ถ้าเราจะต้องมีจักรยานหลายๆคัน เพื่อใช้ในทุกๆรูปแบบการปั่น จะต้องมีรถเบาๆไว้ขึ้นเขา ต้องมีรถสุดซิ่งไว้ขี่ทางราบ และต้องมีรถขี่สบายเอาไว้ไปปั่นไกลๆ มันจะดีขนาดไหน ถ้าเรามีจักรยานหนึ่งคันที่สามารถใช้ได้มันส์ในทุกๆโจทย์ที่กล่าวมา และนี่คือโจทย์การออกแบบของทีมงาน Cervelo ที่ได้รับมาเมื่อต้องการพัฒนาจักรยานแข่งขัน บนเส้นทางการแข่งแบบคลาสสิค ที่มีทั้งระยะทางที่ยาวไกล เส้นทางที่กระเด้งกระดอน และ ภูเขาชันๆที่ต้องกระทืบขึ้นกันโดยฝีเท้าของโปรทีมชั้นนำ นี่คือกำเนิดของ “Caledonia” (คาเลโดเนีย)  จิ๊กซอว์ที่เติมเต็มให้กับรหัสของจักรยานจากค่ายนี้

ดังเช่นที่กล่าวมาครับ การพัฒนา Cervelo Caledonia อยู่บนพื้นฐานของการออกแบบที่เน้นไปที่การแข่งขัน ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานของมันจึงถูกดึงเอาบุคลิกภาพมิติเฟรมมาจากรหัส R Series (R3 เดิม) และเลือกใช้รูปทรงท่อบางส่วนผสมผสานมาจาก ทรงท่อที่ผ่านการพัฒนามาอย่างยาวนานจนมั่นใจในคุณลักษณะของ S Series (S3 เดิม) ดังที่เราได้เห็นในช่วงท่อคอที่สะท้อนความแอโร่ฯเอาไว้ และสิ่งที่เพิ่มเติมคือการเลือกใช้ชนิดของคาร์บอนไฟเบอร์ในแต่ละส่วนเพื่อสร้างความสามารถในการสลายแรงสะเทือน โดยที่ยังคงความสติฟฟ์ในระดับที่โปรนักแข่งต้องการ ซึ่งก็แน่นอนว่า มันต้องมีน้ำหนักที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

สเป็คน้ำหนักของ Cervelo Caledonia นั้น เปิดมาใน 2 รุ่นได้แก่ Caledonia 5 หรือรุ่นเรือธง ที่มีน้ำหนักเฟรมประมาณ 930 กรัม และ Caledonia หรือรุ่นรองในน้ำหนักเฟรม 1030 กรัม นอกจากนั้นทั้งสองรุ่นยังมีสิ่งที่แตกต่างอีกก็คือ ตัวท็อป Caledonia 5 จะมากับชุดค็อกพิทแบบซ่อนสายสมบูรณ์แบบ ส่วน Caledonia ตัวรอง จะมากับการเดินสายะรรมดาเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ทีมโปรอย่าง  Team Sunweb จะเลือกใช้ Caledonia 5 ในการแข่งรายการคลาสสิคเป็นหลักเลยทีเดียว ด้วยการออกแบบและใช้งานแบบนี้เอง ที่ Cervelo ต้องการสื่อสารว่า นี่ไม่ใช่เสือหมอบสำหรับการขี่กินลมชมวิวอย่างที่เรามักจะคิดเมื่อนึกถึงจักรยานแบบ”เอ็นดูรานซ์” หากแต่มันคือ จักรยานแข่ง ที่ปรับมิติให้ขี่ได้สบายขึ้น รวมทั้งเหมาะสมกับการขี่ระยะเวลานานๆ

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเราพิจราณา Caledonia คือความกว้างของซุ้มล้อ ที่สามารถรองรับยางขนาดหน้ากว้างได้ถึง 34 มม.  รถสำเร็จติดตั้งยางหน้ากว้าง 30 มม. มาตั้งแต่แรกเลย ทำให้เราสามารถเลือกใช้ลมยางที่น้อยลง โดยที่หน้ายางยังกลมและยึดเกาะถนนได้ดี แถมยังมีค่าแรงเสียดทานการหมุนที่น้อยลง ในโอกาสนี้เองที่เราได้ทำการทดสอบสูบลม 80 PSI (น้ำหนักคนขี่ 65 กก.) แทนที่ปกติที่สูบประมาณ 100-110 PSI ซึ่งจริงๆแล้ว เราสามารถสูบลมยางลงไปได้ถึง 60 PSI เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบเส้นทางวันนี้ ไม่ได้มีทางอิฐหรือทางกรวดให้ต้องกังวลใจ จึงเลือกใช้ลมยางที่เน้นไปทางความรู้สึกแข่งขันทางราบมากกว่า

