ทำความรู้จักกับชุดขับเคลื่อน Shimano 105 R7000

 

รู้กันหรือไม่? ว่าทีมชาติญี่ปุ่น ใช้รถฝึกซ้อมใส่ชุดขับเคลื่อน Shimano 105 และรู้กันหรือไม่ว่า Shimano 105 นี่แหละคือความภูมิใจของค่ายชุดขับเคลื่อนยักษ์ใหญ่จากญีุ่ปุ่น หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ผลักดันให้พวกเขาเติบโตจนขึ้นมาเป็นหนึ่งในเจ้าระบบเกียร์จักรยานได้ในที่สุด เพราะเหตุผลง่ายๆว่า นี่คือชุดขับเคลื่อนที่มีความคุ้มค่า ต่อราคาและสมรรถนะของตัวมันเองลงตัวอย่างมาก แนวความคิดของการสร้างชุดขับเคลื่อนที่ถอดเอาจุดเด่นของรุ่นสุงๆทั้ง Dura Ace และ Ultegra แต่ปรับให้สามารถผลิตได้ในราคาจำหน่ายที่เข้าถึงกับนักปั่นส่วนใหญ่ ทั้งในรูปแบบของชุดขับเคลื่อนแยกจำหน่าย และการติดตั้งประกอบมากับจักรยานสำเร็จ (OEM) ล่าสุด Shimano ได้ปล่อยเอา 105 ในรุ่นล่าสุดออกมาสู่ตลาด โดยมีรหัสใหม่ในซีรีส์ R7000 ซึ่งกำลังจะมาในไม่นานนี้

 

พื้นฐานของ R7000 คือการถอดเอาจุดเด่นของ Dura Ace และ Ultegra เวอร์ชั่นล่าสุดเข้ามาให้ใช้กันในราคาที่ย่อมลงมาอย่างมาก โดยปรับให้มีช่วงอัตราทดที่กว้างกว่าเดิม ครอบคลุมการใช้งานในการปั่นที่หลากหลายมากขึ้นในชุดเดียว ปรับปรุงการจับให้เหมาะมือมากยิ่งขึ้น และมาให้เลือกใช้ได้ทั้งแบบสีดำและสีเงินแนวคลาสสิค ซึ่งน่าจะเข้ากันได้ดีกับเสือหมอบหลายๆตัวที่กำลังจะมาในอนาคต

ชิฟท์เตอร์คือสิ่งแรกที่สังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เพราะรูปทรงโดยทั่วไปถูกถอดแบบมาจากรุ่นพี่อย่างชัดเจน มีขนาดที่เล็กเพรียวลง จับได้ถนัดมือมากขึ้น แม้แต่รุ่นสำหรับระบบเดิสค์เบรคแบบไฮโดรลิคส์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ Shimano จับเอาไฮโดรลิคส์มาใส่อยู่ในระดับของ 105 อย่างแบบเต็มตัว (ST-R7020) แถมการมาของชิฟท์เตอร์ที่ออกแบบมาให้มีขนาดกระชับลง ให้เหมาะสมกับนักปั่นมือเล็กไม่ว่าจะเป็นตลาดเอเชีย เด็ก หรือนักปั่นหญิง ซึ่งข่าวนี้เราได้เผยแว่วๆมาจากทีมงานของ Shimano มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ในที่สุดก็ออกมาอย่างเป็นทางการในรหัส ST-R7025

สำหรับระบบเบรคใหม่ ในรหัส BR-R7000 ออกแบบมาให้รองรับยางหน้ากว้างได้ที่ 28 มิลลิเมตร ในรูปแบบ Direct Mount สำหรับเบรคแบบริมเบรค ส่วนเบรคในรูปแบบไฮโดรลิคส์ ก็มีให้เลือกใช้ได้ในรหัส SM-RT70 ซึ่งใช้ผ้าเบรคร่วมกับรุ่นใหญ่อย่าง Ultegra และ Dura Ace

ชุดจานหน้าก็ถอดแบบมาจากรุ่นใหญ่อย่างแทบจะไม่ผิดเพี้ยน แต่มาในสีดำล้วนและสีเงิน และใน FC-R7000 มาใหม่กับตัวเลือกขายาว 160 มิลลิเมตรสำหรับนักปั่นสาวหรือนักปั่นที่มองหาขาจานที่สั้นกว่าที่มีอยู่ ดังนั้นจึงมีความยาวขาจานให้เลือกตั้งแต่ 160, 165, 170, 172.6 และ 175 และมีฟันจานหน้าให้เลือกเล่นได้ที่ 53/39, 52/36 และ 50/34 ฟัน

ชุดเฟือง Shimano 105 ในรหัส CS-R7000 รองรับความต้องการของนักปั่นครอบคลุมสภาพเส้นทางหลากหลายมากขึ้น มีตัวเลือก 11-25, 11-28, 11-30 และ 11-32 นอกจากนี้ถ้ายังไม่สะใจ ยังมีตัวเลือก CS-HG700-11 มาในชุดฟัน 11-34 ซึ่งสามารถนำไปร่วมใช้กับชุดโม่ 10 สปีดได้(ต้องมีการรองแหวน)

ในส่วนของสับจานและตีนผีก็มีการปรับเปลี่ยนการออกแบบมากพอสมควร โดยสับจาน FD-R7000 ใช้การออกแบบเดียวกับสับจานของ Dura Ace ซึ่งสามารถสับโซ่ขึ้นจานใหญ่ได้โดยใช้แรงน้อยลง และมีการวางสายเคเบิลที่ลดแรงเสียดทานยืดอายุการใช้งานสายมากยิ่งขึ้น ไฮไลท์คือตีนผี RD-R7000 ที่มีมาให้เลือกในสองรุ่นได้แก่ตีนผีขาสั้น SS ใช้งานได้กับเฟืองใหญ่ที่สุด 25 ถึง 30 ฟัน กับตีนผีแบบขากลาง GS ที่รองรับเฟืองใหญ่สุดตั้งแต่ 28 ถึง 34 ฟัน

สุดท้ายก็ยังคงมีบางเทคโนโลยีที่ยังสงวนเอาไว้ในรุ่นสูงๆ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากสำหรับการตัดสินใจ เพราะเพียงลำพังจุดแตกต่างที่ได้รับการพัฒนาที่กล่าวมาทั้งหมด น่าจะทำให้ Shimano 105 R7000 เป็นหนึ่งในการอัพเกรดที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองหาความคุ้มค่า ทว่าอีกหนึ่งสิ่งที่โลกเฝ้ารอ ซึ่งยังคงต้องรอต่อไปคือฝันที่จะเห็น 105 Di2 ที่จากปากคำของ Shimano ที่ตอบกับเราทุกๆครั้งที่ถามถึง ก็ได้แต่เพียงคำตอบว่า “ยังไม่มีโครงการ”

 

April 9, 2018 cyclinghub 0 Comment