คนถามผมมาหลังไมค์เพียบว่า “ทำไมถึงมาขี่ Colnago” ตั้งแต่เปิดตัวฟ้าแล่บ แพล่บๆว่ากำลังทำโปรเจ็คประกอบร่างพระโคคันเก่งอยู่ ก็เริ่มมีถามมาหลังไมค์และหน้าไมค์ ให้เล่าถึงเหตุผลสำคัญที่ย้ายค่ายมาจับเอารถที่ดูแล้วไม่น่าจะน่าสนุกตรงไหน หรือเป็นเพราะพร้อมด้วยวัยและสังขาร นี่ก็เป็นข้อที่เดากันไปต่างๆ นานา แต่คราวนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังกันหน่อยครับว่า เจ้า”พระโค” คันดำมัน ที่ดูองค์ประกอบไม่ได้เหมือนพระโคตามสังคมนิยมทั่วไปของผม มันมีที่มาที่ไปอย่างไร และแน่นอนว่า เป็นคำตอบที่หลายท่านอาจต้องเอียงคอเมื่ออ่านจบ

พื้นฐานผมชอบปั่นรถเสือหมอบที่สนุกสนานเป็นทุนเดิม ไล่ย้อนกลับไป Bianchi GIRO ซึ่งเป็นรุ่นเฉาพะของที่อเมริกา เฟรมอลูมินั่ม หางคาร์บอน ซึ่งอันที่จริงมันคือแฝดกับเจ้า Bianchi 1885 รุ่นอลฯรุ่นกลาง คุ้มค่าคุ้มราคา แต่สิ่งสำคัญที่ผมเลือกใช้คันนั้นเพราะในตัวรหัสของอเมริกา องศาไม่ได้เหมือนกับรถแบรนด์นี้ในอิตาลี มันกลับมีองศาเหมือนเป๊ะๆกับรุ่น EV4 หรือรุ่นที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นมิติแบบ HoC พูดอีกแบบคือ เป็นมิติรถแบบเดียวกับตัวแข่งรุ่นโปรอย่าง FG-Lite กับ 928 SL ในตอนนั้น เพราะผมเชื่อในมิติของรถแข่งมาตลอด ฐานล้อสั้น ตะเกียบโซ่สั้น หน้าชัน ไวคล่องตัว ภายหลังก็เปลี่ยนไปใช้ 928 T-Cube เฟรมคาร์บอนระดับแข่งขันเฟรมแรกในชีวิต ที่ชอบหมดยกเว้นความฉับไวที่หายไป เพราะเจ้า 928 T-Cube มีองศาแบบ B4P ที่สมัยนั้นจัดเอาไว้เป็นรถแข่งแต่ไม่ดิบเถื่อนเท่าสายรหัสข้างเคียง

จากนั้นไม่นานก็ได้คราวย้ายค่ายอย่างเต็มกำลัง เมื่อผมย้ายไปใช้ Specialized S-Works SL2 ซึ่งทำให้รู้จักกับคำว่า “ซน” เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อเทียบกันแล้วแม้ว่าจะเป็นรถแข่งในระดับโปรทีม เรือธง ท็อปสุดแล้วเหมือนกัน แต่เจ้าหมอนี่ เป็นลิงบนถนนดีๆนี่เอง ใช้งานได้ไม่นานก็พอดีว่ามีผู้ใหญ่ใจดี จัดหา S-Works SL3 มือสองสภาพงามมาให้จับ และตั้งแต่บัดนั้น เฟรมดำด้านเรียบๆ ก็อยู๋คู่กับผมเป็นอาวุธหลักที่ปั่นเคียงข้างกันเป็นหมื่นกิโลเมตร ผ่านเส้นทางทั่วทุกหนแห่ง แข่งก็หลายที่หลายสนาม งานวัดใจ ยันงานชิงแชมป์ประเทศไทย(สมัยเพิ่งเปิดรุ่นอายุ) ความประทับใจของผมนอกจากความซนเหมือนเดิมจาก SL2  ก็คือความดิบ เถื่อน กระด้าง เฟรมคาร์บอนในตำนาน ที่สะท้านสะเทือนไส้ติ่งยันต่อมลูกหมากได้แบบเฟรมอลูมีนั่ม บุคคลิกที่ไม่มีทางหาได้จากที่ไหนอีกแล้วแน่นอน (เพราะมันไม่ใช่เรื่องดีเลย)

