ABUS Airbreaker หมวกเสือหมอบแชมป์ดลกที่หลายๆคนอาจไม่ได้รู้จักมันมากนักเพราะนี่ไม่ใช่หมวกกระแสนิยมของสังคมแฟชั่นแห่งยุค แต่หากคุณถามคนที่ใส่หมวกใบนี้อยู่คุณจะได้คำตอบมาว่า หมวกใบนี้แหละคือคุณค่าในระดับพรีเมี่ยม ในรายละเอียดการออกแบบ และงานผลิตที่เนียนจนต้องตัดสินใจเลือกมาใช้งาน ซึ่งรายละเอียดต่างๆของหมวกนั้นสามารถย้อนไปอ่านได้จากบทความพรีวิวหมวกใบนี้ ซึ่งหลังจากวันนั้นมาหลายเดือน เราก็ได้ทดสอบใช้งานมาโดยตลาดว่า ตกลงสรรพคุณที่การออกแบบนำเสนอมานั้น เบ็ดเสร็จแล้วสามารถทำงานได้จริงหรือไม่ ร่วมกับข้อเด่น ข้อด้อยที่พบจากการใช้งานระยะยาวๆ

เอาล่ะครับก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมคงบอกไม่ได้ว่าหมวกใบนี้แอโร่ฯมากขนาดไหน นอกจากเอาค่าที่เขาได้เคลมเอาไว้มานำเสนอ แต่ที่มาของมันคือหมวกรุ่นพี่ที่ออกมาก่อน ที่มีความแอโร่ฯแบบเต็มสุบ ถูกทดสอบจากสื่อจักรยานว่าเป็นหมวกเสือหมอบที่แอโร่ฯที่สุดในท้องตลาด นำเอารูปทรงของหมวกแอโร่ฯ มาพัฒนาต่อในระบบจำลองสภาพอากาศและออกแบบช่องเปิดต่างๆให้อากาศไหลผ่านระบายความร้อนได้ดีโดยที่ยังคงความแอโร่ฯไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเราก็พอจะสรุปได้ว่า นี่น่าจะเป้นหมวกที่แอโร่ฯในระดับหมวกใช้งานครอบจักรวาลรุ่นใหม่ๆทั่วไปอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นรองหมวกแอโร่ฯอยู่หนึ่งขั้นแต่ก็ช่วยให้เร็วได้ไม่น้อยกว่าหมวกเบาๆยุคก่อนๆที่เน้นเฉพาะน้ำหนักกับความเย็นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปร่างภายนอกของหมวก Airbreaker ที่ดูออกชัดเจนเลยว่า ถูกขีดวาดมาจากรูปทรงของการวิจัยล้วนๆ ไม่ได้ลากเพื่อความสวยงามเป็นตัวกำหนดตั้งแต่แรก ตามแบบฉบับของการออกแบบเยอรมัน ที่เอาประโยชน์ใช้สอยหลักมาก่อน

แต่สิ่งที่ผมบอกได้และยืนยันได้คือ เรื่องของงานผลิตที่ยอดเยี่ยมมาก แน่นอนว่านี่คือหมวกที่ราคาจัดว่าสุง แต่งานผลิตของมันก็สุงไปด้วยเช่นกัน ตั้งแต่งานสี งานชิ้นส่วนอื่นๆ รวมถึงงานตัดเย็บ หมวก Airbreaker ทำออกมาได้ดีกว่าหมวกในราคาเดียวกันอีกหลายๆตัวด้วยซ้ำ ในยุคนี้ที่มีหมวกไฮเอ็นด์ราคาหมื่นกว่าบาท ต้องยกนิ้วให้กับ ABUS ที่ทำหมวกใบนี้ออกมาในราคาไม่ถึงหมื่นแต่ได้งานในระดับสุงสุดอย่างลงตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เราขอหักคะแนนออกไปหน่อยคือ ระบบล็อคที่สายรัดคาง เป็นแบบคลิ๊กปกติ ในขณะที่หมวกพรีเมี่ยมใหม่ๆมาเป็นแบบระบบแม่เหล็กที่ล็อคได้ง่าย สะดวก ไว้ และรวดเร็ว รวมถึงการปลดที่ทำได้สะดวกมาก อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่สำหรับการใช้งานที่สะดวกนั้น มีเกินไว้ก็ดีกว่าขาด ใครจะรู้ล่ะครับ คุณอาจจะต้องปั่นไปด้วย ถอดหมวกไปด้วย บนถนนที่ขรุขระจนไม่สามารถปล่อยสองมือได้ เวลานั้นแหละครับที่ระบบล็อคแบบแม่เหล็กจะเป็นทางออกที่สะดวกมาก