เส้นทางทดสอบ จังหวัดสระบุรี ผ่านเนินเขาขึ้นลง ความชันตั้งแต่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงการไต่เนินชันมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในบางช่วง มีทางลงเขายาวๆความเร็วสูงลัดเลาะตามทิวเขาของอำเภอแก่งคอย ผิวถนนเป็นถนนเรียบทั้งราดยางอย่างดี ผสมกับถนนคอนกรีทที่มีความสะท้านบ้างเป็นบางช่วง จึงถือเป็นเส้นทางที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทดสอบจักรยานคันนี้ ซึ่งแทบจะทันทีที่เริ่มออกตัวมา เราก็พบกับเนินชันดักหน้ารออยู่แบบยังไม่ทันจะเครื่องร้อนก็ได้สนุกกันแล้ว ซึ่ง Caledonia ที่ประกอบมากับชุดขับเคลื่อน Shimano Ultegra แบบดิสค์เบรค สามารถไต่เขาไปได้อย่างไม่ได้ลำบากยากเย็น ที่ความชัน 8-10 เปอร์เซ็นต์ ระยะทางยาว 300 เมตร แม้ว่า Caledonia จะไม่ใช่รถที่กระชากพุ่งทะยานขึ้นไปได้แบบแพะภูเขา แต่ทุกๆแรงขับเคลื่อนที่กดลงไปที่บันได รถก็ตอบสนองและเดินหน้าไปได้อย่างมีชีวิตชีวา

ถ้าคุณได้สังเกตในมิติของรถจะพบว่า Caledonia มีมิติรถที่น่าสนใจมากๆ ได้แก่ ช่วงตะเีกยบหน้าที่มีระยะองศาลาดมากกว่ารถแข่งปกติ ผสมกับฐานล้อที่ยาวขึ้น ส่งผลให้นี่คือรถที่ขี่ได้นิ่งและมีการทรงตัวที่เสถียรมากที่สุดคันหนึ่ง เมื่อปล่อยรถให้ไหลลงเขามา ไต่ระดับความเร็วทะลุ 50 กม./ชม. ไปได้ด้วยเวลาเพียงอึดใจเดียว รถก็สามารถวิ่งลัดเลาะไปตามแนวถนนโค้งกว้างๆได้อย่างง่ายมาก ไม่ต้องการการควบคุมที่ต้องโหนรถกันเลย เมื่อเข้าถึงโค้งแคบ ด้วยดิสค์เบรค และการรักษาแนวของรถที่ดี  รถสามารถออกจากโค้งไปได้แบบนิ่มนวลและรักษาความเร็วได้อย่างสวยๆ พ้นโค้งแล้วเติมสักหน่อย ก็จะไต่ระดับความเร็วขึ้นมาได้ใหม่ แน่นอนว่ามันไม่ได้รู้สึกว่องไวแบบรถแข่งที่ฐานล้อสั้น ตะเกียบหน้าชันๆ แต่สำหรับการปั่นระยะทางไกลๆ เฟรมที่เสถียรและนิ่งแบบนี้แหละครับ ที่ช่วยรักษาร่างกายของเราไม่ให้ต้องมาคอยขี่ คอยขืนจักรยานเอาไว้เมื่ออ่อนล้า เพียงปล่อยตัวให้รีแล็กซ์และสบายๆ ก็จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจักรยานได้ง่ายกว่ามาก

ในช่วงหนึ่งของการทดสอบ ระยะทาง 25 กม. มุ่งหน้าไต่”อุโมงค์ต้นไม้” ที่ได้ทดลองปั่นแบบจัดเต็มกับเส้นทางโรลลิ่งสั้นๆแนวกระทืบเนิน เลือกใช้การขี่แบบแนวพันเชอร์ ออกแรงกระทืบส่งขึ้นเนินสั้นๆไปก่อนจะกระชากปิดท้ายที่ยอดเนิน ส่งให้รถลงเนินไปด้วยความเร่ง ทำแบบนี้สลับไปเรื่อยๆตลอดช่วง จนถึงยอดอุโมงค์ต้นไม้ แล้วปล่อยไหลลงยาวๆ ความเร็วเดินทางมากกว่า 60 กม./ชม. สลับกับการชลอรถเข้าโค้งแล้วสปรินท์ออกจากโค้งไป ซึ่งตลอดระยะเวลาราว 35 นาทีนี้ พบว่า เราแทบไม่รู้สึกเลยว่า นี่คือเสือหมอบที่นิยมเรียกกันว่า”เอ็นดูรานซ์” แม้ว่ารถจะขี่ได้นิ่มสบายตัวมากจากการออกแบบและขนาดของยาง แต่ก็สติฟฟ์เพียงพอที่จะกระแทกตัวไปได้ น้ำหนักที่อาจไม่ได้เบาหวิว กลับไม่ใช่อุปสรรคเมื่อเจอทางโรลลิ่งสั้นๆที่สามารถระเบิดพลังขึ้นไปได้ใน 20-30 ก้านสโตรคการปั่น แถมรถก็รักษาความเร็ว ไหลไปได้แบบเนียนๆ ไม่เจออาการตื้อให้รู้สึกได้เลย

และเมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ ก็พอจะสรุปได้ว่า นี่คือจัรกยานที่ใช่สำหรับคนที่ชอบขี่จักรยานทั้งทางไกลและทางใกล้ นั่นคือถ้าคุณเป็นนักแข่งทางไกล ไกลชนิดขี่กัน 5-6 ชั่วโมงขึ้นไป เส้นทางไม่ใช่ภูเขายาวๆชันๆแล้วล่ะก็ Caledonia น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีมาก ส่วนถ้าคุณเป็นนักปั่นสมัครเล่น ที่ชอบออกรอบบนเส้นทาง 60-100 กม. ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ที่ไม่ได้ขี่แบบ”กระชากเร่งทำเกมส์” จริงๆคุณแทบไม่ได้ต้องการความสติฟฟ์และการตอบสนองแบบดีดนิ้วที่ได้จากรถอย่าง R5 หรือ S5 เลย  ความนิ่งและคงที่ของ Caledonia จะเป็นตัวช่วยให้คุณมีกำลังไปรีดในช่วงท้ายของการปั่นได้อย่างมีคุณภาพ

ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า”สไตล์” นั่นเองครับ แน่นอนว่า นักปั่นสายบู๊ เน้นกระชาก ยิงแหลก พกกระสุนมาเต็มเอว พร้อมปืนลั่นได้ทุกเมื่อที่มีโอกาส Caledonia ไม่น่าเป็นยุทโธปกรณ์ที่คุณจะชื่นชอบ เพราะในความเป็นจริง การตอบสนองแบบนั้นก็ยังไม่สามารถทำได้ในรุ่นนี้  แต่จะมีนักปั่นสักกี่คน ที่ต้องการจักรยานแบบนั้น ไปเพื่อขี่ทำเกมส์การแข่งขันเช่นนี้จริงๆ นักปั่นกว่า 3 ใน 4 ปั่นจักรยานเพื่อพิชิตเส้นทางที่ท้าทายตัวเอง และน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะมากสำหรับการเลือกใช้ Caledonia แม้ว่าคุณจะไปเข้าร่วมงานแข่งจริงๆก็ตาม หากคุณไม่ใช่คนที่จะทำเกมส์เพื่อติดกลุ่มหนีไปได้ในทุกๆเนิน แล้วคอยอยู่กับกลุ่มใหญ่ไปด้วยความเร็วคงที่ ผมว่าเฟรมที่ช่วยให้ขี่ได้ง่ายและสบายขึ้น จะยิ่งทำให้คุณจบการปั่นได้อย่างสนุกสนานมากกว่าด้วยซ้ำ

จุดเด่น : ขี่ได้ง่ายมาก สมดุลย์และเสถียร รองรับยางขนาดใหญ่ ตอบสนองได้ดีในระดับน่าพึงพอใจ

จุดด้อย : ถ้าคุณชอบรถที่ซุกซน ปราดเปรียว และขี่แบบบู๊ ดุดัน นี่ไม่ใช่เสือหมอบที่คุณจะนิยม

Caledonia เหมาะกับใคร ?

อันดับแรกของบอกว่า ถ้าเป็นนักปั่นมือใหม่ ที่มองหาจักรยานดีๆใช้ให้คุ้มเป็นคันแรก หรือจะอัพเกรดมาใช้จักรยานระดับสมรรถนะสูงขึ้น นี่คือสเือหมอบที่ขี่ได้ง่าย ควบคุมได้ง่าย และช่วยให้ขี่งานต่างๆได้อย่างไม่ต้องกังวล

หากเป็นนักปั่นที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว พบว่า รถแข่งที่ซิ่งๆดุดันไม่ใช่ทางที่คุณต้องการ แต่ยังอยากได้คาแร็คเตอร์ที่แข่งขันได้แบบไม่หนักตัว หนักใจ Caledonia เป็นหนึ่งในเสือหมอบไม่กี่คันในท้องตลาด ที่ผสมผสานดจทย์นี้เอาไว้ได้แบบลงตัว

October 1, 2020 cyclinghub 0 Comment