ผ่านเลยมา 4 ปี ในที่สุดผมก็ทนการรบเร้าของกระแสแอโร่ฯที่มาถึงนานปีไม่ได้ ในที่สุดก็หันไปจับกับ Giant Propel หนึ่งในเฟรมแอโร่ฯที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในตลาด และล้ำหน้านำสมัยอยู่มากในเวลานั้น จากรถซนเป็นลิง เถื่อนเป็นลิงป่า สู่รถนิ่ง สุขุม คุณชายเงียบแต่แรงปลาย ขี่สบายอย่างกับเอาผ้าไหมมายัดไว้ที่เบาะรองนั่งอีกชั้น ความใกล้เคียงกับรถไทม์ไทรอัลของมันทำให้ผมต้องปรับตัวอยู่นานกว่าจะคุยกันถูกคอได้ ซึ่งก็เป็นเดชะบุญส่งที่ทำให้ในเวลาไม่ถึงปี หลังจากที่สนิทสนมกับเจ้ายักษ์บินได้ ก็ได้เวลาพบรักกับคันใหม่อีกหนึ่งคัน ที่อยู่กันนานจนน้ำตาลเริ่มตกตะกอน

Kemo KE-R5 ถูกส่งมาให้ทดสอบในช่วงเวลานั้น และทำให้ผมสะดุดใจกับอะไรบางอย่างในเสือหมอบคันนั้น แม้ว่าจะได้ทดสอบ KE-R8 ซึ่งเป็นรถตัวโปรทีมใช้ระดับลง Tour de France แต่ท้ายที่สุดผมเลือกที่จะขี่ KE-R5 นี่แหละ เพราะมันคือบุคลิกเดียวกับที่ผมเคยพบใน S-Works SL3 ด้านความดิบดุดันของมัน สะท้านสะเทือนไส้เขย่าแบบนี้ ได้สัมผัสแล้วเหมือนย้อนวัยไปรักแรกครั้งยัง 14 ตอบสนองแน่นเท้าแต่ไม่ต้นจัดเพราะมันเป็นรถแอโร่ฯกึ่ง น้ำหนักไม่ได้เบาบินได้แบบพวกรถทั่วไป ซึ่งในทางกลับกันก็นำเสนอมาพร้อมกับอาการ “ปลายไหล” แบบที่ SL3 ไม่เคยให้มาได้ แม้จะไม่ติดใบพัดลัดขอบฟ้าแบบ Proepl ก็เถอะ นี่ก็เป็นคู่ชีวิตอีกหนึ่งคันที่พากันไปไหน มาไหนทั่วทุกแห่งหน ทั้งไทย ยุโรป ไต้หวัน เอเชีย เรียกว่ารักกันจนกลืนกิน ถ้าเป็นคนก็ลูกเต็มบ้านแล้วล่ะ

ซึ่งในระห่างนั้น นับย้อนกลับไปสิบกว่าปี ผมผ่านเสือหมอบมารวมๆกันน่าจะมากกว่า 50 รุ่นที่ส่งมาทดสอบ ยาวบ้าง สั้นบ้าง ปะปนกันไป ไม่นับประเภทขอลอง 20-30 กิโลเมตร (ถ้านับอาจมีร้อย) ผมได้พบสัจธรรมบางอย่างในการเลือกจักรยาน ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของการออกแบบ ความดิบสะท้าน มันส์เท้า กายเป็นคำว่า “กระด้าง” อย่างเต็มปาก ในยุคใหม่นี้ ที่ความสบายคือทุกอย่างของเฟรมที่ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะรถเอนดูรานซ์เท่านั้น แต่มันรวมถึงเสือหมอบทุกชนิดต้องสามารถสลายแรงสะเทือนได้ และผลวิจัยใหม่ที่พบว่า เฟรมที่ลดการกระเด้งกระดอน จะยิ่งเกาะถนนและสิ้นเปลืองแรงน้อยกว่า นี่คือสิ่งที่ผมค้นพบจากแนวโน้มรถใหม่ๆที่เข้ามาในระยะ 2-3 ปีหลังๆ

