โดย Lucifer
ใครๆก็รู้นะว่า ยางคือ สิ่งสำคัญที่เราจะฝากชีวิตของเราไว้ มันสำคัญที่สุดโดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าโค้งในความเร็วสูงๆ ยางดีหรือไม่ดี ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับเราทั้งสิ้น ยางเกรดสำหรับแข่งขันสามารถสร้างชีวิตชีวาให้กับเหล่า weekend warrier ได้เป็นอย่างมาก เพราะมันมักจะเบาและลื่นไหล รวมไปถึงยึดเกาะผิวทางได้ดีกว่ายางเกรดสำหรับซ้อมที่เน้นไปที่ความทนทาน โดยต้องแลกกับความหนัก หนืด และบางครั้งก็ไม่ค่อยจะเกาะผิวทางโดยเฉพาะที่ความเร็วสูงๆในทางโค้ง ยิ่งทางเปียกด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่
ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เรื่องราว ผมอยากจะขอให้มาดูข้อมูลจากผู้ผลิตกันก่อน
1. โครงยางขึ้นรูปมาจากการใช้เส้นใย Nylon ขนาด 220TPI ทอชั้นเดียว ( ในขณะที่บางค่ายใช้คำว่า 3/330 TPI ซึ่งแท้จริงคือ 110TPI ทอซ้อนกัน 3 ชั้น ) ทำให้ยางมีความบาง และนุ่ม สามารถให้ตัวได้เป็นอย่างดี ส่งผลต่อการยึดเกาะผิวทางในขณะเข้าโค้ง
2. 57 ShA durometer rubber เท่าที่ผ่านมา ผมไม่เคยเห็นยางจักรยานค่ายใดจะกล้าระบุ spec ค่าความแข็ง ( hardness ) ของยางตัวเองออกมาสักค่าย เลยนะ แล้วค่า 57 ShA มันมีความหมายเช่นไร ? ShA ( Shore A ) เป็นหน่วยในการวัดค่าความแข็งของเนื้อยางครับ เทียบตารางแล้ว ยางชุดนี้จัดอยู่ในกลุ่มค่อนไปทาง medium soft ( ดูรูปประกอบดีกว่า ) ยางที่เนื้อค่อนข้างไปทางนุ่มปานกลางก็ย่อมจะมีคุณสมบัติในการยึดเกาะผิวทางได้ดี ให้ตัวได้ และแน่นอน มันก็ย่อมจะมีการสึกหรอที่เร็วอยู่บ้าง ก็มันถูกระบุมาอย่างชัดเจนนี่ ว่ามันคือ High performance race tire ( ไม่ใช่ยางสำหรับฝึกซ้อมที่เน้นอายุการใช้งานยาวนาน )
3. ดอกยางด้านข้างที่ช่วยในการรีดน้ำ และยึดเกาะผิวทาง ยางชุดนี้มีลักษณะลายดอกยางด้านข้างที่ไม่เหมือนใคร ลักษณะการทำงานจะเป็นยางหมุนทางเดียวหรือ unidirection ซึ่งข้างแก้มยางจะมีลูกศรบอกทิศทางการหมุนไว้ชัดเจน

ผมได้ยางชุดนี้มาเมื่อราวๆปลายเดือน กค. ที่ผ่านมานี่เอง แกะออกมาจากกล่องมาลองเดาะเล่นบนมือ เฮ่ย ยางงัดอะไรหว่า ทำไมมันเบาดีจัง ก็เลยเอามาลองชั่งดู เส้นแรกชั่งได้ 188 กรัม เส้นที่สองชั่งได้ 193กรัม เฉลี่ยๆก็อยู่แถวๆ 190 กรัม คือ จากข้อมูลที่ผมจับยางงัดขนาด 700 x 25C มาชั่งจริง ( ราคาคุยจากโรงงานส่วนใหญ่จะมีไว้ปลอบใจ ) มันคือยางในพิกัด sub200 จริงๆเพียงค่ายเดียว
สำหรับคนนิยมของเบา หากเอามาใช้ร่วมกับยางใน latex หรือ ยางในอย่างบางแล้วด้วยหละก้อ สามารถลดน้ำหนักจักรยานลงมาได้อย่างน้อย 1 ขีด โดยไม่ต้องจ่ายเงินหลักหมื่นเลยนะ

