เป็นทั้งโชคดี และโอกาสดีมากของ HUB ที่เราได้รับเชิญไปร่วมงาน Taipei Cycle Show 2018 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาในฐานะตัวแทนสื่อจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการรายเดียว ทำให้พวกเราได้มีสิทธิเข้าร่วมทดสอบผลิตภัณธ์จักรยานต่างๆในวัน Demo Day ในฐานะสื่อ ซึ่งโอกาสนี้เองที่ทำให้เราสังเกตุเห็นจักรยานคันเด่นคันหนึ่งในบูธของ FSA ที่มีผู้คนรายล้อมอยู่อย่างหนาแน่น มันคือ จัรกยานที่ใส่กับชุดขับเคลื่อน FSA K-Foce WE Hydraulic Disc ที่เเพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆในงาน Euro Bike เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เปิดให้มีการทดสอบสาธารณะกันตัวเป็นๆ ดังนั้น นี่คือวันแรกที่ทาง FSA จัดให้มีการทดสอบลองเล่นอย่างเปิดเผยก็ว่าได้ แน่นอนว่าพวกเราก็รีบต่อคิวจองรถเพื่อนำมาทดสอบกันเลยอย่างไม่รอช้า และไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะได้คิวนัก (เพราะเรามีบัตรสื่อห้อยคอเป็นใบเบิกทาง) ไม่นานเราก็ได้รถในไซส์ของเราพร้อมช่างมาปรับระยะต่างๆให้พร้อมออกไปขี่บนเส้นทางทดสอบ

แม้ว่าระยะทางเพียง 2 กม. ของถนนทดสอบ และเสื้อผ้าที่ไม่ได้อำนวย อาจจะไม่เหมาะสำหรับการทดสอบเพื่อรีดเอาสมรรถนะของจักรยานออกมาได้ แต่มันเพียงพอสำหรับการทดสอบชุดขับเคลื่อนแบบสัมผัสแรกอย่างแน่นอน รถที่ได้มาทดสอบคือ Argon 18 ตัวเทพเรือธง(พร้อมชุดแฮนด์ใหม่ล่าสุดจาก FSA ที่วินเชนโซ่ นิบาลีใช้) และเพียงการสัมผัสแรกก็ทำให้เรารู้สึกประทับใจในการออกแบบ WE อย่างทันที แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนไปครับ มาทำความรู้จักกับ WE กันสักหน่อย พอเป็นข้อสังเขป

 

FSA WE คือโครงการพัฒนาชุดขับเคลื่อนครบชุดครั้งแรกของค่าย FSA ที่ปกติออกชิ้นส่วนต่างๆมาเป็นตัวเือกมากมาย ซึ่งติดตากันว่าเป็นชิ้นส่วนทดแทนประกอบกับรถราคาไม่แพง หรือใช้ลดต้นทุนชิ้นส่งนขับเคลื่อนของรถต่างๆมาเป็นปกติ และโดนเข้าจว่าเป็นแบรนด์จากไต้หวันอย่างแน่นอน อันที่จริง Full Speed Ahead นั้น มีโรงงาน ฐานการผลิตหลักและสำนักงานอยู่ในไต้หวันก็จริง ทว่าแบรนด์นี้คือแบรนด์จากอิตาลี ที่เน้นพัฒนาอุปกรณ์ระดับไฮเอ็นด์มากมาย ตั้งแต่เฟือง เกียร์ ล้อ และชิ้นส่วนต่างๆ แต่พวกเขาไม่เคยพัฒนาและทำตลาดชุดขับเคลื่อนครบชุดได้ประสบความสำเร็จเลย ในอดีตมีความพยายามผลักดันชุดขับเคลื่อน K-Force ออกมาครั้งหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป จนกระทั่งราว 3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาออกแถลงว่ากำลังพัฒนาชุดขับเคลื่อนไฟฟ้า และพร้อมนำออกสู่ตลาดได้ในไปี 2018 อย่างแน่นอน ซึ่งแนวคิดคือการออกแบบชุดขับเคลื่อนที่ใช้งานได้จริง เสถียร ติดตั้งง่าย และปรับแต่งได้ตามต้องการ ดังนั้น WE จึงออกมาในรูปแบบของการออกแบบ Semi-Wireless

