ไมล์จักรยาน เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของนักปั่นอีกชิ้น ที่แม้จะไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องของความปลอดภัยแบบหมวกกันน็อค แต่ก็ถือว่าเมื่อถอยจักรยานก็ต้องจัดมาใส่ให้ได้ปั่นสนุกกันแทบจะทันที สนนราคาก็มีเริ่มต้นกันตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท ไปยันหลายหมื่นบาท เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความต่างของราคามากที่สุดชิ้นหนึ่งในจักรยานก็ว่าได้เลยล่ะครับ แต่วันนี้เราจะมาโฟกัสกันเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไมล์แบบจีพีเอสเท่านั้น ไม่นับไมล์แบบปกติที่วัดจากระบบเซ็นเซอร์แม่เหล็กที่มีมายาวนานกว่า 30 ปีมาแล้วนะครับ

 

ไมล์แบบจีพีเอส เริ่มมีมาตั้งแต่หลังช่วงปี 2000 ไม่นานนัก ในเวลานั้น อุปกรณ์ระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียมเริ่มเข้ามาสุ่ตลาดใช้งานทั่วไป โดยได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มอุปกรณ์นำทางในรถยนต์และอุปกรณ์ระบุตำแหน่งและเก็บเส้นทางของรถยนต์และผู้เชี่ยวชาญที่ต้องสำรวจจุดต่างๆ แต่ถ้าค้นหาข้อมูลจะพบว่า กำเนิดของอุปกรณ์แบบนี้มีมาหลายสิบปีก่อนหน้านั้นโดยเทคโนโลยีนี้ถูกใช้ในงานเฉพาะทางและด้านความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจมาเป็นอันดับแรก แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มออกสู่ตลาดวงกว้าง ก็เริ่มมีการแข่งขันของแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆมากมาย และเริ่มค้นหาการดัดแปลงเทคโนโลยีนี้เพื่อตอบสนองการใช้งานที่แตกต่างจากเดิม นำไปสู่การเปิดโอกาสใหม่ของการตลาดได้ในที่สุด และแล้ว Garmin ยักษ์ใหญ่แห่งวงการระบบนำร่อง ก็คิดค้นทำอุปกรณ์จีพีเอสเพื่อจักรยานออกมาจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการรายแรกๆ ซึ่งในเวลานั้น เริ่มมีแนวคิดนี้ออกมาก่อนแล้วแต่ยังไม่ได้รับความนิยมในตลาดวงกว้าง ซึ่งสำหรับการ์มิน จีพีเอสยุคแรกๆก็ไม่ได้ไปได้สวยนักในตลาด มันยังเป็นเพีงทางเลือกที่”พิเษศ” สำหรับผู้ที่มองหาของเล่นเสริมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Edge 305, 605 ซึ่งนำเอาความสามารถของจีพีเอส มาช่วยระบุตำแหน่ง ความเร็ว ระยะทางของจักรยานได้โดยไม่ต้องมีเซนเซอร์อะไรมาติดให้วุ่นวายอีกต่อไป แถมยังเก็บเอาเส้นทางการปั่นมาแสดงบนแผนที่ได้ด้วย ผนวกกับเมื่อใช้งานร่วมบนระบบแผนที่ของการ์มิน ก็จะนำมาใช้เป็นไมล์ที่สามารถนำทางได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนี่คือแนวคิดที่กำลังจะเปลี่ยนโลกของจักรยานไปตลอดกาล

 

กระทั่งการมาของคู่แข่งรายอื่นๆที่รีบคว้าเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้เป็นอุปกรณ์ของพวกเขา อย่าง Sigma ก็เข้ามาร่วมวงเล่นด้วยอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้การ์มินงัดเอารุ่นในตำนาน Edge 500 ที่ทำการวิจัยพัฒนาโดยร่วมมือกับทีมจักรยาน นักปั่นโปรจริงๆ ว่าพวกเขา(นักปั่น) ต้องการอะไรกันแน่ และนั่นคือจุดที่โลกจักรยานขยับเขยื้อนอย่างรุนแรงอีกหนึ่งครั้ง ผลักดันให้การ์มันกระโดดเข้ามามีมูลค่าของส่วนแบ่งในตลาดที่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ จากเดิมที่คลาดถูกครอบครองโดย Cateye, Polar และ Sigma ในสัดส่วนที่ไม่ทิ้งกันมาก แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่สามารถครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งได้ แต่แน่นอนว่า มูลค่าของการขาย และการคอบรับ มากพอที่จะทำให้พวกเขาเดินเครื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี

ในตลาดไมล์จักรยานราคาประหยัด ในขณะที่ Cateye คือยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่มาโดยตลอด พวกเขามีความพยายามที่จะขยับขึ้นมาเล่นในตลาดนี้บ้างโดยมีภาพหลุดของการพัฒนาไมล์จีพีเอสออกมาแต่แล้ว ดูเหมือนว่า ในที่สุดไมล์ตาแมวรายนี้ก็ยังคงยึดมั่นอยู่กับระบบเดิมๆที่ทำออกมาได้ราคาย่อมเยาและขนาดที่ไม่ต้องใหญ่จนเกินควร ซึ่งก็แน่นอนครับว่า กลยุทธนี้ไปได้ดีอย่างแน่นอนเพราะสัดส่วนตลาดขนาดใหญ่ยังคงอยู่กับไมล์แบบเดิมๆที่ใช้งานได้อย่างพอเพียง สะดวกสบายนี้ จวบจนการมาของไมล์แบรนด์ทางเลือกที่ทะลักเข้ามาในตลาดมากขึ้นทีละนิดๆ จากไมล์ไร้สายที่เริ่มต้นราคาหลักพันบาท แต่ประเทศแถบนี้สามารถทำออกมาได้ในราคาไม่กี่ร้อยบาท สั่นสะเทือนตลาดจักรยานระดับย่อมเยาได้อย่างทันที เหตุผลสำคัญก็เพราะ หลักการทำงานของไมล์พื้นฐานกลุ่มนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย มันคือเทคโนโลยีอายุเกือบๆครึ่งทศวรรษด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่โรงงานอิเล็คโทรนิคส์ต่างๆก็สามารถเข้ามาจับกลุ่มตลาดนี้ได้แทบจะทันที ที่กระแสจักรยานกำลังเติบโตในโลกนี้ เมื่อพวกเขาเห็น”ดีมานด์” ที่กำลังทวีค่าขึ้น “ซัพพลาย” ก็ถูกส่งออกมาได้อย่างรวดเร็ว

 

และในวันนี้ เทคโนโลยีจีพีเอสนำทาง ก็ไม่ใช่ของใหม่อีกต่อไปเช่นกัน รวมถึง ประเทศผู้ผลิตก็ได้กว้าวขึ้นมาเป้นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีแก็ดเจ็ทได้ด้วยการส่งเอาสมาร์ทโฟนสัญชาติตนออกมาตีตลาดมหาอำนสจอย่างไม่เกรงกลัว และอุปกรณ์เพียงเท่านี้หรือจะรอดพ้นมือ รอดพ้นสมอง ทายาทสามก๊กไปได้ ประกอบกับการแข่งขันของไมล์จีพีเอสแบรนด์อื่นๆก็เริ่มร้อนแรงมากขึ้น ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การ์มินพบกับคู่แข่งที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปได้อย่างเป็นกอบเป็นกำทั้ง Wahoo, Bryton และ LeZyne ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ ทุ่มกำลังในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น Bryton เริ่มบุกตลาดด้วยการจับมือกับทีมใหญ่ “ทีมสกาย” ส่งไมล์พวกเขาไปทดสอบและให้โปรดังใช้ในการแข่ง ตามมาติดๆด้วย LeZyne ผู้นัำอุปกรณ์เกี่ยวกับจัรกยานของโลก และที่ดูจะมาแรง กระตุ้นตลาดได้ดีมากก็คือ Wahoo แบรนด์แก็ดเจ็ทแท้ๆที่พุ่งหลาวเข้ามาอยู่ในแวดวงอุปกรณ์เพื่อชีวิตแอ็คทีฟได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาใกล้ๆกับที่การ์มินเริ่มสร้างฐานของระบบไมล์จีพีเอส พวกเขาจึงได้เปรียบด้วยการศึกษาความต้องการและหาช่องทางที่จะไปในตลาดได้อย่างไม่ยากนัก

 

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นอุปกรณ์พวกนี้ในระดับราคาที่”จับง่าย” เมื่อเทียบกับไมล์แบบเก่าๆที่มีในตลาด แต่ในเวลาอันใกล้นี้ ผมเชื่อมั่นได้เลยว่า คุณจะได้เห็น จีพีเอสจักรยานราคาพันกว่าบาทเข้ามาอย่างแน่นอน ซึ่งจะมมาทั้งจากแบรนด์ทางเลือกของประเทศแถวๆนี้แหละ กับแบรนด์หลักที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเดิมๆ ขยายตลาดลงมาจับช่องว่างที่มีอยู่ อันเป็นตำแหน่งที่การ์มันยังไม่สนใจที่จะเจาะเข้าไปเล่น ซึ่งในที่สุด สิ่งที่จะมาวัดกันไม่ใช่เรื่องของแบรนด์หรือราคาแล้วล่ะครับ เพราะการใช้งานไมล์จีพีเอสเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องของตัวไมล์และดาวเทียมเพียงเท่านั้น แน่นอนว่า การไม่ต้องมีเซ็นเซอร์ คือจุดเด่นที่น่าสนใจสำหรับนักปั่นในทุกตลาด เมื่อถึงจุดที่ราคาห่างกันเพียงหลักร้อยบาท คุณก็น่าจะพร้อมยอมจ่ายไปจับไมล์จีพีเอส แทนที่ไมล์ไร้สายแบบเดิมๆที่ต้องมาติดตั้งเซ็นเซอร์ให้วุ่นวาย

แต่สิ่งสำคัญที่ไมล์กลุ่มนี้ต้องมีคู่กันคือ”สิ่งแวดล้อม” ของการใช้งาน นั่นคือการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนนั่นเอง ทั้งการเก็บข้อมุล เชื่อมโยงข้อมูลเข้าโลกโซเชียล จนถึงการปรับตั้งค่า การใช้งานแผนที่นำทาง เหล่านี้ คือสิ่งที่ไมล์ในกลุ่มนี้ทำได้ซึ่งมันจะเปิดและเปลี่ยนโลกของจักรยานได้อย่างแน่นอน เวลานั้นกำลังใกล้เข้ามาแล้วล่ะครับ เรามารอคอยดูกันว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้จะมาเมื่อไหร่ จะเป็นเช่นไร ที่สำคัญ…

ตาแมว…จะเดินหน้าอย่างไรกับเกมส์นี้

November 19, 2019 cyclinghub 0 Comment