พอดีผมกำลังจะไปร่วมงานปั่นทดสอบเส้นทางกับ L’ÉTAPE Thailand by Tour de France ที่จังหวัดพังงาในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เลยถือโอกาสเอาไปใช้ทดสอบกันเลยก็แล้วกัน

เฮ้อ ต้องทะเลาะกับขอบล้อสำหรับยาง Tubeless อีกแล้ว !!!
เอาเป็นว่า ถ้าใครใช้ล้อที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับยาง Tubeless ไม่ว่าจะเป็นค่ายใดก็ตามเถอะ แล้วบ้านอยู่ห่างจากร้านจักรยานจนต้อง”ขยัน”เรียนรู้ที่จะทำรถเอง ก็จะรู้จักขอบล้อประเภทนี้ดีว่า ผู้ใส่ยางจะต้องมีความชำนาญพอสมควร แต่กระนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่”ค่อนข้างยาก” ยางบางรุ่นอาจจะข้ามไปถึงระดับ”ยาก” ยิ่งถ้าหากไม่มีความชำนาญด้วยแล้ว ก็จะก้าวกระโดดไปถึงระดับ”ยากบรรลัย” จนต้องพึ่งที่งัดยาง ซึ่งก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการทะลุของยางในได้เลย
งานนี้ผมเลือกที่จะใช้ล้ออลูขอบต่ำ ( แล้วมันก็ทำมาสำหรับยาง Tubeless อีกตะหาก ) คือ ผมเรียนรู้การใส่ยางกับขอบล้อจำพวกนี้มาบ้าง ยางระดับแข่ง 2 ยี่ห้อ ที่ว่านุ่ม ใส่ง่าย ผมก็เคยใส่และถอดกันมาแล้ว แต่ถ้าเทียบกับ ZIPP คู่นี้แล้ว ผม”อวย”ให้แบบไม่กลัวเจ็บปากว่า เป็นยางที่ใส่เข้าไปได้ง่ายที่สุด คือ มันก็ไม่ได้ง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปากหรอกนะ แต่เอาเป็นว่า “ค่อนข้างง่าย”ก็แล้วกัน ขยับๆ ยกๆ อยู่ไม่กี่ที ก็ใช้มือเปล่าดันยางเข้าไปในขอบล้อได้สำเร็จ โดยไม่ต้องพึ่งที่งัดยางแต่อย่างใด
ทำไมมันถึงง่ายแบบนี้ จริงๆมันรู้คำตอบตั้งแต่ตอนใส่ยางแล้วว่า มันจะง่ายแบบนี้แหละ ทั้งนี้ก็เพราะ แก้มยางมันนุ่มมาก ให้ตัวได้ดีมากๆ การขยับ รีด ไล่ และยกขอบยางด้านในให้ข้ามร่องกลางขอบล้อไปหาขอบล้อด้านตรงข้าม มันทำได้ง่ายมาก จึงทำให้การดันขอบยางข้ามขอบล้อขึ้นไปเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายจริงๆ
แก้มยางจะระบุแรงดันยางที่เหมาะสมสำหรับยางรุ่นนี้คือ 90 – 145 PSI ซึ่งสำหรับยางขนาด 700 x 25Cแล้ว ดูเหมือนสเปคลมยางสูงสุดจะสูงเกินหน้าเกินตาเพื่อนพ้องอยู่ไม่น้อย ผมทดลองสูบลมเข้าไปที่ 110 PSI แล้วลองปั่นล้อให้หมุนดู ยางชุดนี้ผลิตมาได้ดีมาก ยางกลมจนแทบจะไม่มีการแกว่งหรือส่ายให้เห็นเลย เอาเป็นว่า กลม ได้รูปทรงที่สมกับประกาศตัวว่าเป็นยางสำหรับแข่งจริงๆครับ
วัดความกว้างของแก้มยางเมื่อสูบลมแล้ว อยู่ที่ 25.3 mm ซึ่งแปลว่ายางชุดนี้ “เรื่องตรงกับปก”จริงๆ ฮ่า ฮ่า