ซึ่งหมายถึงการควบคุมผ่านระบบไร้สาย จากชิฟท์เตอร์ ไปสู่สับจานและตีนผี ที่เชื่อมกันไว้ด้วยาสายไฟและแบทเตอรี่ พูดง่ายๆก็คือ ที่ชิฟท์เตอร์คุณจะมีเพียงสายเบรคเท่านั้น ไม่มีสายไฟเชื่อมไปยังสับจานและตีนผีหรือผ่านกล่องควบคุมแบบค่าย Shimano  ส่วนระหว่างสับจานและตีนผี เชื่อมต่อกันด้วยสายไฟไปยังแหล่งพลังงาน แตกต่างจาก Sram eTap ทั้งหมดนี้ช่วยให้การติดตั้งทำได้เรียบง่ายขึ้น ในขณะที่มีการใช้งานที่ยาวนานและมั่นใจได้มากขึ้นในทางกลับกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลพวกเราว่า การชาร์จไฟหนึ่งครั้ง สามารถใช้งานได้ราว 3,000-5,000 กิโลเมตร หรือการใช้งานคิดต่อการปั่นเท่ากับ 50-90 วัน หากคุณปั่นจักรยานทุกๆวันสม่ำเสมอ วันละ 60 กิโลเมตร หรือค่าเฉลี่ยการปั่นจักรยานทั่วไปจาก Strava คุณจะใช้งานได้ราว 3 เดือนกว่าๆถึง 6 เดือน ต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งนั่นเอง

 

มาถึงการใช้งานที่เราได้ทดสอบจับเต็มมือ พบว่า ชิฟท์เตอร์ของ WE มีขนาดเล็กกระชับมือมากๆ แม้แต่ในรุ่น Hydraulic Disc ก็ยังถือว่ามีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในท้องตลาด ช่วงปลายไม่ปูดโปนออกมามากนัก ปุ่มกดสำหรับเปลี่ยนเกียร์มีผิวสัมผัสที่ให้ความกระชับ ขนาดใหญ่ หาพบและใช้งานได้แทบจะทันทีที่วางมือลงไป การตอบสนองของปุ่มกดค่อนข้างลึกและหนักแน่น ให้ความรู้สึกถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความแข็งแกร่ง ทนทานมากกว่าอุปกรณ์ไฮเท็คที่บอบบาง ระยะรีชของเบรคอาจจะไหลไปสักนิดเมื่อเทียบกับมือของชาวเอเชีย แต่ก็สามารถปรับให้เข้ามาใกล้ได้อย่างไม่มีปัญหา และแน่นอนว่า ฟังก์ชั่นเด็ดของ WE อีกประการคือการปรับปุ่มต่างๆให้ทำงานได้อย่างมีอิสระตามใจเาต้องการ โดยพื้นฐานปุ่มถูกตั้งมาให้ใกล้เคียงกับค่าย Shimano กล่าวคือ ชิฟท์เตอร์มือขวา ควบคุมตีนผี ปุ่มบนกดให้ขึ้นเฟืองใหญ่ ปุ่มล่างกดให้ลงเฟืองเล็ก ส่วนชิฟท์เตอร์ทางด้านซ้ายควบคุมสับจาน ในแนวทางเดียวกัน แต่คุณสามารถเลือกให้ปุ่มทั้งสองข้าง (รวม 4 ปุ่ม) ทำงานได้ตามชอบใจ อยากจะกดแบบไหน อย่างไร ก็แล้วแต่สบายใจได้เลย

 

รวมถึงความสามารถในการปรับการตอบสนองของมอเตอร์ในสับจานและตีนผีให้ทำงานเร็ว หรือช้าลง ตามที่พวกเราได้ทดสอบแบบมาตรฐานพบว่า การตอบสนองของ WE นั้นไม่ทันใจเร็วเท่ากับค่าย Shimano อย่างรู้สึกได้ทันที โดยเฉพาะที่ตีนผี ที่รู้สึกว่ามันนอกจากจะช้าแล้วยังมีอาการหน่วงด้วยนิดๆ ทว่าเมื่อปรับให้ตอบสนองในแบบเร็วขึ้น ก็เรียกว่า WE ทำงานได้อย่างน่าพึงพอใจ อาจจะไม่เร็วด่วนถูกใจสายใจร้อน แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากทั้ง eTap และ EPS แบบเป็นประเด็น และกดค้างทำงานตอบสนองได้ดีเยี่ยม สับจานหน้าอาจจะไม่ไวฟ้าแล่บแบบ eTap แต่ก็เนียนและขึ้นหรือลงได้อย่างทันทีทันใด ฟิลลิ่งอาจแตกต่างไปบ้างในจังหวะการสับโซ่ แต่จัดว่าทำงานได้ดีและสนุก

