จักรยานถูกหรือแพง ? กลไกตลาดหรือตลาดที่ถูก Spoil
Giro

“อย่าเพิ่งซื้อเลย เดี๋ยวเขาก็มาลดราคาลงไปอีก”
เป็นประโยคสะท้านหูที่ผมจะไม่ลืมไปตลอดชีวิตที่ยังอยู่ในวงการจักรยาน เมื่อชายสองคนกำลังเดินเลือกซื้อจักรยานในงานแสดงสินค้าจักรยานงานใหญ่ของบ้านเรา เบื้องหน้าคือป้ายลดราคา 50& จากราคาเต็ม 72,000 บาทเหลือ 36,000 บาท ซึ่งมันดูแล้วยังไม่พอที่จะง้างให้หนึ่งในสองชายนั้น ควักเอากระเป๋าเงินที่อาจจะเม้มเงินผู้บัญชาการที่บ้านมาเล็งหาเสือหมอบถูกใจกลับบ้านไปสักคันหนึ่ง และเป็นภาพสะท้อนวงการค้าขายจักรยานที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียง 3 ปีเท่านั้น จากฝันหวานของคนขายสู่ฝันที่เป็นจริงของคนซื้อ แต่เพียงไม่นานหลังจากวันนั้น ก็ได้เวลาตื่นจากนิทรากาล สู่โลกของความเป็นจริง เพราะหากเดินไปยังร้านค้าต่างๆ หรืองานจักรยานประเภทเทกระจาดฟาดราคากันเต็มๆ ก็จะไม่ง่ายอีกต่อไปที่จะมองหาราคาสะบั้นหั่นทุนกันถึงเพียงนั้น

คำถามที่คนในวงการ หรือคนที่พอจะคุ้นชินในแวดวงธุรกิจ “ซื้อมาขายไป”ตอบได้ไม่ยากด้วยคำอธิบายสั้นๆคือ “ดีมานด์ แอนด์ ซัพพลาย” มันคือคำตอบที่สุดของทั้งหมดหรือไม่ และกลไกอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญเหล่านั้น รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของนักปั่นในตลาด ที่อาจยังไม่ตื่นจากฝันที่เป็นจริง ยังคงกำอำนาจต่อรองในมือที่ผ่านพ้นไปเหมือนลมหนาววูบผ่านมาของประเทศไทยเอาไว้เช่นนั้น ทั้งหมดนี้เรื่องราวเกิดขึ้นและดับไปไม่ต่างจากวงเวียนของล้อที่หมุนแล้วหมุนเล่าไม่จบสิ้น เมื่อกราฟของความรุ่งโรจน์พุ่งขึ้นสู่ยอดเขาอันสูงชัน พลันดิ่งลงสู่หุบเขาลึกที่ไม่มีใครอยากตกลงไป จนวันหนึ่งในอีกไม่ช้า มันก็จะแกว่งตัวเองกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จักรยานเป็นเช่นนี้ตลอดมา เพียงแต่กระแสช่วงปี 2013 ถือเป็นกระแสใหญ่ที่ถูกผลักดันด้วยปัจจัยจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผสมกับกระแส”บ้าเห่อ”ของคนไทย ที่ตีให้มันฟูฟ่องราวกับเบียร์สดที่กระแทกลงมาอย่างแรง จะมีใครสักกี่คน ที่ละเมียดจิบเบียร์ได้อย่างใจเย็น และยังกรุ่นอารมณ์กับเบียร์เข้มที่ก้นแก้วอย่างมีความสุข ในขณะที่อีกหลายต่อหลายคน ยังไม่ทันจะเริ่มเมา ปากก็งับไม่ทันกับฟองเบียร์ที่หายไปเสียแล้ว วงเวียนแห่งวังวนนี้ไม่ได้จับอยู่แต่เฉพาะสินค้าจักรยานโดยตรงเท่านั้น มองไปไม่ไกลเลย แม้แต่สื่อจักรยานทั้งออนไลน์ และสิ่งพิมพ์เอง หรือบริการเกี่ยวเนื่องต่างๆ อาทิประกันจักรยานเอย บริการล้างจักรยานเอย ก็หายหดไปเสียก็มาก มันสะท้อนภาพว่า คนปั่นจักรยานน้อยลงเช่นนั้นหรือไม่?

หากนับยอดรวมทั้งประเทศ จำนวนคนปั่นจักรยานนั้นไม่ได้หดน้อยลงอย่างน่าตกใจ เท่ากับยอดของการเข้าสู่วงการที่หดหายไปอย่างฮวบฮาบ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ลุงแลนซ์ อาร์มสตรอง กับท่านเซอร์ แบร็ดลีย์ วิกกินส์ ส่งแรงน่องถีบให้คนในประเทศทั้งสองที่กล่าวมา ฮือขึ้นมาสนใจกีฬาสองล้อนี้ได้อย่างหวือหวา ยอดคนปั่นจักรยานออกกำลังพุ่งพรวด พัฒนาองคาพยบแห่งรถถีบให้ก่อร่างสร้างรากฐานไปสู่อีกยุคอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกับที่คนขายจักรยานกลายเป็นนายทุนใหญ่กันอย่างมั่งคั่งด้วยยอดขายสินค้าที่มาแรงแซงของใช้ฟุ่มเฟือยอื่นๆ ในเมื่อบ้านเขา คนปั่นจักรยานเพื่อการสัญจรและนันทนาการก็มียอดไม่ได้น้อยอยู่แล้ว แต่สิ่งทีเ่พิ่มอย่างน่ายินดีคือยอดของการออกกำลังกายด้วยจักรยานนี่แหละ และเพียงไม่ช้าหลังจากนั้น ด้วยระยะเวลาราว 3-5 ปีพอๆกันกับที่ประเทศไทยเป็น กระแสดังกล่าวก็เข้าสู่ระยะชวนใจหาย ร้านจักรยานระดับ”เชน” เริ่มปิดตัวลง ร้านจักรยานที่เปิดมาเป็นกระแสสังคม เริ่มฝืดเคือง คนมีจักรยานกันหมดแล้ว คนหน้าใหม่ก็เริ่มไม่ค่อยเพิ่มมากนัก จากวินาทีที่ชิ้นส่วนขายได้ดีเพราะคนปั่น 1-2 ปีจะมีอะไรสนุกไปกว่าการอัพของอย่างเมามัน พออัพไปอัพมา ปั่นต่อมาอีกสักพักก็ถึงสัจธรรมว่า สุดท้ายมันก็จบที่แรงเรา สินค้าใหม่เริ่มไม่ค่อยดึงดูดใจเช่นแต่ก่อน ในตะวันตก จึงเกิดจักรยานรูปแบบใหม่ขึ้นมารองรับความต้องการที่กำลังสร้างกระแสอย่างไม่ต้องสงสัย

