กว่า 25 ปีที่ปั่นจักรยานมา สิ่งหนึ่งที่เห็นจนชินตาคือ ช่างภาพมือฉมังที่สามารถเก็บเอาวินาทีเด็ดของงานปั่น งานแข่ง มาเล่าเรื่องได้อย่างสมบูรณ์แบบ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยฟีมล์ถ่ายรูป ผมก็เคยเห็นพี่นักปั่นทัวริ่งท่านหนึ่ง แบกกล้อง และขาตั้ง กับมวนฟีมล์นับสิบ ปั่นไปเก็บภาพบรรยากาศทริปปั่นทางไกลมากมาย ต่อมายุคของกล้องดิจิคตัล และโทรศัพท์มือถือ ก็มีนักปั่นหน้าหยก (เสือเรียว รามอินทรา) ที่คล้องกล้องเอาไว้กับมือ กดภาพเพื่อนันกปั่นที่ร่วมทริปต่างๆ มาเป็ร้อย เป็นพัน เพื่อนำมาเล่าเรื่องบนกระดานเว็บบอร์ด และแน่นอนว่า เมื่อมาถึงยุคแห่งกระแสป็อปคัลเจอร์แห่งจักรยาน ก็ได้เห็นช่างภาพมากมาย ทั้งนั่งประจำที่และตามติดถ่ายนักปั่นด้วยพาหนะต่างๆ หนึ่งในพาหนะยอดนิยมก็คือ จักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์นี่เอง

และในรอบนี้ “พอ่ใหญ่” ขิงร้อน หนวดงาม เจ้าของงานปั่นสุดพีค โป่งกระทิงเดือด ได้เชิญให้ผมไปทำข่าว เก็บเอางานมาบอกเล่าให้คนได้ฟัง รอบนี้ก็เลยถือวิสาสะ เอาล่ะวะ ต้องขอซ้อนรถเครื่องถ่ายรูปกันเสียหน่อย เรียกว่า นอกจากถูกถ่ายมาหลายรูปแล้ว เวลาไปบรรยายก็ได้เห็นภาพจากทีมงานช่างภาพที่ส่งมาให้ผมส่งเสียงทับลงไป โอกาสนี้มราถึง ขอลงไปสัมผัสการทำงานของช่างภาพเสียหน่อย จะได้รู้แล้วรู้จริงว่าพวกเขาทำงานอย่างไร อะไรง่าย หรือยากอย่างไรบ้าง บทความนี้ ผมจะเล่าเรื่องทั่วๆไป ปนสาระน่ารู้”ช่างภาพ” ในงานจักรยานนะครับ จากทั้งที่ได้ทำงานถ่ายทอดสดมาก็หลายสิบรายการ จนถึงการได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมผู้ตัดสินจาก UCI ซึ่งก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับสื่อมวลชนด้วย รับรองว่า ได้สาระสำหรับคนชอบอ่านแน่นอน

ผมรีบต่อสายหาพ่อใหญ่ทันที เรียกหามือดีบิดรถเครื่องให้ผมสักลำ ซึ่งในต่างประเทศนั้น บรรดาสารถีทุกพาหนะในงานจักรยาน ไม่ว่าจะทริปปั่นหรืองานแข่ง ต้องมีใบอนุญาติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีหลักสูตรสอนเรียน และสอบกันทั้งหมด เนื่องมาจากความวุ่นวายของพาหนะต่างๆที่ทำเอานักแข่งกลิ้งมาแล้วหลายรอบ หากไม่มีอะไรมาควบคุมดูแล รับรองว่าคงบรรลัยกันไม่น้อย(มาแล้ว) ดังนั้น UCI จึงบังคับให้ทุกคนที่ทำหน้าที่ขับรถทุกอย่างในการแข่งต้องมีใบอนุญาติ และผู้ตัดสินมีสิทธิสั่งห้าม แบน ไล่ หรือควบคุมพวกเขาได้ตลอดการแข่งขัน ดังนั้นในบ้านเราที่ไม่มีระบบนี้ จะมีวิธีไหนเหมาะเท่ากับ ของพ่อใหญ่จัดมือดีมาร์แชลที่เรียกกันว่ามือหนึ่งๆของบ้านเรานี่แหละมาเป็นพลบิดให้ผม พร้อมด้วยอุปกรณ์ดัดแปลงที่ติดตั้งกับตัวรถเพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพ และวิดีโอ

