ผู้อยู่รอด เมื่อร้านจักรยานล้มหายตายจารก

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หากพูดถึงธุรกิจเสริมยอดนิยมของชนชั้นกลางที่ทำงานประจำแล้วมองหารายได้จากการลงทุนค้าขายอะไรสักอย่างก็คงจะเป็นช่วงเวลาของกระแส “ร้านกาแฟสด” ที่ทำให้เราได้เห็นร้านกาแฟตั้งแต่ขนาดใหญ่ชนแบรนด์ไซเร็นเขียวจากเมืองฝรั่งไปจนถึงมุมเล็กๆหัวถนนที่นำเสนอกาแฟสดรสเข้มในราคามิตรภาพให้กับหนุ่มสาวออฟฟิศ ที่ประชาชนชาวสยามกลายเป็นนักดื่มกาแฟตัวยงไปตั้งแตเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ผู้เขียนจำได้ จากบทความวิเคราะห์การลงทุนที่ผ่านตา ช่วงเวลานั้นเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของจุดสังเกตการบริโภคของตลาดเล็กๆครั้งหนึ่ง แต่ในฐานะที่เป็นเว็บจักรยาน เราคงไม่สามารถไปวิเคราะห์เรื่องราวการตลาดกลิ่นกรุ่นได้ แต่มันสะท้อนถึงแนวโน้มบางอย่างที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราในระยะเวลาครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อจักรยานกลายเป็น”กระแส” ที่ดารานายแบบหล่อขั้นเทพต้องออกมาปั่นเพื่อสุขภาพ เมื่อสังคมสุขภาพดีมีความสำคัญกับบุคลิกภาพยิ่งกว่าปาร์ตี้สุดเหวี่ยงยันเช้า และเฟอร์นิเจอร์ที่คูลที่สุดต้องเป็นรถถีบคันงามหาใช่ไอเท็มชิคๆแบรนด์เนม ตั้งแต่ไฮโซ ไปจนมนุษย์เงินผ่อน จักรยานกลายเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตไปในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น จะแปลกอะไรหากมีคนที่พร้อมสรรพด้วยกำลังทรัพย์และความหวานหอมของการเติบโตที่เย้ายวนใจให้ผู้แสวงหากำไรเป็นกอบเป็นกำในการลงทุงจะก้าวเข้ามาในแวดวงของการเป็น”พ่อค้า”ในอุตสาหกรรมจักรยาน

ถ้าไทยแลนด์จะมี”เซเว่น”ที่ห่างกันเพียงข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม สยามประเทศนี้เองก็จะมีร้านจักรยานชนิดหัวซอยท้ายซอยเป็นของคู่กัน นี่คือภาพสวยงามของช่วงเวลาดังกล่าว เพราะร้านจักรยานผุดขึ้นมากลางเมทืองใหญ่ชนิดที่เรียกว่าเห็ดยังอาย บูธกาแฟที่ล้มหายตายจาก แผงส้มตำหนองคายประชันลาบอุดรฯ ต้องสะท้านเมื่อเห็นการแข่งขันของร้านจักรยานที่ตบเท้าก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นทอยเต๋าในเกมส์ธุรกิจนั้กันอย่างมากมาย เพราะในเวลานั้น ความต้องการของตลาดมีมากอย่างน่าตกใจ กราฟที่ทะยานขึ้นประดุจไวอากร้าเต็มโดสส่งให้ร้านต่างๆเปิดมาไม่นานก็ได้เงินก้อนกลับมาให้ยิ้มหวานกันได้ไม่ยาก ระลอกแรกผ่านไป ระลอกสองเข้ามา รถด่วนขบวนแล้วขบวนเล่าพาให้บรรดาผู้ค้าจักรยานรายย่อยเปลี่ยนชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนเป็นเถ้าแก่ได้สมดังฝัน จากดาราสู่เจ้าของกิจการสุดเก๋ จากนักลงทุนธุรกิจใหญ่สู่โลกของการซื้อมาขยไปซึ่งสินค้าประเภทเฉพาะที่มีมูลค่าสูงนี้