ในมุมของน้ำหนักมหวก หมวกใบนี้ไม่ใช่หมวกที่เบาที่สุดที่เราเคยจับมา เราเคยเจอหมวกที่น้ำหนักราว 170-180 กรัมมาก่อน รวมถึงหมวกแอโร่ที่น้ำหนัก 200 กรัมก็เคยเจอมาแล้ว ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่หมวกที่เบาจนเราต้อง”ว้าว” แต่ด้วยน้ำหนักที่มากกว่านั้นเพียงไม่กี่สิบกรัม ที่คุณๆและผมจะไม่มีทางรู้สึกหรอกครับว่ามันต่างกัน นี่จัดอยู่ในเกณฑ์ของหมวกที่”เบามาก” เรียบร้อยแล้ว ที่มาของคุณสมบัตินี้น่าจะมาจากเสียงเรียกร้องของทีม Movistar ที่ช่วยพัฒนาและนำหมวกไปใช้ในการแข่งขันโปรทัวร์ ที่ขอหมวกเบาๆสำหรับนักปั่นใช้ปั่นบนทางภูเขาได้สบายๆ ดังนั้นพิกัดน้ำหนัก 200-230 กรัมนี้ถือเป็นพิกัดน้ำหนักธรรมดาสำหรับหมวกเรือธงที่เน้นความเบาแบบยอมรับได้ ซ่งก็เป็นไปตามที่กล่าวมาครับ Airbreaker อยู่บนหัวของคุณได้โดยที่คุณไม่รู้สึกต้องแบกมันอย่างแน่นอน ถ้าจะบอกกันตรงๆก็คือ มันมีน้ำหนักพอๆกับหมวกเบาๆที่ใช้ในการแข่งโปรทัวร์เจเนอเรชั่นที่แล้ว แต่มีฟีเจอร์ของความแอโร่ฯและด้านอื่นๆที่ผมจะเล่าต่อดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

จุดเด่นอีกด้านที่ถือว่าเด่นมากและทำได้ดีสมดังที่ออกแบบมาก็คือความสามารถในการระบายอากาศ ผมออกตัวก่อนเลยว่า ตั้งแต่ทดสอบและมีหมวกมาก็หลายยี่ห้อ นี่คือหัวแถวของหมวกที่ใส่แล้ว”เย็น” อย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ มันเย็นเทียบได้กับหมวกที่พรุนๆ รูมากๆ ทรงโตๆดักลมอย่างสบาย เหตุผลสำคัญมากจากการออกแบบลักษณะของช่องลมที่ละเอียด หน้าตัดของชช่องลมรับกับอากาศที่ไหลเข้ามา และช่วยคุมให้อากาศไหลเข้าไปภายในหมวก โดยที่ช่องทางอากาศในหมวกก็กว้างและลึก จากการยกสุงของหมวกช่วงกลางนิดหน่อย และโครงสร้างหมวกที่แข็งแรงและทำให้บางลงได้ด้วยการผลิตที่ยอดเยี่ยม ทำให้อากาศไหลเข้า และออกได้อย่างสะดวก นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดของการระบายอากาศที่ดี ด้านบนของหมวกมีตะแกรงที่เรียกว่า Multispeed Grid ทำหน้าที่หลักๆเรื่องการระบายความร้อนทั้ง 3 เรื่อง คือ การคุมให้อากาศไหลเข้าไปในช่องลมได้ง่ายขึ้น ลดแรงกดอากาศเมื่อไหลผ่านไปทำให้ยิ่งขี่เร็วอากาศจะยิ่งไหลเข้าไปภายในหมวกได้ดีขึ้น และตัวตะแกรงสามารถทำหน้าที่คล้ายรังผึ้งอุ้มน้ำเอาไว้เมื่อเราราดน้ำบนหัว และช่วยยระบายความร้อนได้เร็วยิ่งขึ้นอีก แม้จะเป็นดีเทลเล็กน้อยมากๆ แต่มันก็ช่วยได้จริงนั่นแหละครับ มีหมวกน้อยมากๆที่แม้ว่าคุณจะก้มหัวมุดลงแต่ก็ยังมีลมผ่านเข้าไปจนรู้สึกได้อยู่ ถ้าคิดง่ายๆนะครับ คล้ายๆหมวกแอโร่ฯที่จะมีช่องเจาะและดักลมตรงกลางด้านบนเลยนั่นแหละครับ ตะแกรงนี้ก็ทำงานในลักษณะคล้ายกันแต่ทำให้ตัวมันจับน้ำได้ด้วย