ผมจึงตั้งโจทย์เอาไว้ก่อนเลยว่า ผมต้องการรถที่ขี่สบายไว้ก่อน แต่มันต้องยังซุกซนตามนิสัย ว่องไวตามสันดาน ผมมีตัวเลือกอยู่ในใจ 3 ตัว ซึ่งมาถึงตรงนี้ผมไม่ขอบอก (แต่ถ้าใครรู้จริงจะทายถูก)  รถที่น้ำหนักไม่มากเกินไป ขี่สบายได้ด้วย เกณฑ์น้ำหนักของผมคือไม่เกิน 9 ขีด ด้วยความเบื่อรถแอโร่ฯคันเดิมที่เฟรมล่อไป 1.1 กิโลกรัม  (มาถึงตรงนี้ ลองไ่เรียงดูครับ ฟรม 9 ขีด ที่ขี่สบายมากๆมีอะไรบ้าง) อย่างไรก็ตาม ผมยังเป็นคนที่ลุ่มอยู่ เส้นทางปั่นส่วนมากก็เป็นทางราบ เนินเขาเบาๆบางๆ ที่ถ้าฝรั่งมันมามันเรียกแบบนี้ว่า”flat” (ฝรั่งเศสบอกว่าขี่ไปทางนี้เป็นทางราบ พอขี่ไป โอ้ววว นี่มันสวนผึ้งชัดๆ) ดังนั้นในใจก็ยังมองรถแอโร่ฯอยู่บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไรเพราะรถแอโร่ฯในเวลานี้ หาเฟรม 9 ขีดมีเยอะแยะไปหมด เอาล่ะสิ แล้วทำไมถึงมาตกที่พระโค?

ผมเป็นคนหลงใหลในมิติแห่งการออกแบบของรถอิตาลี

ข้อนี้ถ้าคุณแยกแยะมันออก คุณจะสัมผัสกับบางอ่างของรถอิตาลีแท้ๆได้ จากปกติที่ผมขี่เสือหมอบอเมริกัน มาถึงเสือหมอบอิตาลีผสมสวัตเซอร์แลนด์ และทดลองรถมามากมาย ผมประทับใจกับ Pinarello Dogma F8 ในแง่ของการตอบสนองแบบเฟรมอิตาเลียน ในคราวที่ได้ทดสอบที่อิตาลี ในขณะที่ผมกำลังจะแหกโค้งตกเขา รถกลับตอบสนองกับน้ำหนักร่างกายที่ถ่ายเทเพื่อดึงขืนรถเอาไว้ และเอาตัวเองกลับมาตั้งตรง เพียงเสี้ยววินาทีที่รถหลุดออกจากถนนไปอยู่บนทางกรวดที่มันพยศลื่นสะบัดไปมาให้ใจหาย และวินาทีที่ผมกำลังหาท่าลงพื้น มันก็กลับมาตั้งตรงและมุ่งหน้ากลับสู่ถนนลงเขาต่อได้อีกครั้ง นั่นทำให้ผมไปทำการบ้าน และกลับมาสู่แนวคิดเดิมว่า เฟรมอิตาลี แบบอนุรักษ์นิยม มีมนต์เสน่ห์โดยเฉพาะเรื่องของการตอบสนองต่อการคุมรถซ่อนอยู่ แม้ว่า F8 จะมีบางอย่างที่ต่างจากองศาแบบคลาสสิคไปบ้าง แต่โดยรวม ท่อนั่ง ท่อคอ และสัดส่วนฐานล้อ มันก็คือรถอิตาลีแท้ๆนั่นแหละ

