
มาจับของเล่นกันอีกแล้วในวันนี้ ซึ่งรอบนี้ นานๆ เราจะได้มีโอกาสได้ทดสอบหมวกกันน็อคกันเสียที แต่วันนี้ จะขอพามาเกริ่นให้รู้จักกับหมวกแชมป์โลก ที่อยู่บนหัวของ อเลฮานโดร วาลเวอร์เด แห่งทีมโมวี่สตาร์ และเป็นหมวกที่ถูกพัฒนามาร่วมกับนักปั่นทีมโมวี่สตาร์ ต่อเนื่องจากรุ่นก่อน GameChanger (เกมเชนเจอร์) ใบนี้มาในนามกรว่า AirBreaker (แอร์เบรคเกอร์)
ABUS (อาบุส) เป็นแบรนด์ที่ทำอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และได้เข้ามาจับตลาดหมวกกันน็อคจักรยาน ในรูปแบบของหมวก”ทั่วไป” ในตลาดราคาประหยัดหรือระดับกลาง โดยมุ่งเน้นไปที่การสาร้างหมวกเพื่อคนทั่วไปได้สวมใส่ ราคาไม่แพง และแอบใส่เอาดีไซน์ต่างๆ เข้ามาบ้าง ทว่า ในเวลาที่ผ่านมา ตลาดประเทศไทยไม่ค่อยอ้าแขนตอบรับความพยายามนี้สักเท่าไหร่ และเหมือนกับว่า พวกเขารู้ว่า พี่น้องชาวไทยเราไม่ปลื้ม ทางอาบุส จึงได้แปลี่ยนนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยหันมามุ่งเน้นการสร้างหมวกกันน็อคที่ “สุดยอด” สามารถใช้งานรองรับความต้องการของนักปั่นที่มุ่งเน้นไปทางกีฬา ความเร็ว และการแข่งขันมากขึ้น ไม่เพียงความปลอดภัยที่พวกเขาดันเอามาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงลิ่วมาตลอด คราวนี้แหละ พวกเขาก้าวเข้าสู่เส้นทางของสมรภูมิแห่งการพัฒนาหมวกที่ต้องมีความเจ๋ง สู้กับหมวกระดับไฮเอ็นด์ต่างๆ ได้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการ ทำงานร่วมกับโปรทีมระดัสูงของโลก และนี่คือจุดกำเนิดของความสัมพันธ์ร่วมกับทีม โมวี่สตาร์ ทีมโปรจักรยานอันดับต้นๆ ของโลกที่มีดารานักแข่งมากมาย แถมเป้าหมายของการแข่งขัน ยังเป็นรายการแกรนด์ทัวร์อีกด้วย และความร่วมมือนี้เอง ที่เริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ เพื่อพัฒนาหมวกที่พวกเขาเชื่อว่าดีที่สุด ทดสอบกับนักแข่งตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาล จนถึงปลายทางการผลิตขายออกมา นี่ไม่ใช่เพียงการจับหมวกไปยัดหัวโปร เพื่อการตลาดเท่านั้น
ผลลัพธ์ที่เราได้เห็นคือ หมวกรุ่นพี่อย่าง GameChanger ซึ่งจัดเป็นหมวกเสือหมอบแอโร่ฯ ที่มีความแอโร่ฯ สูงที่สุดใบหนึ่ง แต่แล้ว ในความต้องการของโปรนักแข่ง พวกเขาต้องการหมวกที่ครบเครื่องมากกว่าแค่หมวกลู่ลมเท่านั้น ความครบเครื่องนั้น ต้องประกอบไปด้วย น้ำหนักที่เบา การระบายอากาศที่ดี มีแอโรไดนามิคส์ที่ได้เปรียบ และ ช่วยให้การแข่งขันดำเนินไปได้ ดังนั้น จาก “เกมเชนเจอร์” อาบุสได้นำเอาเงาของรูปทรงที่ได้จากการพัฒนารุ่นพี่ มาต่อยอด สร้างเป็นหมวกที่ยังคงจุดเด่นด้านอากาศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเพิ่มความสมบูรณ์ทางด้านอื่นเข้าไป และมันคือการเกิดขึ้นของ แอร์เบรคเอกร์ ซึ่งชื่อนี้ไม่ได้ตั้งมาเท่ๆ แต่มันคือ “แนวคิดทางการออกแบบ” ที่สื่อว่า หมวกใบนี้ ทะลวง ทำลายกำแพงอากศ ไปข้างหน้า ด้วยการออกแบบที่ล้ำลึกในทุุกรายละเอียดเลย