 

และแล้วงานเลี้ยงย่อมมีเพลงช้า สถานบันเทิงย่อมเปิดไฟ อะไรที่งามงดในแสงสลัว ก็กลับกลายเป็นความจริงที่ไม่ต้องรอให้เช้าถึงจะเห็นหน้าสดให้สร่างเมา โลกของธุรกิจจักรยานหวือหวาของกระแสมันไม่ได้สวยงามดังที่คิด และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของวินาศสันตะโรแห่งโดมิโน่ที่ล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว กรุงโรมแม้นอาจไม่ได้สร้างสำเร็จในวันเดียว แต่ก็ล่มสลายได้ในพริบตาฉันใด เหล่าเห็ดที่ผุดขึ้นมาเมื่อวันฟ้าสวยก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาลำบาก และหายไปอย่างเงียบๆทีละดอกสองดอก

“มีร้านจักรยานมาเปิดตรงนี้ด้วย” เป็นวลีเด็ดที่นักปั่นพูดถึงเมื่อวันวาน เปลี่ยนเป็นความเงียบงันของบานประตูเหล็กที่ปิดลงโดยไม่มีความคำนึงหาผิดกับตอนเปิดตัว ไม่ว่าจะมาด้วยใจรัก หรือความเย้ายวนใจ แต่นี่คือโลกที่เป็นจริงของเส้นทางนี้ หลายๆคนเรียกมันว่าเนินคัดตัวก่อนเข้าสู่ของจริง และวันนี้ ตัวละครที่เหลือรอดคือผู้เล่นตัวจริง สำหรับผู้เขียน ใช้เวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เฝ้ามองความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงนี้อย่างเงียบๆพร้อมๆกับบ่มเพาะข้อมูลจากอีกมุมหนึ่งเพื่อเก็บมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้

ราวๆ 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่อังกฤษพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจจักรยาน เพราะการมาของห้างร้านขายขนาดใหญ่ที่เน้นการขายแบบออนไลน์ ส่งถึงบ้าน และร้านสาขาของแบรนด์ผู้ขายที่เกิดขึ้นตามเมืองต่างๆเบียดบังร้านจักรยานท้องถิ่นที่อยู่มาอย่างยาวนานจนต้องปิดตัวลงไปไม่น้อย เป็นกระแสเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เข้าสู่จุดพร้อมด้วยจำนวนและคุณภาพในเงลานั้น และกลายเป็นข้อถกเถียงในสื่อสากลว่าถึงเวลาที่พวกเขาต้องปรับตัวเพื่้อการอยู่รอดหากอยากไปต่อ และร้านค้าแบบใดที่จะยังคงยืนหยัดต้านกระแสทุนใหญ่เหล่านั้นได้ ในที่้สุด เมื่ออุตสาหกรรมจักรยานในยุโรปโดยเฉพาะกระแสของอังกฤษเข้าสู่จุดสมดุลย์หลังจากการจากไปของกระแสการเติบโต ผู้เล่นที่เหลือรอดก็ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการขายของในเกมส์นี้ไปอย่างสิ้นเชิงด้วยราคาและตัวเลือกที่หลากหลาย พวกเขาคว้าส่วนแบ่งของตลาดไปครองอย่างง่ายดายในเวลาอันสั้น อีกประเภทคือร้านจักรยานท้องถิ่นที่มีลูกค้าในมืออย่างเหนียวแน่น สามารถทำตัวเองให้เป็น”ชุมชน” คนจักรยานได้อย่างแท้จริง พวกเขาไม่ได้มีกำไรหวือหวาขึ้นสูงแบบหึ้นความเสี่ยง แต่ก็ไม่เคยตกต่ำจนถึงกับนอนเอาขาก่ายหน้าผากก่อนปิดตัวอำลาจากไป นี่คือนิทานของเมืองฝรั่งที่เราคงไม่เล่าอะไรมากไปกว่านี้ เนื่องจากสังคมที่ต่างกัน มันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดในบ้านเรามากนัก

