัครเล่นที่มีหัวใจเกิน 1200% จึงรวบรวมจากบทวิจัยและความเชื่อเหล่านั้นมาเป็นข้อคิดสำหรับแฟนๆนักปั่นนิยมสะสมระยะทางให้ได้ลองนำไปพิจารณา

1.ซ้อมเก็บระยะ
เป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์กับประโยคที่บอกว่าหากอยากจะปั่นให้ได้วันละเป็นพันกิโลเมตร (หรือหลายๆร้อยกิโลเมตร)ต้องมีเวลาซ้อมปั่นให้ได้อย่างน้อยๆ 600-1600 กม. ต่อสัปดาห์ ผู้เข้าแข่งขันรายการ ultra endurance cycling ส่วนมากได้รับการออกแบบตารางซ้อมอยู่ที่ระยะทางยาวๆ 500-800 กม./สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งไม่แตกต่างจากระยะที่นักกีฬาจักรยานถนนอาชีพใช้ฝึกซ้อมแต่อย่างใด

ในความเป็นจริงน้อยกว่าระยะทางที่สะสมของนักจักรยานถนนอาชีพได้จากการแข่งรายการ Stages Race (ทัวร์ต่างๆ)เสียอีก เพราะผลวิจัยด้านกายภาพและการพัฒนาพบว่าระยะทางที่มากไปกว่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ชัดเจน แต่สร้างความล้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อนำมาคิดแล้วไม่คุ้มค่าที่จะฝืนร่างกายมากขนาดนั้นแต่ไม่สามารถฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ทางออกที่เหมาะสมคือการฝึกซ้อมอย่างมี”คุณภาพ”มากกว่า”ปริมาณ”

การฝึกซ้อมนักจักรยานรูปแบบ ultra endurance cycling ของ Christoph Strasser นักจักรยานปั่นทนอาชีพผู้ชนะ RAAM และรายการอื่นๆอีกมากมายคือการซ้อมพัฒนาระบบการทำงานต่างๆ การขยายความจุด้านแอโรบิค การซ้อมความทนทานระยะเวลาไกลๆ และการซ้อมอินเทอร์วัลเจาะจงในโซนระบบต่างๆเช่นเดียวกับนักจักรยานถนนแบบปกติ เพียงแต่ตารางและตัวแบบฝึกซ้อมถูกมุ่งเน้นไปที่ระดับความทนทานสูงๆ การขี่แบบ negative split เพื่อปรับนำไปใช้ในการพัฒนา แม้แต่การซ้อมในช่วง anaerobic ที่แทบไม่ได้ใช้งานเลยในการขี่จริง

นอกเหนือจากการฝึก endurance ยาวๆระยะเวลา 12 ชม. ที่ดูแล้วมากกว่านักจักรยานปกติ ที่เหลือ Christoph Strasser ก็ซ้อม Lactate ซ้อม Time Trial และการขี่ Tempo เฉกเช่นเดียวกัน เพราะผลวิจัยพบว่าในการขี่ระยะทางไกลมากๆ ร่างกายที่ทำงานในความหนักที่เหมาะสมสลับไปมาจะทำงานต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการพัฒนาระบบความแข็งแรงช่วยให้ร่างกายพัฒนาระบบการดูดซึมพลังงานได้เร็วขึ้น

ที่ระยะเวลาเกิน 6-8 ชม. ขึ้นไปของการขี่จักรยาน พบว่าหากวางแผนระดับความหนักมาเป็นอย่างดี ร่างกายจะทำงานไปอย่างต่อเนื่องสิ่งที่จะเกิดปัญหาคือระบบพลังงานและการพักผ่อนที่เหมาะสม ดังนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องไปซ้อม ultra endurance บนระยะจริง แต่ต้องรู้จักแบ่งระยะทางและรูปแบบการปั่นให้สอดคล้องกับแผนและเส้นทางมากกว่า กุญแจอยู่ที่การเสริมสร้างความทนทานและฐานระบบแอโรบิคตัวกลาง พร้อมร่างกายที่สามารถขยับไปอยู่ในช่วงแอโรบิคตอนปลายได้บ้างเป็นเวลาสั้นๆ