เรื่องของน้ำหนัก หมวก อาบุส แอร์เบรคเกอร์ มีน้ำหนักไม่ถึง 200 กรัม ในไซส์ S และมีน้ำหนักเพียง 226 กรัมในไซส์ L ส่วนไซส์ M ที่เราได้มาทดสอบในรอบนี้ มีน้ำหนักที่ 210 กรัมเท่านั้น แม้ว่านี่จะไม่ใช่หมวกที่เบาที่สุด แต่ก็ถือว่าเบาจนติดอันดับต้นๆ ได้ไม่ยาก ที่มาของความเบานั้น มาจาก การเลือกระบบการผลิตที่มีในหมวกระดับพรีเมี่ยมเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นจะเลือกใช้ เพราะแหล่งผลิตที่ทำเช่นนี้ได้ ยังคงอยู่ในประเทศอิตาลี มีต้นทุนสูง หลักการง่ายๆ คือ หมวกทั่วไป จะมีชิ้นส่วนโครงภายในที่สร้างมาเพื่อเป็นโครงสร้างการกระจายแรง และมีตัวหมวกที่นำมาพอกติดลงไปตามการออกแบบ แต่สำหรับ แอร์เบรคเกอร์นั้น ใช้การผลิตที่ซับซ้อน ชิ้นส่วนหมวกทั้งโครงด้านในและด้านนอก ถูกนำมาขึ้นรูปพร้อมๆ กัน เลื่อนประกบเข้าด้วยกันแทนที่จะเป็นการห่อหุ้มโครงเอาไว้ กระบวนการผลิตนี้ ทำให้สามารถขึ้นรูปที่ซับซ้อนเพื่อการกระจายแรงได้ดี นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ทำให้หมวกมีน้ำหนักน้อยลง จากเนื้อวัสดุที่ใช้ลดลง แต่ได้ความแข็งแรงเท่าเดิมนั่นเอง
จากนั้น เราต้องมาดูกันว่า ความเบานี้ มากับอะไรอีก และแน่นอนว่า หมวกเบาๆส่วนมาก มักมากับเรื่องการระบายอากาศที่ดี เพราะมันมักจะโปร่ง โล่งสบาย แน่นอนว่า แอร์เบรคเกอร์ก็เช่นกัน หมวกมีช่องเปิดขนาดต่างๆมากมายจำนวน 28 ช่อง แต่ช่องเปิดนี้ไม่ใช่หัวใจของการระบายอากาศที่ดี สิ่งที่สร้างกระแสอากาศที่ไหลทะลุหมวกไปเอาความร้อนออกมานั้น คือการออกแบบรูปทรงของหมวก (ที่ได้จากการขึ้นรูปที่ซับซ้อน) ให้เกิดช่องทางที่อากาศไหลเข้าไปได้ด้วยความเร็ว จับกระแสลมที่มาทางเฉียงเข้าไปในหมวกและไหลออกไปทางด้านหลังได้ง่าย ร่องระบายอากาศนี้จะลึกกว่าหมวกทั่วไป แถมยังปรับให้มีระดับความลึกและรูปร่างของช่องอากาศภายใน เปลี่ยนไปตามลักษณะองศาของลมที่เข้ามาสู่หมวกอีกด้วย อธิบายง่ายๆ อีกรอบนะครับ อากาศที่เข้ามาทางด้านหน้าในท่าขี่ต่างๆ จะมีความเร็วสูง ช่องทางเข้าทางด้านหน้า ออกแบบให้มีโครงหมวกที่รูปทรงคล้ายใบดักลมเข้าสู่ภายในแทนที่จะกระจายออกไป จากนั้น ส่วนกลางของหมวก ที่เราใส่ไว้กลางศีรษะ ซึ่งมีความเร็วลมลดลง จะมีความลึกของช่องทางเดินมากขึ้นเพื่อช่วยให้อากาศไหลผ่านไปได้ และที่จุดนี้เอง ที่ความร้อนจะมาสะสมอยู่มาก