มามองที่โลกใกล้ตัวเรามากขึ้น กับการเปลี่ยนแปลงทั้งขาขึ้นและขาลงของ”ฮ่องกง” กัน

เกาะเล็กๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการค้าขายจักรยานมูลค่ามหาศาล แต่นี่คือความจริงอย่างไม่ต้องแปลกใจ ด้วยปัจจัยของกำแพงภาษีที่ไม่มีอยู่ ร่วมกับตลาดที่อยู่แวดล้อมตัว ทำให้ฮ่องกง เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการค้าขายจักรยานของเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลานาน ในอดีตไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน จักรยานจะถูกจัดจำหน่ายโดยพ่อค้าหัวใสของเกาะเล็กๆแห่งทะเลจีนใต้นี้เอง และมีร้านจักรยานท้องถิ่นให้บริการนักปั่นอยู่ไม่กี่ร้านกระจายอยู่ทั้งในส่วน Central และ New Territory แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอีกเช่นเคย กลุ่มแรกเป็นร้านค้าปลีกอย่างแท้จริงเรียกว่าขายกันมาเป็นสิบปี ขายตั้งแต่รถถีบคันละไม่กี่ร้อยเหรียญฮ่องกง ไปจนรถแข่งหรูระดับโปรทัวร์ ลูกค้าซื้อกันมาตั้งแต่เพิ่งเรียนจบจนร่ำรวยเป็นเถ้าแก่ก็ยังมาอุดหนุนกัน ว่ากันง่ายๆก็แก่ไปพร้อมๆกับเจ้าของร้าน อีกส่วนคือร้านค้าที่หัวใสเป็นทั้งผู้ขาย ผู้นำเข้า และผู้กระจายสินค้าต่อไปอีกทอด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริง อยู่ในกำมือของมิตรและเครือญาติเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะมีเพียงไม่กี่คนในธุรกิจนี้ รู้จักหน้าค่าตากันดี จะรักกันหรือเหยียบเท้ากันไปบ้างแต่รู้กันอยู่ว่า”ไต่โหลว” หรือ “พี่ใหญ่” ของสงครามแก็งค์รถถีบก็มีอยู่ไม่กี่หัวนี่แหละลองนึกภาพหนังมาเฟียฮ่องกงดูสิครับ นั่นคือภาพจำลองกลุ่มนี้ได้ชัดเจน และบางแก็งค์ก็มีแขนขาขยายอิทธิพลมาถึงเมืองไทยเรา เป็นแหล่งส่งของ”หิ้ว”กันมาอย่างยาวนาน มีพลพรรคพลังมดหอบหิ้วกันทั้งหิ้วบินมาและหิ้วมาทางแผ่นดิน ผ่านประเทศเพื่อนบ้าน เพราะลำพังกำลังซื้อในบ้านเราคงไม่พอที่จะเปิดออเดอร์สั่งของจากผู้ผลิตได้ อาศัยพ่อค้าคนกลางชาวแก็งค์เหล่านี้เป็นตัวช่วย สร้างอิทธิพลให้กับคนขายจักรยานในบ้านเราได้สร้างตัวกันมาก็หลาย