ถึงนักปั่นทนอาจไม่จำเป็นต้องปั่นความเร็ว 35-40 กม./ชม. ในการขี่จริง แต่พบว่าการซ้อมที่ระดับนี้ช่วยพัฒนายกระดับการทำงานของร่างกายโดยรวมได้ด้วย ซึ่งรวมถึงการซ้อมเวทเทรนนิ่งและกระบวนการฝึกฝนความยืดหยุ่นของร่างกาย ไม่แตกต่างจากนักจักรยานถนนปกติ

2.นักปั่นทนต้องใช้ชีวิตแบบสุดขีด
การจะออกไปขี่จักรยานบนระยะทาง 500, 1,000, 1,200 หรือ 4,800 นักจักรยานคงต้องทุ่มเทแรงใจและแรงกายทั้งชีวิตให้กับจักรยาน ต้องยอมเสียสละเวลาทำงานและครอบครัว ทุ่มเวลาลงไปกับการเตรียมซ้อม วิ่งหางบประมาณและวางแผนการแข่งขัน ซึ่งเป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อนอย่างสิ้นเชิง

การแข่งระดับ ultra endurance cycling เกือบทุกงานที่กำเนิดขึ้นมาบนโลกถูกสร้างอยู่บนพื้นฐานของนักจักรยานสมัครเล่น เพียงแต่เป็นนักปั่นที่มีความ”กล้า” พอที่จะท้าทายกับระยะทางให้ได้ บนพื้นฐานของการเอาระยะทางเป็นตัวบ่งชี้การพัฒนา หากเข้าใจในระบบการฝึกซ้อมตามที่อธิบายมาข้างต้นนี้ก็จะมองภาพรวมได้ว่านักปั่นทนเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นต้องทุ่มเทชีวิตออกจากสิ่งอื่นๆแต่ต้องมีวินัยและความรับผิดชอบการฝึกซ้อมเฉกเช่นเดียวกับนักกีฬาอื่นๆ เพราะหากรายการแบบนี้กลายเป็นเพียงพื้นที่ของ “ยอดมนุษย์” จำนวนนักปั่นจักรยานก็จะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ การที่มีจำนวนผู้สนใจร่วมท้าทายระยะทางมากขึ้นเรื่อยๆเป็นสิ่งสะท้อนที่ชัดเจนว่าการปั่นทนแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของการบำเพ็ญตบะเพียรเจริญภาวนาเข้าป่าเข้าดอยเป็นฤษีหลุดพ้นจากสังคมคนทั่วไป

คนที่ยังขยาดที่จะลองมาสัมผัสกับการขี่จักรยานบนเส้นทางไกลกว่าปกติที่ยังรู้สึกว่าเขาเหล่านั้นคือยอดมนุษย์ที่มีความพิเศษ ลองมองมุมใหม่แล้วเริ่มลงมือจากการทดสอบระยะทางที่เป็นไปได้สำหรับตนเอง และศึกษาการวางแผนการฝึกซ้อมขยายเส้นทางต่อไปเรื่อยๆอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้

3.นักปั่นทนดื่มข้าวมากกว่ากิน
มีความเชื่อผิดๆว่านักปั่นทนเหล่านี้ได้รับพลังงานจากอาหารเหลวเท่านั้นระหว่างการแข่งขันเพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมพลังงานได้เร็วที่สุด ความเชื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อมีนักจักรยานปั่นทนหลายๆคนอาศัยอาหารเหลวเป็นทางเลือกระหว่างแข่งขันรายการต่างๆและดูเหมือนจะประสบความสำเร็จดี

แต่เทียบจำนวนนักปั่นที่ครองความเป็นเลิศเหล่านี้ ยังมีนักปั่นทนที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเอาชนะเส้นทางและผลอันดับการแข่งขันส่วนใหญ่ใช้อาหารปกติเป็นหลักระหว่างแข่งขัน เพียงแต่เลือกส่วนผสมและวัตถุดิบรวมถึงการปรุงที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการทางการกีฬา มีการคำนวณพลังงานและสารอาหารต่างๆมาเป็นอย่างดี อาหารเหลวที่ผลิตจากกระบวนสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อาจตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการได้ แต่บนเส้นทางการเอาชนะใจตนเอง อาหารที่”เหมาะสม” คืออาหารที่ส่งผลดีที่สุดพร้อมทั้งถูกปากและทำให้นักจักรยานรู้สึกดีขณะขี่จักรยาน