แต่ตะแกรงนี่แหละครับที่ก่อปัญหาเล็กๆให้ผมครั้งหนึ่ง เมื่อมีแมลงเข้าไปในหมวก ไม่ว่าจะขยับหมวกอย่างไรก็ตาม จับเขย่าก็แล้ว มันก็ยังหลงทางอยู่ในผมของผม (ผมตัดสกินเฮด!!) รู้สึกว่ามันน่าจะพยายามจะบินออกด้านบนแต่ออกไม่ได้ สุดท้ายตัดสินใจ ปล่อยมือ ปลดสายรัดและถอดหมวกออก จากนั้นใส่กลับเข้าไปใหม่จึงจะเรียบร้อย ก็เป็นวิบากเล็กๆที่มาโดยไม่คาดฝัน ถ้าคุณคิดว่าตะแกรงนี้ทำมากันแมลงล่ะก็ไม่ใช่เลยนะครับ เพราะตะแกรงที่กันแมลงในหมวกเสือภูเขานั้นจะอยู่ด้านหน้าของหมวก ส่วนด้านบนเปิดโล่ง อันนี้สลับกันครับ แมลงจึงเข้าง่าย ออกยาก

ที่สายหมวกมีข้อดีที่ผมชอบซึ่งที่มาก็มาจากทีม Movistar อีกนั่นแหละ เพราะพวกเค้ารำคาญเสียงและความรู้สึกที่สายหมวกตีกระพือข้างหูเวลาลงเขาหรือปั่นด้วยความเร็วสุงมากๆ จึงร้องขอวิธีที่ทำให้สายไม่สั่นกระพือเวลาโดนลมตี ซึ่งทีมงาน ABUS เองก็ออกแบบสายให้ช่วงด้านหน้ามีความหนานูนออกมาคล้ายเป็นโครงให้สายไม่ย้วยกระพือตัวได้ง่าย เมื่อใส่หมวกแล้วสายก็จะอยู่พอดักับใบหน้าตลอดเวลา เป็นอีกเรือ่งเล็กๆที่น่าประทับใจครับ แต่ในความประทับใจก็ยังมีข้อคาใจเพราะหมวกรุ่นนี้ ไม่มีตัวปรับสายด้านข้าง ข้อนี้ต้องยอมรับเลยว่าในบรรดาข้อเสียที่พบ ข้อนี้ผมขอให้เป็นข้อเสียชิ้นโตเลยทีเดียว เพราะไม่สามารถปรับให้สายด้านข้างทั้งตึงและอยู่ในตำแหน่งที่พอดีได้ แม้ว่าจะไม่มีการติดขัดทับใบหู แต่เชื่อว่าถ้ามีตัวปรับด้านข้างนี่จะสามารถปรับสายรัดมหวกให้เป๊ะได้ตามต้องการ ซึ่งผมก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไม ABUS เลือกที่จะเย็บสายติดกันไปเลย ถ้าเดาก็คงจะเป็นเรื่องของความพยายามในการลดน้ำหนักและทำให้สายบางแต่มีโครงนูนออกมานั่นเองครับ

แต่ในเรื่องของการปรับกระชับ ทำได้อย่างยอดเยี่ยมครับ ปุ่มหมุนที่ท้ายทอยสามารถปรับเข้าออกรองรับกับทรงของหัวได้อย่างอิสระ ปรับขึ้นและลงได้ด้วย ไม่ว่าจะเพื่อให้พอดีกับท้ายทอยแต่ละคน ยังปรับให้หลบผมที่รัดไว้ได้ของนักปั่นหญิงอีก รวมถึงโฟนบุภายในที่ออกแบบมาแปลกแหวกแนวให้ตัวแผ่นเป้นอิสระ ติดอยู่กับโครงหมวกเพียงเล็กน้อยนั้น ทำให้เวลาใส่หมวกและรัดกระชับไปแล้ว ไม่รู้สึกว่าหมวกสร้างความรำคาญให้กับหัวแม้ว่ามันจะไม่เข้าที่เข้าทางก็ตาม หมวกอื่นๆถ้ารีบใส่หรือขี่ไปแล้วหมวกขยับเอียงหรือเบี้ยว คุณจะรำคาญมากๆ แต่หมวก Airbreaker เป็นหมวกที่อยู่ง่าย วางไปก็อยู่ได้ไม่รู้สึกติดขัดอะไร นอกเสียจากทรงหัวที่ป้านมากๆอาจจะเป้นปัญหากับทรงหมวก โดนกดทับที่ช่วงข้างๆไปบ้าง ซึ่งข้อนี้ทาง ABUS บอกเลยว่าไม่ต้องตกใจไป ตรงไหนทับ ไม่พอดี ใส่แล้วไม่สบาย ไม่ต้องคิดมากครับ เอานิ้วกดๆบีบๆโฟมด้านในได้เลย มันให้ตัวได้ ปรับให้เหมาะกับหัวแต่ละทรงได้ เพราะโฟรมไม่ใช่โครงสร้างของหมวกและไม่ได้ทำหน้าที่หลักในการรับแรงกระแทกครับ หมวกใบนี้อยู่ได้ด้วยโครงสร้างภายในหมวก และทำการกระจายแรงได้ด้วยโครงสร้างนั้นๆ แม้จะไม่มีโฟมอยู่ หมวกก็ยังสามารถทำหน้าที่กันกระแทกระจายแรงเพื่อปกป้องหัวได้ โฟมทำหน้าที่เป็นตัวเสริมและควบคุมกระแสอากาศเท่านั้น นี่ได้มาจากการผลิตหมวกที่ Airbreaker เลือกใช้เทคนิคการผลิตที่ยากมากนั่นคือการฉีดโฟมทั้งชั้นนอกและชั้นในพร้อมกันกับโครงสร้างหมวกเพื่อให้ได้หมวกที่แกร่ง เบา ไร้รอยต่อ ที่สุด กระบวนการผลิตนี้แหละครับที่ทำให้หมวกใบนี้มีรคาสุงกว่าปกติ