ทดลองใช้งานจริงกันเลย
ก็อยากจะถามตัวเองเหมือนกันว่า ใจคอจะไม่เอาไปลองวิ่งดูก่อนเลยเหรอ แน่นอนครับ ใครจะไปเสี่ยงกับของใหม่ที่ยังไม่เคยใช้งานมาก่อน ที่สำคัญทางผู้ผลิต แนะนำว่า ประสิทธิภาพในเรื่องของ rolling resistance และ grip performance จะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดเมื่อผ่านระยะ break in ไปแล้ว 100 miles ( 160km ) ผมก็เลยทดสอบบนถนนราดยางแถวๆที่พักนีแหละ

คุณหลอกดาว !!!

นี่มันดีย์งามมมมตั้งแต่เริ่มปั่นเลยเหรอ คือ สัมผัสถึงอาการ”พุ่งไหล”ที่พบได้ในยางที่มีค่า rolling resistanceต่ำๆ ที่สำคัญคือ กดเป็นมา ไม่มีอาการหนืดๆเลย เทโค้งได้แบบมั่นใจ ยิ่งยางกลมมากๆ แถมน้ำหนักน้อย ยังไงๆมันก็ต้องดีดให้เห็นกันอยู่แล้ว ลองได้พักหนึ่งก็ต้องรีบปั่นหนีฝนกลับที่พัก รวมระยะทางได้เพียงแค่ 40 กม.นิดเอง
เส้นทางที่ไปปั่นทดสอบกับ L’ÉTAPE Thailand by Tour de France ที่จังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นทางแบบ rolling คือ เป็นเนินขึ้นลง ตลอดทาง เส้นทางในบางช่วงมีความคดเคี้ยวพอสมควร รวมไปถึงมีช่วงที่ต้องไหลลงมายาวๆ แล้วแถมด้วยโค้งคดเคี้ยวอีกหลายชุด ที่สำคัญคือ “ฝน” ที่ตกลงมาจนพื้นทางบางช่วงชื้นแฉะ แถมบางช่วงยังรองพื้นถนนด้วยวัสดุที่มีสีแดงๆส้มๆที่หลายคนคิดว่ามันช่วยการยึดเกาะผิวทาง แต่จริงๆแล้วเวลามันเปียกน้ำ มันจะเป็นอะไรที่ไม่เป็นอย่างที่คิด โดยเฉพาะหลังจากที่มันผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้สักพักแล้ว คือ มันจะค่อนข้างลื่น