ผมจึงเริ่มมองสายตามาที่ V2-r เสือหมอบที่หลายคนมองข้ามในทันที เพราะอะไร? ลองรวบรวมทุกข้อที่ผมกว่าวมาเข้าด้วยกันนะครับ

-เฟรมที่มีมิติแบบอิตาเลียนแท้ๆ

-น้ำหนักเฟรมที่กำลังพอดี 9 ขีด

-มีความแอโร่ฯในตัวเอง

-ขี่สบาย ซับแรงสะเทือนได้ดี

มาดูข้อแรกกันก่อนครับ ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือมิติรถคลาสสิค แม้ว่าท่อนอนจะลาดลงมากตามยุคใหม่ แต่ลากเส้นเชื่อมแล้ว มิติองศาของมันใกล้เคียงกับรถอิตาเลียนแท้ๆยุคเก่า ท่อคอที่ไม่ลาดมากจนรถืื่อ และไม่ชันมากจนหน้าไว ในขณะที่ท่อนั่งไปด้านหลังนิดหน่อย ปรับให้จุดศูนย์ถ่วงรถอยู่ช่วงกลางอย่างพอดิบพอดี ฐานล้อไม่ยาวมากแต่ตะเกียบโซ่ไม่สั้นกุด ระยะก้มไม่เยอะแบบมุดดิน ในขณะที่ระยะเอื้อมนับว่ายาวเอาเรื่องแบบรถแข่งยุคคลาสสิค นี่คือมิติที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ด้านน้ำหนักเฟรมที่อยู่ราวๆ 9 ขีด ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์ได้แบบเฉียดๆ นี่ไม่ใช่เสือหมอบที่เบาหวิวๆ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะสามาารถทำให้ V2-r เบาลงได้มากกว่า V1-r แต่วิศวกรเลือกที่จะเพิ่มน้ำหนักแล้วได้ความสติฟฟ์เข้ามามากขึ้นแทน นับว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่ามีใน Colnago อย่างไรก็ดีหากดูดุลยภาพของสมรรถนะก็จะพบว่า การเลือกทางนี้ถือว่าชอบแล้วด้วยเหตุผลทั้งปวง น้ำหนักเบาลงไปอีก 100 กรัม แต่ความสติฟฟ์ไม่สะใจแบบนี้ ก็อาจไม่น่าแอบอิงพิงกายนัก และนั่นก็เป็นเหตุผลให้ V2-r เป็นรถประจำการของทีม Team UAE Amirates และเป็นรถคู่ใจของแดน มาร์ติน แทบตลอดทั้งปี

ถึงแม้รูปทรงจะไม่ได้เฉี่ยวอวกาศมาก แต่มันคือเสือหมอบแอโร่ฯ แรกที่ Colnago เดินออกจาก”Comfort Zone” ของตนเองก่อนจะมี concept ตามมา เพราะเมื่อแรกเปิดตัว V1-r มันถูกนิยามว่าเป็นเสือหมอบทั่วไปที่ใส่ความแอโร่ฯมาให้เลือกเล่นได้ ซึ่งสะท้อนความคิดของ Colnago ที่จะสร้างรถอันครบด้วยดุลยภาพแห่งสมรรถนะไว้ในคันเดียว (แต่ตอนหลังก็ส่ง Concept ตามมาเป็นรถแอโร่ฯสุดติ่ง) นี่ไม่ใช่เสือหมอบที่เซฟวัตต์ได้เป็นกำมือ แต่ผลจากที่พวกเขาวิจัยร่วมกับค่ายรถ Ferrari  ทำให้ได้รูปทรงที่พอดี พอเหมาะ ตะเกียบหน้าที่ต่อเนื่องช่วงท่อล่าง ท่อล่างที่ไม่ต้านอากาศมากนัก และท่อนั่งกับหลักอานหน้าตัดตัว D  ไม่มากก็น้อย นี่คือเสือหมอบที่ใส่ความแอโร่ฯ มาด้วยแน่ล่ะ