สุดท้ายคือเรื่องของหน้าตาหมวกที่อันนี้เป็นเรื่องของใครของมันล่ะนะครับ ผมคงไม่ฟันะงให้ว่าหมวกนี้สวยหรือไม่ แต่จากข้อมุลของร้านค้า คนที่มาซื้อ Airbreaker ตัดสินใจซื้อเพราะสีของมัน หมวกมีสีให้เลือกที่หลากหลายทั้งแนวเรียบและสีสัน โดยที่สีไม่ได้ทำออกมา”จัดจ้าน” จนเกินไป เป็นแนวเรียบแต่เท่ มีซีรีส์ของสีออกโทนเมทัลลิคอยู่ด้วยตามเทร็นด์ของจักรยานสีพิเศษในเวลานี้ สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้หลายๆคนมองข้ามหมวก Airbreaker ก็คือความ”ทันสมัย” อันนี้ไม่ได้บอกว่าหมวกใบนี้เชยนะครับ แต่ยุคนี้ คนชอบหมวกที่ต้องดูแล้ว “ป็อป” สักนิด หรือมีสัดส่วนที่โดดเด่น หลายคนชอบใส่หมวกหัวเห็ดรับแว่นใหญ่ๆเป็นแฟชั่นของระยะหลังๆ หมวก Airbreaker ที่ใส่แล้วหัวไม่บาน แต่ดูสูงขึ้นด้านบนนิดๆจึงแปลกตาไปหน่อยเมื่อเทียบกับแวดวงสังคมคนปั่น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ ABUS อีกเช่นกัน คือ หมวกใบนี้ใครเอาไปลองสวมมักจะไม่มีปัญหาเรื่องหน้าตาเลย หมวกบางแบบ หากหน้ากลม หน้าป้าน ใส่แล้วยิ่งดูไม่เข้า หมวกบางทรงหน้ายาว หน้าเรียวใส่เข้าไปก็ไม่เหมาะ แต่ Airbreaker ด้วยอะไรก็ไม่ทราบได้ หัวกลม หน้าเรียว แก้มยุ้ย คางแหลม รูปไข่ เอาไปใส่ก็ออกมาโอเคหมด และเมื่อปรับตัวรัดท้ายทอยให้เหมาะ หรือตัดสินใจบีบๆโฟม หมวกก็พอดีเป๊ะกับหัวคนใส่ได้สบายๆ

เอาล่ะครับ ขอสรุปเลยว่า นี่คือหมวกที่”ดีมาก” ใบหนึ่ง มีจุดเด่นที่น่าสนใจมากๆสมควรค่าแห่งการนำมาพิจารณาก่อนการตัดสินใจ ความไม่น่าประทับใจที่มีอยู่บ้างนั้น ถ้าคุณรับมันได้ คุณก็จะได้หมวกที่ใช้แล้วไม่ผิดหวังแน่นอน มันอาจไม่เด่นในด้านไหนสักด้าน แต่นี่คือหมวกที่เด่นในเรื่องความสมดุลย์ของทุกด้านและงานที่ประณีต

จุดเด่น รายละเอียดการออกแบบเยอะ เย็น เบา แอโร่ฯ ใส่สบาย

จุดด้อย รายละเอียดบางอย่างไม่น่าหายไปเช่นตัวปรับสายด้านข้าง ระบบคลิปแบบแม่เหล็ก

*ขอขอบคุณ Champion Cycle ผู้นำเข้า ABUS ประเทศไทยสำหรับการเอื้อเฟื้อหมวกมาทดสอบระยะยาว

Tag :: ABUShelmet
October 22, 2019 cyclinghub 0 Comment