 

เราได้ทดลองเปลี่ยนเกียร์ไปมาอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกันทั้งสับจานและตีนผี รวมถึงรูดเฟืองทีละหลายๆเฟือง ไต่ไปในทางคดเคี้ยว เนินยกขึ้นลงแบบทางทดสอบเสือภูเขาเพื่อวัดใจกับการตอบสนองของชุดเกียร์ พบว่าการทำงานของระบบไฟฟ้าจัดว่าน่าพอใจมากๆ โซ่ไม่ตก ไม่มีอาการติดขัดให้กวนใจ แถมใช้เวลาปรับตัวใช้งานกับจังหวะต่างๆได้ไม่นานเลย ถือว่าใครๆมาจับก็เรียนรู้ทำความคุ้นมือกันไม่ยากเกินไป อาจจะมีไม่คุ้นมือกันบ้างก็เรื่องของฟิลลิ่งการเบรคที่ค่อนข้างแตกต่างจากค่ายอื่นๆ ซึ่งมาดูกันเลยว่า Hydralic Disc ตัวแรกแบบเต็มสูบของชุดขับเคลื่อนค่ายนี้ให้ฟิลลิ่งออกมาอย่างไร

ถ้าคุณเรียก Shimano ว่านุ่มลึกนวลมือ และเรียก Sram ว่าจัดจ้านทันใจ เมื่อสัมผัสกับ Disc ของพวกเขา คุณจะพบความแปลกเมื่อมาลอง FSA เพราะระยะเบรคที่ลึกมากเมื่อเทียบกับทั้งสองค่าย และการไล่แรงเบรคที่ทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อบีบเข้าใกล้ระยะสุดมือ แรงเบรคขจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ในการใช้งานเราพบว่า เราสามารถเลียเบรคได้ง่ายและเบามือเมื่อกดเบรคเข้าไปเพียงนิดหน่อย แต่เมื่อเกินครึ่งทางของระยะเบรคไปแล้ว ควรคิดให้ดีก่อนจะกำเบรคเพิ่ม เพราะ แรงเบรคจะพุ่งทะยานขึ้นอย่างมากมาย มันน่าจะเป็นผลจากระบบการทำงานของน้ำมันภายใน และการออกแบบให้เบรคตอบสนองได้อย่างหลากหลาย แต่ยังคงสร้างกำลังเบรคมากๆใดหากต้องการ ซึ่งนับว่าเป็นการออกแบบที่ยอดเยี่ยม แต่คนใช้คงต้องเรียนรู้จังหวะกันสักนิด ต่างจากอีกสองค่าย ที่ไปกันคนละทางอย่างชัดเจน

การดูแลรักษาและการติดตั้ง ทาง FSA ให้ความมั่นใจว่านี่คือระบบดิสค์เบรคเสือหมอบที่เรียบง่าย และต้องการการดูแลไม่แตกต่างไปจากระบบเบรคเสือภูเขาที่มีมาอย่างยาวนาน และลดโอกาสที่จะร้อนจนทำงานไม่ได้ไปด้วยการออกแบบทั้งใบดิสค์และรายละเอียดด้านกลไก ซึ่งก็น่าจะเป็นกำแพงหนึ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากยุคเบรคปกติมาเป็นดิสค์เบรคสำหรับอีกหลายต่อหลายคน ทว่าอย่างไรก็ตาม จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ที่โลกของจักรยานน่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

 

โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณ Taipei Cycle Show ที่เอื้อเฟืองสนับสนุนค่าใช้จ่ายและเชิญพวกเราไปเป็นสื่ออย่างเป็นทางการ ตัวแทนจากประเทศไทยเพียงเจ้าเดียว และการเดินทางจากสายการบิน NokScoot ที่พาเราบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่กรุงไทเป สบายๆทุกๆวัน

จุดที่น่าสนใจ: การใช้งานที่ง่ายและการออกแบบที่เข้ามือ

จุดที่อาจผิดหวัง : ราคาจำหน่ายและตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่ยังไม่ชัดเจน

November 5, 2018 cyclinghub 0 Comment