การบริหารจัดการการไหลของอากาศนี้ ช่วยให้ระบายความร้อนออกไปได้ดียิ่งขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ครั้งแรกที่เราได้สัมผัสหมวกรุ่นนี้ในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ต้องบอกเลยว่า ตั้งคำถามกับ”ตะแกรง” ที่อยู่ตรงกลางหมวกอย่างมาก เพราะมันทำให้หมวกใบนี้ คล้ายกับหมวกเสือภูเขาอย่างเหลือเกิน ดูแล้วไม่เห็นจะซิ่งแบบหมวกเสือหมอบ แต่ตะแกรงนี้้ก็คือที่มาของคำว่า “แอร์เบรคเกอร์” นั่นเอง อาบุส เรียกส่วนนี้ว่า Multi-Speed Grid ตารางที่ทำหน้าที่สร้างความเร็วลมที่แตกต่างกันจนเกิดเป็นแรงกดอากาศที่ต่างกัน และช่วยให้อากาศไหลผานไปได้อย่างดีขึ้น มีผลทั้งในด้านการระบายอากาศและแอโรไดนามิคส์ ในมุมของแอโร่ฯ ก่อน คิดง่ายๆ(อีกแล้ว) ว่ามันทำหน้าที่สร้าง”ผิวสัมผัส” คล้ายๆหลุมดิมเปิลของลูกกอล์ฟ ที่ช่วยให้อากาศไหลเรียบ เลียบไปกับตัวหมวกภายนอกได้มากขึ้น ในขณะที่จะเกิดความต่างระหว่างความเร็วของอากาศที่ไหลภายในและภายนอก เกิดเป็นแรงดันอากาศอันน้อยนิด ที่ช่วยให้อากาศไหลผ่านช่องทาง นำเอาอากาศร้อนไปทางด้านหลังออกไปนั่นเอง ซึ่งนี่ตอบคำถามที่เราคาใจว่า หมกจะทำตะแกรงดักแมลงแบบหมวกเสือภูเขา ทำไม ไม่ทำไว้ด้านหน้าหมวก แต่ดันมาใส่เอาไว้กลางหัวแบบนี้ และก็เช่นเดียวกับหมวกเสือหมอบในปัจจุบัน พวกเขาเน้นช่องเปิดทางด้านหลังมากกว่า เพราะช่องเปิดนี้ คือทางออกของอากาศที่ดี แนวคิดคือ ทางออกของลมที่ดี คือการพาเอาความร้อนออกไปจากหมวกได้ดีกว่าการทำทางเข้าให้ใหญ่ จากกุญแจของความคิดทั้งหมดนี้เอง ที่การออกแบบหมวก เล่นกับกระแสอากาศที่ไหลผ่านไปด้วยความเร็วต่างๆ อันได้มาจากปูมความรู้ในการพัฒนา เกมเชนเจอร์ นั่นเอง
ในด้านดีเทลเล็กๆที่น่าสนใจเมื่อหยิบขึ้นมา ส่วนแรกคือสายรัดที่เบา บางอย่างรู้สึกได้ เลือกใช้เนื้อผ้าที่อ่อนนุ่มไม่ระคายเคือง แถมเคลมว่าใช้เทคโนโลยีในเส้นใย ที่ลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย ทว่ารายละเอียดที่โดนใจเราสุดๆคือการ ออกแบบสายรัดให้มีส่วนหนึ่งที่ปูดนูนเป็นแนวไปตามสาย เพื่อลดการกระพือของสายรัดเวลาปั่นด้วยความเร็วสูงๆ ข้อนี้ ทางอาบุส อธิบายว่า นี่คือสิ่งที่ได้มาจากคำขอของนักปั่นทีม”มวี่สตาร์ ที่รำคาญสายรัดหมวกเวลาพวกเขาดิ่งลงเขาด้วยความเร็วสุง