เรื่องของอาหารเป็นความชอบส่วนตัวของแต่ละคน ผลสำรวจนักจักรยานที่ร่วมในรายการ RAAM ทุกระดับหลายปีที่ผ่านมาพบว่านักแข่งที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้วางตารางอาหารและกระบวนการปรุงให้เหมาะสมกับตนเอง นอกจากมีคุณค่าทางอาหารและการปรุงที่เหมาะสมกับการใช้งาน ยังมีการเพิ่ม”รสชาติ”ที่ถูกปากแต่ละคนเข้าไปอีกด้วย

Christoph Strasser (คนเดิม ผู้ชนะรายการ RAAM และนักปั่นทนอาชีพ) ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าหลังจากที่เค้าชนะการแข่งรายการนี้ได้ในเวลาปั่นจักรยาน 7 วันกว่าๆ นอนครั้งละ 30-40 นาที กินแต่อาหารเหลวเท่านั้น สิ่งแรกที่เค้าทำหลังจากแข่งเสร็จคือการนอนหลับยาวชนิดเหมือนตาย ต่อมาคือการค่อยๆกินอาหารแข็งปกติทีละนิดเพราะร่างกายของเค้าถูกสั่งให้ชินกับอาหารเหลวไปแล้ว ใช้เวลาปรับตัวอยู่เกือบสัปดาห์จึงเดินหน้าเข้าร้านอาหารโปรด เอาเงินรางวัลที่ได้มาฟาดอาหารให้หนำใจ …คำถามคือ คุณคิดว่าคุณพร้อมที่จะใช้ชีวิตเช่นนี้หรือไม่ และจำเป็นต้องทำเช่นนี้หรือไม่จึงจะประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ เพราะนักปั่นทนอีกกว่า 95% แม้ไม่ชนะเหมือนนาย Christoph Strasser แต่ก็พิชิตรายการต่างๆหลากหลายที่ในโลกนี้

ต้นเหตุอีกประการที่เกิดความเชื่อนี้คือการที่นักปั่นทนอาชีพส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากบริษัทอาหารเหลว และใช้อาหารเหลวเหล่านี้ในสื่อต่างๆให้เห็นทั่วไป จนทำให้สาธารณะชนรู้สึกว่าต้องใช้อาหารเหลวนี้จึงจะปั่นได้ทนได้ดีเท่ากับเหล่ามืออาชีพ หากแต่ในความเป็นจริงพบว่าอาหารเหลวมีประโยชน์และช่วยได้จริงตามสรรพคุณและคุณสมบัติ นักปั่นทนใช้อาหารเหลวเพื่อช่วยในการดูดซึมพลังงานเร็วและต่อเนื่องเป็นสำคัญ แต่ใช้ในสัดส่วน 50% ของพลังงานและแร่ธาตุทั้งหมดที่ใช้ สารอาหารอีกส่วนที่ได้รับมาจากอาหารแข็งแบบสำเร็จรูป และอาหารปกติที่กินง่ายๆเช่นแซนวิช, ไรซ์เค้ก(คล้ายโมจิ), ผลไม้แห้ง และขนมอบแบบต่างๆ(ตามแนวฝรั่ง) และอาหารจำเป็นบางส่วนที่ให้นักปั่นทนกินเป็นระยะๆก็คืออาหารมื้อธรรมดาทั่วไปนี่แหละ เพียงแต่เป็นโปรตีนย่อยง่าย ผ่านการปรุงที่เรียบง่ายเช่นนึ่งหรืออบ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการย่อย ดังนั้นมื้อหนักท้องที่นิยมปรุงให้มีรสชาติถูกปากก็เป็นพวกเนื้อไก่ไร้มันอบ หรือปลานึ่งปรุงรส และที่นักปั่นทนขาดไม่ได้คือผักและผลไม้สดนั่นเอง

ลองเลือกศึกษาข้อมูลและวางแผนเดินหน้าในแนวทางปั่นทนนี้ดูก็เป็นอีกรสชาติของการปั่นจักรยานที่น่าสนใจ แถมเป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับมากเพราะไม่ต้องแข่งกับใคร เอาชนะตัวเองและปัจจัยของตนเองเท่านั้น ที่สำคัญคือการเข้าถึงได้ง่ายของการจัดรายการแบบนี้ที่มีให้เห็นได้บ่อยๆในประเทศไทย จนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักปั่นทนเติบโตรวดเร็วขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในเวลาสั้นๆ แม้ว่าอาจไม่ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจ

Tag :: Bicycle
March 12, 2018 cyclinghub 0 Comment