เบือ้งต้นนั้น ผมตั้งใจว่า จะลองนั่งตามหลักการที่ UCI กำหนดคือ นั่งหันหน้าไปทางคนขับ เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงของช่างภาพที่อยู่ระหว่างการปั่น ซึ่งมันจะส่งผลถึงนักปั่นในการแข่งขันด้วย หากต้องการถ่ายภาพก็ต้องเอี้ยวตัวกลับมาถ่ายเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้ ทีมงานช่างภาพ ThaiPBS  ทำตามระเบียบอย่างเคร่งครัดในการถ่ายทอดสดจักรยานให้พวกเราดู และแน่นอนว่า พวกท่านอาจไม่คุ้นกันนักเพราะช่างภาพจักรยานส่วนมาก ก็มักจะนิยมนั่งหันหลังกันแทบทั้งสิ้น ผมเองก็ทดลอง ยักแย่ ยักยัน จินตนาการแล้วว่า หากนั่งหันหน้าไปทางปกติ แล้วเอี้ยวตัวมาถ่าย รับรองว่า ด้วยฝีมือกากๆของผมเอง นอกจากจะไม่ได้รูปมาแล้ว เผลอ จะร่วงหัวทิ่มลงมาจากมอเตอร์ไซค์เอาง่ายๆ ไม่ก็ได้โอบกอดได้เสียกับคนขี่ไปแทนอย่างไม่ต้องสงสัย ว่าแล้วก็ต้อง จำใจ เอาล่ะวะ…หันหลังถ่ายท่าจะดีกว่า ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

ต้องเรียนให้ทราบกันเลยครับ ว่าการนั่งทิศทางปกติแล้วหันมาถ่ายนั้น นับว่ายากทั้งการควบคุมกล้องและการทรงตัว ผมคุ้นๆเหลือเกินว่าตอนไปทดสอบจักรยานที่อิตาลี ในงานปั่นนั้น มีช่างภาพสาว หน้าคม ตาสวยชาวอิตาเลียนคอยถ่ายภาพให้ เธอทั้งนั่ง เอนตัว เอี้ยวตัว ก้ม เงย  เก็บภาพแบบคล่องแคล่ว มาทราบในภาพหลังว่า เธอได้ผ่านการอบรมมาจากหน่วยงานของบ้านเขา และทำหน้าที่ถ่ายภาพงานแข่งโปรทัวร์มาอย่างมากมาย ดังนั้น ข้อนี้ต้องขอยอมแพ้จริงๆครับ

ตั้งแต่เริ่มปล่อยตัวไปจนจบการแข่งขัน สิ่งที่ผมและพลขี่ ต้องระมัดระวังที่สุดคือ ระยะห่างระหว่างเรากับนักแข่ง ซึ่งโดยสัญชาติญาณ จะอาศัยความได้เรปียบทุกอย่างเพื่อเป้าหมายกันอยู่แล้ว ดังนั้น  เราจึงขี่ไปมา อยู่ภายใต้การควบคุมระยะห่างของมาร์แชลที่เฝ้าดูแล้ว และใช้เลนส์ทางยาวมากๆส่องเข้าไปเพื่อเก็บภาพและวิดีโอ ทีนี้ล่ะครับ ความนิ่งนั้นแทบจะหาไม่ได้เลยทีเดียว ภาพนิ่งยังไม่เท่าไหร่ วิดีโอนี่สั่นเป็นมือโมฮัมหมัด อาลี เลย แล้วก็พยายามนึกถึงวิชาที่ได้เรียนรู้มาจาก UCI ว่ารถสื่อจะวิ่งแบบไหนถึงจะไม่มีผลกับการแข่งขัน แน่นอนครับว่าถ้าอยู๋ด้านหน้านักปั่น เราต้องเว้นระยะห่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่ยังได้ภาพ  ไม่เข้าใกล้จนกลายเป็นลากกลุ่มหนี หรือกลุ่มตามนี้ไป เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า นักปั่นที่เรากำลังถ่ายนั้น อาจมีได้ มีเสีย มีผลอย่างไรบ้างกับการแข่งขัน จะกลายเป็นเรื่องดราม่าเสียเปล่าๆ