แต่เมื่อกระแสจักรยานเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย ฮ่องกงเองก็เข้าสู่สภาพฟองฟูไปด้วยแบบหนีไม่พ้น และไม่กี่ปีนั้นเองที่ในเกาะเล็กๆมีร้านจักรยานเกิดขึ้นมากมายอย่างรวดเร็ว ส่วนมากเป็นนักปั่นที่ทำธุรกิจอื่นๆอยู่แล้ว (อันที่จริงชาวฮ่องกงแท้ๆส่วนมากก็ทำการค้ากันเป็นปกติ จะค้าขายอะไร ใหญ่ เล็ก การค้าคือวิถีทางเดินของพวกเขายิ่งกว่าการรับราชการหรือทำงานเป็นลูกจ้าง) ร้านจักรยานใหญ่ๆเก๋ สวยหรู มีสไตล์เกิดขึ้นแทนที่ทำเลทองต่างๆ นักปั่นเริ่มเดินห่างจากร้านห้องแถวเดิมของเฮียที่อยู่มาตั้งแต่จำความได้ไปร้านใหม่ที่มีแอร์เย็นฉ่ำ โซฟาหรูดูสบายและกาแฟกรุ่นที่ช่างเข้ากันดี จนทำให้ร้านใหม่ๆ เถ้าแก่รายใหม่ของเกมส์นี้ยิ้มออกกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเวลาไม่นาน พอๆกับการจากไปของกระแสออเจ้าที่แม้จะมีละครย้อนยุคโผล่มาต่อกันติดๆแต่ก็ไม่สนิทแบบหมื่นท่าน ร้านสวยต่างๆเริ่มเข้าสู่ภาวะฝืดเคืองเพราะสิ่งหนึ่งที่ร้านห้องแถวและพี่ใหญ่ในวงการแต่เดิมเป็นต่อคือ”ราคา”ที่ทำได้ดีกว่า ท้ายที่สุดเมื่อกระแสนิยมเข้าสู่จุดลดถอย ต้นทุนของความ”เก๋” ก็ทำให้ร้านใหม่ๆค่อยๆปิดตัวลงไปช้าๆ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถปรับตัวให้อยู่ต่อได้ ซึ่งส่วนมาก ก้าวกระโดดจากการเป็นคนขายปลายทางมาสู่โลกของการเป็นผู้นำเข้าและกระจายสินค้าเองได้สำเร็จ เปรียบเทียบง่ายๆก็คือการเติบโตจากร้านเล็กๆของถนน ที่ลุกขึ้นมาเป็นแก็งค์อิทธิพลได้สำเร็จและเจริญขยายเป็นเหลาของเจ้าพ่อในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้ หากท่านไปฮ่องกงในเวลานี้ ท่านก็จะพบกับร้านจักรยานสองชนิดเช่นเดิม แต่แตกต่างกันตรงร้านหรูดูดีมักมีเบื้องหลังเป็นสำนักงานทำหน้าที่นำเข้าและกระจายสินค้าไปยังประเทศปลายทางใกล้เคียง ส่วนร้านเก่าแก่ขนาดเล็กก็ยังคงอยู่อ่างไม่เปลี่ยนไปมากนัก

นักปั่นฮ่องกงที่เราได้พูดคยให้ความเห็นว่า ร้านค้าเก่าแก่เหล่านี้เหมือนเป็นมังกรเก่าที่อยู่มานาน พวกเขาไม่เปลี่ยนแปลงไปตามโลก จะกระทบบ้างก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆแต่เมื่อถึงจุดของความเป็นจริง พวกเขาก็จะอยู่รอดได้ ส่วนร้านใหม่สวยเก๋ที่โผล่มามากมายในเวลาสสั้นๆก็เหมือนกับแมลงที่พุ่งเข้าเล่นแสงไฟ ที่แต่แรกก็สวยงามสนุกสนาน แต่จะมีสักกี่ตัวที่รอดพ้นการถูกแผดเผามอดไหม้ไปในที่สุด เพราะแมลงก็คือแมลง จะจำแลงเป็นมังกรไปไม่ได้

