สำหรับบ้านเรา สื่อมวลชน จัดเป็นอีกหนึ่งส่วนร่วมในสังคมที่ถือว่ามีบทบาทสุงมากในทุกๆยุคสมัย และนับวัน สื่อมวลชน ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองไปอย่างมากมาย จากรูปแบบเดิมๆสู่หน้าใหม่ของวงการสื่อที่ใครๆก็สามารถนำเสนอเนื้อหาได้ สอดคล้องกับจังหวะที่จักรยานเริ่มเติบโตในประเทศไทย พร้อมๆกับ “โซเชียล” ที่ก้าวกระโดด หากคุณนึกดีๆแล้ว สองสิ่งนี้ ผุดขึ้นมาพร้อมๆกัน เบ่งบานไปด้วยกัน คนปั่นต้องมีโซเชียล คนเล่นโซเชียลได้เห้นจักรยาน จนทำให้จักรยาน กลายเป็นหนึ่งในสังคม กิจกรรม และ อุตสาหกรรมต้นๆที่บิกเบิกเส้นทางการกระจายตัวด้วยโซเชียลไปอย่างช่วยไม่ได้ และนั่นเอง ที่ทำให้คนที่เข้ามาสู่โลกของจักรยานไม่น้อยเลย อาจไม่คุ้นเคยกับ”สื่อ” จักรยานอย่างเต็มตัวที่มีมาอยู่ก่อน ทั้งสิ่งพิมพ์(เจริญงอกงามสุงสุดและดับไปเหลือไว้เพียงผู้ที่ยังคงอดทน) โทรทัศน์(บ้านเราเคยมีๆหายๆและตายไปอย่างช้าๆ) วิทยุ(ก็เช่นกันว่าเคยมีอและหายไป) ตลอดจนยูทูปและโซเชียลต่างๆที่เป็นช่องทางของสื่อใหญ่ที่คุ้นตาเช่น ไบค์เรดาร์, จีซีเอ็น และ ไซคลิงวีคลีย์

และพร้อมๆกันนั้นเองที่คนส่วนใหญ่ชินกับ”เซเล็บ” หรือเรียกกันอีกแบบว่า “อินฟลูเอ็นเซอร์” ที่ได้รับความนิยมและติดตามผ่านทางสื่อโซเชียลต่างๆ และสามารถนำเสนอเนื้อหาจักรยานได้ จนไม่น้อยเลยที่ใช้ช่องทางเหล่านั้นเป็นช่องทางหลักในการรับสารเกี่ยวกับจักรยาน และนั่นแหละครับ จึงเริ่มเกิดความเข้าใจผิดๆและเรื่องลึกๆของวงการสื่อจักรยานที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งวันนี้ เราจะนำเอาสื่อมาเหลาให้ฟังกัน ณ ตรงนี้

 

สื่อจักรยาน มีหลายรูปแบบและที่มา

ถ้าคุณได้ไปพบกับสื่อจักรยานสากลในโลก สิ่งแรกๆที่เขาจะถามคือ “คุณเน้นเนื้อหาด้านไหน?” เพราะสื่อส่วนใหญ่จะเน้นเนื้อหาที่ชัดเจน บางหัวไม่สนใจด้านกีฬาเลยแม้แต่น้อย สนใจแต่เรื่องอุปกรณ์ รถใหม่ ทดสอบรถใหม่ บางหัวสนใจแต่เรื่องเทคนิค การปั่นและเรื่องการออกกำลังกาย ในขณะที่บางหัวไปเน้นเรื่องโปรฯเป็นหลัก แถมยังมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปให้แต่ละหัวเน้นความเป้นตัวเองได้อีก แต่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากประชากรจักรยานของเราไม่ได้มีมากนัก ทำให้สื่อจักรยานเกือบทั้งหมดที่มี นำเสนอเนื้อหาในทุกๆมุม แต่จะเน้นหนักด้านไหนก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของช่องทางนั้นๆ และสิ่งที่คุณไม่รู้แน่ๆคือ เมื่อเราแนะนำว่าเราเป็นสื่อรูปแบบไหน ในงานรวมสื่อทั้งหลาย ส่วนมากสื่อจะคุยกันในมุมที่ตนเองถนัดมากกว่า นั่นทำให้สื่อจากประเทศไทยเรานี่แหละ มีอิสระเสรีในการคุยกับสื่อต่างชาติได้แทบจะทุกรูปแบบ แม้กระทั่ง…สื่อด้านธุรกิจและการลงทุน!