ดังนั้นหนึ่งในวิชาที่ได้มาคือ ช่างภาพต้องอยู่ท้ายกลุ่มขนาดเล็ก เราจะสามารถตามค่อนข้างใกล้ได้ และแซงโดยเว้นระยะห่างพอประมาณเท่าที่ถนนจะอำนวย ซึ่งก็ไม่สามารถจะแซงด้วยรัศมี  5 เมตรได้หรอกนะครับ ไม่งั้นผมคงจะโดนสิบล้อสวนมาคาบไปกินเรียบร้อย แต่ก็เว้นไกลที่สุดเท่าที่ช่องทางจราจรจะมีให้  และแม้จะวิ่งขนาบข้างเก็บภาพ ก็ต้องวิ่งต่อไป ไม่ใช่แช่เก็บภาพตรงนั้น ที่สำคัญ เมื่อมาถึงคันหน้าจังหวะที่แซง ต้องระวัง อย่าให้นักปั่นโฉบมาเกี่ยวื้าย ลักเอาลมดูดตามมาได้ ด้วยเหตุนี้ จึงใช้กลยุทธให้เหมาะกับเส้นทาง และธรรมชาติของจักรยานเสียเลย กล่าวคือ เมื่อลงเนิน ผมจะปล่อยให้กลุ่มปั่นแซงไปอย่างช้าๆ เก็บภาพพวกเขาปั่นด้านข้าง แซงไปทีละคันๆ  และเมื่อขึ้นเนิน ก็จะค่อยๆแซงกลับ พร้อมกับบันทึกภาพการปั่นจากด้านข้าง กระทั่งถึงหัวกลุ่ม ก็จะ เร่งเครื่องออกจากพวกเขาไปทันที ไม่จ่อแช่เก็บอยู่ตรงนั้น ทำแบบนี้ตอไปเรื่อยๆ สลับกันตามสภาพเส้นทาง

โชคดีที่เส้นทางโป่งกระทิงเดือด มีถนนกว้างพอสมควร กลุ่มปั่นกระจายตัว ไม่ใช่ฝูงใหญ่ และ มีรถช่างภาพแค่คันเดียวนี่แหละ การเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่างๆจึงทำได้ค่อนข้างง่าย ที่สำคัญ ผมยึดกฏเหล็กอย่างแน่นหนา คือ ไม่มีการขี่ย้อนศรทางเดินของนักกีฬา อันนี้ต้องอบรมหลักสูตรผู้ตัดสิน กล่าวไว้อย่างชัดเจนและย้ำอย่างแน่นหนามากๆว่า พาหนะในงานแข่ง ต้องไม่มุ่งหน้าย้อนทางนักกีฬาครับ เราจึงเคลื่อนที่ไปด้านหน้าอย่างเดียว หากต้องการเก็บภาพกลุ่มหลัง สิ่งที่ทำได้คือ ชลอความเร็ว หรือ จอดข้างทาง แล้วเข้าถ่ายกับกลุ่มที่มาเท่านั้น ไม่มีการบิดย้อนทางไปไล่เก็บมาใหม่

ต้องเรียกว่า นี่คือ การลงไป”สัมผัส” งานอีกส่วนหนึ่งในองค์ประกอบสภาพแวดล้อมของจักรยานที่ผมใกล้ชิดมานาน แต่ยังไม่มีโอกาสทำได้สำเร็จ ผลงานในครั้งนี้ นอกจากภาพที่จะนำมาเล่าให้ทุกท่านฟัง และคลิปวิดีโอ (ฝากติดตามใน Youtube ด้วยครับ) ความล้ำค่ากว่านั้นคือ ผมได้ลงไปทำหน้าที่หนึ่งวึ่งข้องเกี่ยวสำคัญกับหน้าที่หลักของผมในฐานะผู้บรรยายการแข่ง และความเข้าใจในระเบียบปฏิบัติการแข่งขันที่ได้ร่ำเรียนมา นำมาทดลองใช้ในสถานการณ์จริง

ต้องขอขอบคุณ พ่อใหญ่ ใจดี สุดใจดีที่เื้อเฟือ้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ ขอบคุณนักปั่น นักแข่งทุกๆท่านในงานโป่งกระทิงเดือดสัปดาห์ที่ผ่านมา

พบกันเร็วๆนี้ครับ กับ เรื่องเล่าจากโป่งกระทิง!!

June 4, 2019 cyclinghub 0 Comment