จากนิทานจีนนี้เองที่ทำให้เราได้มุมมองที่ใกล้เคียงกับบริบทของบ้านเรา โดยเฉพาะเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ของไทยได้ไม่ยากเลย บ่อยครั้งที่พวกเรามีโอกาสออกไปยังภูมิภาคต่างๆ เปรียบเทียบกันของช่วงเวลาที่กระแสตื่นทองของจักรยานเฟื่องฟู กับทุกวันนี้ มันช่างละม้ายกับสิ่งที่เป็นที่ฮ่องกงอย่างน่าแงน ร้านใหม่ ๆมากมาย ต้องปิดตัวลงไป ในขณะที่ร้านเก่าๆบางร้านอยู่มาเป็นสิบปี ก็ยังคงอยู่ แต่ในความเหมือนก็มีความต่างที่สัมผัสได้

คุณลองมองไปที่ร้านจักรยานรอบๆตัวคุณดูสิครับ ลองคิดถึงเมื่อวันที่เริ่มมาปั่นจักรยานจากคำชวน มีร้านไหนบ้างที่ผุดเข้ามาในความทรงจำ และมีกี่ร้านที่ยังคงอยู่ในตอนนี้ และร้านไหนคือร้านประจำที่ไปบ่อยที่สุด แต่ละคนน่าจะมีคำตอบในใจด้วยกันทั้งนั้น แต่เราจะขอจำแนก”ผู้รอด”จากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ให้ได้เห็นกัน

ประเภทแรก ก็คล้ายๆกับที่ฮ่องกงนั่นเอง เพราะเราจะขอพูดถึงร้านเก่าแก่ที่อยู่มาอย่างยาวนาน บางร้านประกอบกิจการมา 30-40 ปีเลยทีเดียว ในขณะที่รุ่นใหม่เข้ามาอย่างหวือหวา พวกเขาก็ยังคงอยู่อย่างมั่นคง แถมกอบโกยผลและดอกได้ในช่วงเวลาของความสวยงาม บางร้านจากห้องแถวเล็กๆกลับขยายเป็นร้านทันสมัย ประตูอัตโนมัติ จากเถ้าแก่ขายเองผันเป็นนายจ้างที่มีพนักงานขายและระบบการทำบัญชีในรูปแบบบริษัทไปเลย แต่อย่าคิดว่าร้านเก่าแก่จะอยู่รอดและเจริญงอกงามเสมอไป เพราะร้านเก่าแก่บางร้านก็หายไปจากแผนที่อย่างเงียยบๆ ทำให้เราแปลกใจ แต่ถือเป็นส่วนน้อยมากเทียบกับสัดส่วน ไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็นในเมืองผู้ดี ปัจจัยที่ร้านเก่าแก่อยู่รอดมาได้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพวกเขาเป็นผู้ที่อยู่กับจักรยานมาอย่างยาวนาน อยู่ในแวดวงของกีฬาชนิดนี้มาก่อนทีมชาติปัจจุบันเสียก็ไม่น้อย ด้วยความคุ้นเคยและความถนัดก็ไม่ยากเลยที่จะปรับตัวให้อยู่ได้แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหวือหวา ส่วนร้านเก่าแก่ที่หายไปก็ไม่พ้นกลุ่มที่ปรับตัวกับมันไม่ได้ ก็พับประตูจบลงแบบไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปอย่างน่าเศร้า

อีกด้านหนึ่งเมื่อมองไปที่ร้านใหม่ๆของคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนมากล้มสลายล่มหายไปจากเกมส์ ไม่ผ่านเนินคัดตัวกับเขาลูกใหญ่มาพร้อมกับกลุ่มหลัก โดนรถเก็บไปเสียแล้วนั้น ส่วนมากเป็นกลุ่มที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ด้วยใจหวังจากกอบโกยกำไรจากการค้าขายสินค้าราคาสูง ที่ฟันกำไรได้ไม่น้อยเมื่อวันที่ราคามันสูงลิ่วเพราะความต้องการที่ล้นหลาม แต่เมื่อเจอคลื่นกระหน่ำของสงครามราคาระบายสินค้าหาเงินหมุนในวันที่ของมากกว่าคน ก็จำต้องม้วนเสื่อจากไปแบบเงียบๆพร้อมกับเหตุผลสุดคลาสสิคว่ามัน”ไม่คุ้ม”กับการลงทุน แต่ในมืดก็ย่อมมีสว่างเพราะในประเภทต่อไป คือเลือดใหม่ของเกมส์เศรษฐีจักรยานไทยในสิบปีข้างหน้า