สุดท้ายคือความสบายไร้สะเทือน ซึ่งใครๆก็รู้ว่า”พระโค” ปั่นสบายมาทุกรุ่นตั้งแต่สมัยโนเกียเกมส์งู พอมายุคคาร์บอน ก็ยังป่นได้สบายสุดขีดเช่นเคย แม้ว่าไม่ใช่ระดับที่ได้จากรถเอนดูรานซ์สมัยใหม่ ซึ่งใส่ระบบซับแรงเอาไว้ภายในหลากหลายแนวคิด แต่ด้วยการเลือกใช้คาร์บอน การวางทิศทางและชิ้นส่วนคาร์บอน วิศวกรบรรจงออกแบบให้เฟรมสามารถให้ตัว สลายแรงสะเทือนได้ดีอย่างที่เราจะเห็นได้ในรถออลราวด์ชั้นนำ และเสริมด้วยความลับในการออกแบบของ Colnago มายืนยันความสบายได้อย่างมั่นใจ

เอาล่ะครับครบถ้วนกระบวนที่มาของการตัดสินใจ และเหตุผลกระตุ้นต่อมคันจนได้ที่ ในที่สด ผมก็ครอบครองพระโค Colnago V2-r เป็นอาวุธข้างกายต้อนรับหลังไหปลาร้าหัก เพื่อเริ่มต้นปั่นจักรยานใหม่อีกครั้ง ในมุมมองใหม่ และเชื่อว่า Perspective ใหม่ของผม น่าจะไปได้ดีกับ Colnago คันนี้อย่างไม่ยาก

Specification

Frameset Colnago V2-r 2018

Shifter Shimano Dura-Ace Di2 9050

FR Shimano Dura-Ace Di2 9050

RR Shimano Dura-Ace Di2 9050

Crankset Shimano Ultegra 52/36

Cassette Shimano Ultegra 6800 11-28

Brakeset Shimano Ultegra 8000 Direct-Mount

Wheelset Mavic Cosmic Elite

Stem UNO 100 -17

Handle Bar 3T Ergoterra Team Carbon

Saddle Fizik Arione R1 Carbon

Pedal/PM Garmin Vector 2

Bottle Cage Elite Plastic

Head Unit Garmin Edge 1030

Weight 7.6kg

 

สังเกตุได้ว่า ชิ้นส่วนหลายๆชิ้น ผมก็เลือกใช้ของเบสคิๆนี่แหละครับ เสต็ม เอาที่ความยาวและองศาได้แน่นอนก่อนค่อยว่ากัน ขากระติกก็เช่นกัน เพราะโดยรวมผมไม่ได้แต่งรถเอาเบาอะไรอยู่แล้ว ถ้าจะเอาเบาเข้าว่า คงต้องไปหาจาน หาเบรค และใส่ Power Meter ของ 4iii ที่จริงๆก็มีอยู่ รับรองว่าจะเบาลงไปอีกเยอะ เพราะเอาเข้าจริงๆถ้าใส่ 4iii แทน Vector 2 น้ำหนักก็หายไปมากกว่า 2 ขีดแล้ว และแน่นอนว่าชุดล้อคงขัดตาชาวประชาเป็นที่สุด เอาเป็นว่าถ้าอนาคตได้รองเท้าใหม่มาให้พระโค ค่อยว่ากัน ตอนนี้ผมใช้งานล้อเดียว เที่ยวทั่วโลก ดูแลง่าย รักษาง่าย ลูกปืนโหลมาตรฐาน ขอบทน เบรคมั่นใจ

ขี่แล้วเป็นยังไง..อยากรู้กันสินะ เดี๋ยวขอเก็บไว้มาเล่าในโอกาสต่อๆไป ครบครึ่งหมื่นกิโลเมตร ค่อยมาว่ากัน รถตัวเองทั้งที จะเล่าบอกต่อ มันต้องขี่ให้เบื่อหน้ากันก่อน อย่างน้อย หมดกลิ่นใหม่ถึงจะบอกได้เต็มปากว่าคิดถูกหรือผิด

Tag :: colnago
August 1, 2018 cyclinghub 0 Comment