ในกลุ่มนักปั่นที่เป็นสายใส่ใจสิ่งแวดล้อม คงจะเคยได้ยินคำว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ หรือ รอยเท้าคาร์บอน กันอยู่บ้าง แต่หากคุณไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนเลยแล้วละก็ ไม่เป็นไรครับ ผมใช้เวลานิดเดียวเพื่อให้คุณทำความเข้าใจว่าทำไมเราต้องมาใส่ใจคำนี้กัน

คาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นการวัดผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ หรือองค์กรใดๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ว่ามีปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้นมากแค่ไหน โดยวัดจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องร้อนและได้เป็นตัวแปรให้เกิดจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมต่างๆ ขึ้น และอุตสาหกรรมอาหารก็ไม่เว้น

สิ่งที่จะบอกเราได้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่เราบริโภคกันอยู่ เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อนอยู่หรือเปล่า เราสามารถดูได้ง่ายๆ จากฉลากของผลิตภัณฑ์เลยครับ ผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่กระบวนการผลิตตลอดวงจร สามารถลดค่าคาร์บอนได้ ผลิตภัณฑ์นั้นจะมีสัญลักษณ์ลดโลกร้อนติดอยู่บนฉลาก ต่างประเทศก็มีหน้าตาต่างกันไปอีก แต่ถ้าในเมืองไทย สัญลักษณ์นี้จะเป็นรูปโลกสีทอง ล้อมรอบด้วยลูกศรที่แสดงถึงค่า CO2 ที่ลดลง มีความหมายว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในมือเรานั้นได้ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ตามเป้าหมายแล้ว และผลิตภัณฑ์แบบนี้ละครับที่ตรงใจผมนักในเวลาที่โลกเรากำลังพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หมักหมมมานาน

ผมพบสัญลักษณ์นี้เมื่อราวๆ สักสามสี่ปีก่อน ตอนที่ผมกำลังยัดเกี๊ยวกุ้งอุ่นในไมโครเวฟ อันนี้เป็นนิสัยปกติของนักกินสายสะดวกกินง่ายอยู่ง่ายแบบผม และมันก็เป็นอาหารของซีพีเมนูแรก ที่ทำให้ผมรู้ในเวลาต่อมาว่า ไอ้เจ้าสัญลักษณ์นี้ได้ไปอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีแล้วราวๆ 150 อย่างแล้ว ทั้งในรูปแบบอาหารพร้อมกินและอาหารสดที่จะใช้เป็นวัตถุดิบ อย่าง ไก่ หมู กุ้ง นม ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังกันในภายหลังแบบสแกนไปถึงโรงเลี้ยงกันเลยว่า ที่มาของการได้สัญลักษณ์นี้ เขามีวิธีและกระบวนการผลิตที่ปรารถนาดีต่อโลกยังไงบ้าง

แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่เพียงแสดงตัวออกมาผ่านสัญลักษณ์ที่ผมเพิ่งบอกไป แต่มันมีสิ่งที่จับต้องได้แต่เรามองข้ามกันมาตลอด คือเจ้าถาดพลาสติกที่บรรจุอาหารเหล่านั้นอยู่ด้วย ถาดของอาหารสดซีพี จะเป็นถาดอาหารชีวภาพ PLA (Poly Lactic Acid) ที่ผลิตจากพืชและย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม นำมาใช้ทดแทนถาดพลาสิตกใสแบบ PET (Polyethylene terephthalate) ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งการผลิตถาดอาหาร PLA นี้ จะปล่อยรอยเท้าคาร์บอนน้อยกว่าแบบ PET ถึง 82 เปอร์เซ็นต์

การเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ตั้งโจทย์สำคัญเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพอจะช่วยโลกได้ทุกวัน ส่วนกิจกรรมการปั่นที่เราคลั่งใคล้กันอยู่นั้น ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนที่จะประทับลงบนโลกได้อย่างไม่ต้องคิดเลย อย่างในโคเปนเฮเกน ที่นำเสนอตัวเองต่อโลกว่าเป็นเมืองจักรยานนั้น ก็นำเรื่องจักรยานมาเป็นแนวคิดหลักในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์เลยทีเดียว

ว่าแล้วก็เข็นจักรยานออกมาปั่นใช้งานในชีวิตประจำวันกันอีกเถอะครับ ผมชวนกันง่ายๆ แบบนี้แหละ!

 

 

August 1, 2018 cyclinghub 0 Comment