ผู้ขายหน้าใหม่ที่อยู่รอดใในตลาดค้าปลีกจักรยานก็มีไม่น้อย นี่คือ”ตัวจริง”ที่สามารถยืนยืดอกเคียงข้างกับเถ้าแก่เก่ารุ่นพี่ได้อย่างไม่ยำเกรง ความเก๋ของร้านสมัยใหม่ ร่วมกับความหลงใหลของจักรยาน ร่วมเกื้อหนุนให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาคัดตัวมาได้เพราะความ”คุ้มค่า” มันมีมากกว่าตัวเลขในบัญชีเสียแล้ว ลูกค้าที่มีอยู่มีความผูกพันกันมากกว่าแค่คนที่เอาเงินมาแลกของ กลายเป็นครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นสังคมคนปั่นร่วมกันไปในที่สุด ร้านเหล่านี้ก้าวมาสู่ทางเดินที่มั่นคงในบั้นปลายและถือเป็นผู้อยู่รอด พร้อมที่จะแข่งขันกันต่อไปหลังจากนี้

ในโอกาสนี้ ผู้เขียนขอละไม่รวมผู้ค้าที่กระโดดก้าวจากการเป็นปลายทางสู่นักปั่นไปสู่ต้นทางการนำเข้า หรือเป็นผู้ขายส่งกระจายสินค้าไปก่อน เพราะน่าจะเป็นอีกกรณี และมีปัจจัยการอยู่รอดที่แตกต่างออกไป แต่ก่อนจะจบเนื้อหาขอกล่าวถึงสิ่งที่น่าจับตามองในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เพราะยังคงมีร้านจักรยานรูปแบบใหม่ๆของกลุ่มทุนใหญ่อยู่ในตลาด ทั้งกลุ่มทุนขายปลีกแบบเมกะสโตร์ที่มาจับตลาดจักรยานที่มีแผนขยายกิจการออกไป หรือสายธุรกิจออนไลน์ที่อาจผิดหวังไปบ้างในก้าวแรกๆของการเข้ามาในระบบขายจักรยานผ่านอินเตอร์เน็ทของบ้านเราทั้งสองกรณีนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตอันใกล้ จะเหมือนหรือต่างจากปัจจัยของยุโรปและอเมริกาขนาดไหน ในรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและทางเดินของระบบการค้าออนไลน์ที่น่าจะมีแต่โตกับโต ธุรกิจจักรยานไทยจะเป็นอย่างไรในแนวทางนั้น คงต้อ

จับตามองกันให้ดีๆ

และเราขอส่งท้ายให้กับทุกๆร้านค้าปลีกที่ยังคงอยู่ จากสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสมาได้คือ ร้านเหล่านี้ เปี่ยมไปด้วยความรักในจักรยาน เป็นร้านจักรยานของคนปั่นจักรยาน ที่ทำให้คนปั่นจักรยานจริงๆ และเป็นมากกว่าแค่”คนขายจักรยาน” ทุกครั้งที่เราได้พบกับร้านจักรยาน เรารู้สึกได้ทันทีว่าจักรยานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาไปเสียแล้ว และนี่คงเป็นรากที่หยั่งลึก รั้งให้ต่อสู้กับลมแรงกระหน่ำของเกมส์การค้ามาได้

คุณล่ะ ยังจำร้านจักรยานร้านแรกที่คุณได้จักรยานมาเริ่มปั่นได้หรือไม่?

 

May 14, 2018 cyclinghub 0 Comment