ภายในหมวก ยังต้องแปลกใจและประทับใจกับการออกแบบที่ลงลึก ด้วยตัวบุด้านในที่แตกต่างจากชาวบ้านที่ยึดโฟมบุด้านในไว้ด้วยกาว หรือตีนตุ๊กแก แต่นี่พวกเขาปล่อยให้ฟองน้ำบุด้านในลอยตัวเป็นอิสระ ยึดด้วยตัวยึดพลาสติคเพียงไม่กี่จุด เหตุผลของการออกแบบนี้คือ หมวกและศรีษะ กับตัวบุ จะมีพื้นที่ว่างมากขึ้นจากการออกแบบให้ตัวบุไม่แนบสนิทกับหมวก และเมื่อวันที่อากาศร้อนจัด เมื่อตัวบุซับเหงื่อจนชุ่ม มันจะระบายได้ดีกว่าจากกระแสอากาศที่ผ่านไปนั่นเอง ต้องบอกว่า เล็กๆ นิดๆ อาบุส ก็ยังใส่ใจจะออกแบบมาให้ได้ประโยชน์ ทั้งๆที่มันน่าจะสร้างความวุ่นวายในการออกแบบ และทำโครงของตัวบุให้คงรูปอย่างยาวนานตามทรงหมวกได้
นอกนั้นก็เป็นฟีเจอร์มาตรฐานทั่วไป เช่นการใส่รุล็อคแว่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กับการปรับกระชับที่ทำได้ทั้งแนวรอบและปรับขึ้นลง ให้พอดีกับรุปร่างของศรีษะแต่ละคนได้อย่างละเอียด หรือแม้แต่ สามารถใช้กับนักปั่นผู้หญิง ที่รวบผมหรือถักเปีย แล้วให้หางเปีย ลอดออกมาทางด้านหลัง เหนือแนวตัวรัดกระชับได้ ข้อนี้ก็ได้มาจาก การขอร้องของนักปั่นโปรทีมหญิงของโมวี่สตาร์นั่นเอง
แต่ข้อกังขาที่เรายังคาใจก่อนจะมารีวิวให้ฟังกันก็คือ… ทำไมหมวกที่ราคาขนาดนี้ (ราคาตั้งแตะหมื่นบาท) ไม่มี MIPS มาดังเช่นหมวกในยุคปัจจุบันนิยม อีกประการก็คือ ที่สายรัดทางด้านข้าง ไม่มีตัวปรับสายหมวกให้เลลื่อนหน้า-หลังได้ อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของผม ที่หมวกทุกใบ ต้องปรับสายรัดให้มาทางด้านหน้านิดหน่อย ไม่งั้น สายรัดจะไปทาบอยู่ที่หู แทนที่จะอยู่พอดีข้างๆหน้า และท้ายที่สุด คือตัวบุด้านในที่เป็นอิสระจากหมวกนี่แหละ ที่ระยะยาวแล้ว ถ้าเก็บไม่ดี ยัดของสุ่มสี่สุ่มห้าลงไปในหมวก จนทับ ดัน ฟองน้ำในหมวกยับยู่ยี่ มันจะยังคงรูปทรงตามแนวหมวกได้ดีหรือไม่ อันนั้น ต้องรอดูระยะยาวๆกันต่อไป
รอพบกับ การรีวิว ใช้งานจริงในเร็วๆนี้ครับ เพราะคงไม่มีอะไรจะดีไปกว่า การนำหมวกใบนี้ ไปลองใช้ปั่นจริง ทั้งตากแดด ตากฝน ขึ้นเขา ลงเขา และโต้ลมแรงๆทางราบดูซิว่า สิ่งที่พวกเขาคิด ใช้ไปแล้ว จะรู็สึกได้อย่างไรในชีวิตจริง
จุดเด่น
การออกแบบที่น่าสใจในทุกรายละเอียด ความครบเครื่องและ แนวคิดการออกแบบ ที่สำคัญ งานหมวกเรียบร้อยสมราคา
ข้อที่ยังคาใจ
ไม่มี MIPS และ การใช้งานนานๆจะยังคงทนหรือไม่ในบางชิ้นส่วน
ราคาตั้ง 9,xxx บาท ส่วนลดและราคาขาย สอบถามจากผู้นำเข้าและร้านค้าตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้านของท่าน
เอื้อเฟื้อหมวกโดยผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการของประเทศไทย Champion Cycle
*รีวิวนี้เป็นรีวิวอิสระที่ไม่ใช่การโฆษณา เว็บไซต์ไม่ได้รับสินจ้างใดๆเพื่อการทำเนื้อหา การสนับสนุนของให้ทดสอบ เป็นเพียงกระบวนการขอความร่วมมือเท่านั้น
**นี่ไม่ใช่ร้านค้า ไม่ต้องถามราคา (ดักไว้ตรงนี้ ใครอ่านมาแล้วถูกใจ อย่าลืมคอมเม้นต์มาคุยกันเพื่อความเฮฮาได้)