 

สื่อมวลชนมีอิสระในการพูด

โดยมาตรฐานในโลกนี้ “สื่อ” คือช่องทางการสื่อสารตามแนวทางนั้นๆและมีอิสระที่จะพูดอะไรก็ได้แม้ว่าจะมีคนจ่ายค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ กับเอาของมาให้ลองกันฟรีๆ นี่คือสิ่งที่โลกนี้เป็นมาในทุกๆอุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจะความเชื่อของคนไทยว่า หากได้รับการ”สนุบสนุน”สื่อจะต้องรักษามารยาท ต้องชมต้องอวยหรือต้องปิดปากในเรื่องไม่เห็นงาม นั่นคือสิ่งที่แตกต่างอย่างมากสำหรับโลกของสื่อ เพราะในทุกๆแบรนด์(ทุกอุตสาหกรรมก็ว่าได้) จะต้องทำการเชิญสื่อไปเพื่ออะไรสักอย่าง เลี้ยงดู จัดการสิ่งต่างๆให้เพื่อให้สื่อนำเสนอเนื้อหา เรื่องราว หรือข่าวของตนเอง แต่พวกเขาจะไม่สามารถ และไม่เคยคิดที่จะจับปากสื่อพูดแม้แต่น้อย สื่อเองก็พร้อมที่จะนำเสนอเนื้อหาที่บ้านเราเรียกว่า “เหยียบหน้า” คนเชิญไป อย่างตรงไปตรงมา

 

เงินซื้อสื่อไม่ได้แต่ซื้อสิ่งที่สื่อพูดได้

ในต่างประเทศ สิ่งที่เรียกว่า”แอดเวอร์โทเรียล” หรือการสร้างเนื้อหาการโฆษณาเป็นสิ่งปกติ และตามกฏหมายต้องแสดงให้เห็นเลยว่านั่นคือเนื้อหาที่ถูก”ซื้อ”มานำเสนอ แต่สื่อที่แลาดและดี จะต้องนำเสนอให้เนื้อหานั้นสามารถขายของได้พร้อมๆกับให้สาระที่ดีแก่ผู้อ่าน มากกว่าการเป็นแค่หน้าโฆษณาอย่างเดียว สื่อที่ฝีมือฉกาจสามารถสร้างเนื้อหาขายให้คุณเคลิ้มได้ในขณะที่คุณก็ได้รับข้อมุลที่ไม่มีทางหาได้ที่ไหนมาก่อนในชิ้นเดียวกัน สำหรับประเทศไทย มองการให้บริการแบบนี้ว่า “ขายตัว” แต่มันคือเรื่องสุดปกติครับตราบใดที่สื่อไม่ได้โกหก หลอกลวงโลก ขาวบอกเป็นดำ ดำบอกเป็นขาว และเคยมีมาแล้วนะครับ ในวงการจักรยานนี่แหละ ที่แบรนด์ต้องการซื้อโฆษณาผ่านเนื้อหาแต่สื่อบอกปฏิเสธไม่รับแถมรีวิวออกมาอย่างย่ำแย่ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสื่อบางหัวที่มีนโยบายไม่รับบริการแบบนี้ อาศัยอยู่ด้วยแหล่งทุนอย่างอื่น ตลอดจนบางสื่อที่เน้นเลยว่าจะไม่รับสินค้าใดๆจากแบรนด์หรือไม่ไปร่วมในแคมป์สื่อมวลชนเลย พวกเขาควักเงินซื้อสินค้ามารีวิวอย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยเงินทุนจากมุมอื่น ซึ่งข้อสเียก็อยู่ที่ความหลากหลายของเนื้อหา จะทำได้ไม่เท่ากับสื่อรูปแบบเดิมๆ

 