ความรู้สึกที่ได้จากยางชุดนี้จากการใช้งานนี้ สรุปได้เป็นข้อๆนะครับ
1. Rolling resistance ต่ำสมราคาคุยจริงๆ โดยเฉพาะช่วงเลี้ยงtorque เพื่อไต่ขึ้นเขาชันในจุดที่ผู้จัดเรียกว่า KOM สัมผัสถึงตอบสนองได้ดีสมกับเป็นยางในเกรดแข่งขันจริงๆ ไม่มีหนืดหรือหน่วงเลย คุณงามความดีตรงนี้ เทให้กับส่วนกลางหน้ายางที่แบนเรียบ ไม่มีสัน ตะเข็บไม่เป็นรอยนูน ( แปลว่า ควบคุมมาตรฐานการผลิตได้เป็นอย่างดี ) โดยเฉพาะการเร่งความเร็วเพื่อตามกลุ่ม ยางตอบสนองต่อการส่งแรงได้ดีมาก
2. Grip performance โดยเฉพาะในทางโค้ง ยอมรับว่ายางจิกโค้งได้ดีมาก ถึงแม้ว่าผิวทางบางช่วงจะเปียก หรือ ชื้นแฉะ จนต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าโค้งก็ตาม แต่ก็มีบางช่วงที่เผลอปล่อยเร็วไปบ้าง ยางก็ยังไม่สร้างความหวาดเสียว การแตะเบรคชลอความเร็วแม้จะบนทางที่ค่อนข้างเปียกก็ยังไม่เจออาการลื่น slip ถึงแม้ว่าลักษณะการเข้าโค้งจะไม่ได้เทเข้าเหมือนกับทดสอบในครั้งแรกบนทางแห้งก็ตาม แต่ในลักษณะการเข้าโค้งแบบปกติ (ของผม) ยางก็ยังคงความสามารถในการยึดเกาะผิวทางที่เปียกได้เป็นอย่างดี สมศักดิ์ศรียางแข่ง คุณงามความดีตรงนี้คงต้องยกให้กับดอกยางที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี คือ ดูเป็นรูปธรรมมากกว่ายางเกรดแข่งยี่ห้ออื่นๆด้วยซ้ำไป
3. ถึงแม้ว่าจะใช้ร่วมกับขอบล้ออลูมิเนียมขอบต่ำก็ตาม แต่กลับไม่ค่อยรู้สึกถึงความสะเทือนหรือแข็งกระด้างของยางสักเท่าไหร่เลย
4. ยังไม่พบร่องรอยของการสึกหรอ เพราะรวมระยะทางใช้งานจนจบก็เพียงแค่ 110 กม. เท่านั้น ยังไม่พ้น break in ตามสเปคจากโรงงานด้วยซ้ำไป อันนี้คงต้องรอการใช้งานในระยะยาวต่อไปอีก

จุดเด่น :
– Rolling resistance ต่ำสมราคาคุย ,
– ดอกยางด้านข้างเวอร์คจริง grip performance สมระดับยางแข่ง ,
– ใส่ยางเข้ากับขอบล้อได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องมือใดๆ ,
– ถึงแม้จะใช้กับขอบล้ออลูมิเนียม แต่ไม่ค่อยรู้สึกถึงความสะเทือน ,
– ยางมีน้ำหนักเบาในระดับ sub 200gm คือ เบากว่าคู่แข่งในขนาดยางเท่ากัน พูดง่ายๆว่า ถ้าหายางในLatexมาใช้ด้วย ก็จะสามารถลดน้ำหนักลงไปได้อย่างน้อย 1 ขีดกันเลยทีเดียว ( นี่คือการลดน้ำหนักจักรยานที่ใช้งบน้อยที่สุดแล้ว )

จุดด้อย :
– ยางมีความบาง โดยเฉพาะแก้มยาง หน้ายางเองก็ไม่ได้หนาอะไรมากมาย จริงๆแล้วบางกว่ายางยี่ห้อยอดฮิตด้วยซ้ำไป ก็เขาทำมาสำหรับแข่งขันนะครับ ( ไม่ใช่ยางสำหรับฝึกซ้อม) ถ้าหากเราต้องการใช้เป็นอาวุธลับสำหรับต่อกรกับเพื่อนๆในกลุ่ม Weekend warrior ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเรายังสามารถบุเคฟล่าห์กันหนามไว้ด้านในได้อย่างง่ายดาย โดยแทบจะไม่ส่งผลอันใดต่อperformanceของยาง ,
– ราคาขายปลีกแปะไว้ข้างกล่องยังไม่รวมส่วนลด อาจจะดูสูงไปบ้างสำหรับคนทั่วไป หรือ ผู้ที่ไม่ต้องการประสิทธิภาพของยางในระดับแข่งขัน

เหมาะกับใคร : ถ้าคุณต้องการยางเกรดแข่งขันคุณภาพสูง เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ ยอมรับในความบางและโอกาสของการรั่วซึม
ไม่ควรซื้อ : ถ้าคุณไม่ต้องการประสิทธิภาพสูงสุดของยางในระดับแข่งขัน

หมายเหตุ :
– รถที่ใช้ร่วมการทดสอบ Giant TCR Advanced SL
– ล้อที่ใช้ร่วมการทดสอบ DT PR1400 Dicut for Tubeless

Tag :: Zippยาง
August 8, 2018 cyclinghub 0 Comment