สื่อไม่ใช่เทพ พวกเขาได้รับข้อมูลให้เล่าต่อ

ถ้าคุณสงสัยว่า ทำไมสื่อพวกนี้ “รู้มาก” เนื้อหาอะไรก็รู้ไปหมด ทั้งน่าศรัทธา(หรือน่าหมั่นไส้สำหรับบางท่าน) แท้ที่จริงแล้ว สื่อมวลชนในทุกอุตสาหกรรม จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า บริการ และกิจกรรมต่างๆส่งมาตลอดเวลา รวมถึงการได้เชิญไปกิจกรรมทดสอบ เปิดตัวต่างๆที่มีการพรีเซ็นต์เนื้อหาของที่ต้องการสื่อสารอย่างจริงจัง จริงจังขนาดไหน? จริงจังในระดับที่ว่า เข้าห้องเรียน 9.00 น. มีพักเที่ยง จากนั้นเรียนต่อไปยันเย็นก็มีมาแล้ว คนบรรยายก็ลงลึกในเนื้อหาอย่างหนักหน่วง ถ้าคุณคิดว่า สื่อมาตรฐานดลกไปนั่งๆฟังรอไปขี่ตอนเย็นล่ะก็ผิดถนัดเลยนะครับ ภาพของห้องอบรมที่ทุกคนกางโน้ตบุ้คหรือแท็ปเล็ต นั่งพิมพ์ตาม จดตาม อย่างบ้าคลั่ง เงียบสนิท ไม่มีเสียงคุยกันแม้แต่น้อย เป็นเรื่องปกติมากๆ ช่วงถามตอบก็ถามกันยาวนาน ลงลึกอย่างที่สุด และนั่นเองทำให้พวกเขาดูเหมือน”รู้”ไปหมดนั่นเอง

อีกประการก็คือ.. มีบ่อยครั้งที่พวกเราสื่อต่างๆจะได้รับ ได้เห็น ได้จับ ของที่ยังไม่ออกวางตลาดแต่ห้ามบอกใคร ข้อมุลทั้งหมดจึงพร้อมอยู่ในมือแล้วก่อนที่มันจะออกจำหน่าย ที่เหลือก็อยู่ที่ชั้นเชิง วิธีการเล่าของแต่ละคนแล้วว่าจะเล่าอย่างไร

 

สื่อจักรยานไม่ใช่นักปั่นอาชีพแต่บ้าปั่นจักรยาน

สื่อจักรยานเกือบทั้งหมด ไม่ใช่นักจักรยานอาชีพ แต่สื่อจักรยานทั้งหมด”บ้า”จักรยานอย่างแน่นอนครับ และไม่น้อยเลยที่ปั่นเก่งด้วยเพียงแต่พวกเขาเลือกเส้นทางอื่นๆมากกว่าจะไปในเส้นทางของนักกีฬา สื่อยุโรปและอเมริกาไม่น้อยที่นักเขียนของพวกเขาคือนักแข่งจักรยานระดับสูงสุดของสมัครเล่น และไปเรียนรู้เพิ่มในเรื่องของการเป็นสื่อ การทำงานกับอุตสาหกรรมจักรยาน และสื่อเก่งๆบางคนอาจไม่ใช่นักปั่นที่เก่งแต่มีทั้งความรู้และความสามารถในการถ่ายทอดได้ดี เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นสื่อจักรยานไม่ใช่ฝีเท้า แต่คือความสามารถในการเรียนรู้ เข้าใจจักรยาน กิจกรรม งานปั่นต่างๆ แยกแยะจำแนกถูกผิดเนื้อหาที่ได้รับมา สามารถบอกกล่าวเล่าต่อให้ท่านๆได้อ่านและฟังได้อย่างรู้เรื่อง

สื่อใหญ่สุดๆของโลก ปั่นช้าติดกลุ่มรั้งท้ายแทบจะทุกแคมป์สื่อมวลชน ในขณะที่โปรบางคนก็เก่งจนสามารถมาเป็นสื่อได้ดีหลังจากเลิกแข่งมาแล้ว แต่สื่อเก๋าๆของวงการคือคนที่มีส่วนผสมระหว่างความบ้าจักรยานกับความเป็นผู้เลือกสรรเนื้อหานำมาถ่ายทอดต่อให้ได้

 

นี่แหละครับ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมยุคแห่งการบริโภคเนื้อหา ที่เข้ามาสู่ฝ่ามือของคุณได้เร็วยิ่งกว่าความอยาก ยุคที่ใครๆก็สามารถพูด เขียน เล่า เรื่องราวให้ฟังกันได้โดยไม่ต้องไปยืนกลางลานหมู่บ้าน นี่คือช่วงเวลาที่ผู้บริโภคต้องมีสติมากที่สุด ต้องคิดเยอะท่สุดว่าความสะดวกสบายนี้เอง กำลังแฝงมาด้วยการชวนเชื่อมากแค่ไหน จริตเป็นเพียงหนึ่งในผลที่ติคส่งมายังการตัดสินใจ ขอให้ปัญญาจงสถิตแก่ทุกท่าน สนุกกับเนื้อหาและปั่นจักรยานไปบนถนนอย่างเป็นสุขครับ

 

Tag :: giro
October 7, 2019 cyclinghub 0 Comment