“เสือหมอบทางกรวด” และ “จักรยานไฟฟ้า” กลายเป็นไม้ตายที่ใช้ได้ดีในตะวันตก กระตุ้นให้กระแสจักรยานต่อยอดจากเฟรมแอโร่ฯ สู่เฟรมเบาหวิวๆ มายังรูปแบบการปั่นใหม่ๆ และท้ายที่สุดคือแนวคิดของการออกแบบเฟรมปั่นสบาย มาตอบสนองต่อความต้องการอันแท้จริงของนักปั่นสมัครเล่น นี่คือสภาพตลาดที่เรียกได้ว่ามีการพัฒนาทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ทว่า ไพ่ตายนี้ไม่อาจใช้ได้ในสังคมไทย ซึ่งไม่มีใครสักคนในวงการจักรยานหาคำตอบและทางออกได้ว่า ทำไมคนปั่นจักรยานในบ้านเราจึงไม่สนใจที่จะลิ้มลองจักรยานชิดอื่นๆบ้าง ในขณะที่ยอดหนี้ของเงินกู้ ยอดค่าใช้จ่ายยังคงวิ่งตามก้นอยู่แบบนี้ โกดังก็คับคั่งไปด้วยสินค้ากองพะเนินท่วมหัว ถ้าแปรมันเป็นเศษขยะได้ รวมๆกันแล้วอาจจะถมทะเลไปสร้างเกาะสวาทหาดสวรรค์ได้สักเกาะไม่ยากเย็น ทางออกที่แสนจะดีงามก็คือการ “ถล่มราคา” จะถล่มหนักหรือน้อย เรียกได้ว่าผู้ขายเกือบทั้งหมดต่างต้องพากันขยับตัวในทางเดียวกันเป็นแถว รายไหนปรับตัวได้ทัน ไหวตัวเร็วก็ใช้เวลาทุบราคาไม่เท่าไหร่ก็พ้นภาระไปได้ แต่บางรายถล่มแล้วถล่มอีกก็ยังไม่พ้นไปจากคอ กลืนไม่เข้า คายก็ลำบาก เพราะต้องหาสินค้าใหม่ๆเข้ามากระตุ้นต่อมคันนักปั่นกันให้ได้ ให้มีเงินสดหมุนเวียน พวกผู้ผลิตจากประเทศนอก หรือที่ออเจ้าเรียกกันว่า “แบรนด์ฟรังคี” ก็ขยันออกรุ่นใหม่ ส่งเอาเซลส์มาสะกิดยิกๆว่าได้เวลาเปิดออเดอร์แล้วนะจ๊ะ ถ้าไม่มีของใหม่มา ก็อาจตกที่นั่งลำบากในการรับมือการแข่งขันของแบรนด์จักรยานในแวดวงค้าขายบ้านเรา แต่ครั้นจะขายของใหม่ก็ยังไม่สะดวกใจ เมื่อของเก่ายังกองอยู่ที่หลังร้าน

และแล้ว เมื่อถึงวินาทีที่ต่างคนก็ต้องเอาชีวิตรอด ก็จบสิ้นวาระแห่งมิตรถาวร เมื่อราคาจักรยานที่ถูกตั้งเอาไว้ให้เหมาะสมกับความเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูง ต้องลงทุน ลงแรงขายกันไม่น้อย มันจึงมีกำไรต่อทอดที่ควรทำให้ผู้ขายทั้งปลีกและส่งอยู่ได้ในตลาด ถูกปั่นป่วนด้วยกระแสราคากระแทกลิ้นปี่คนขี่ ร้านนี้ขาย 3 พัน ไปไม่ไกลก็มีอีกร้านขขาย สองพันแปด ยังไม่เท่าไหร่ เปิดโซเชียลดูเอาสิ สองพันถ้วนๆยังมีเลย นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคพากันยิ้มแก้มปริกันมาระยะหนึ่งแล้ว ในเมื่อของแบรนด์เดิมๆมันลดจนชนพื้นไปไหนไม่ได้ ก็ได้เวลาทั้งของหิ้ว ของปลอม ของทดแทน แบรนด์ใหม่ เข้าสู่ตลาดจนสยามประเทศกลายเป็นอาณาจักรเล็กๆที่มีแบรนด์จักรยานขายมากที่สุดในโลกในช่วงเวลาหนึ่ง ช่างศิวิไลซ์ไม่แพ้แผ่นดินทองของเมืองท่าอโยธยาของท่านขุนเดช หวานใจแม่การะเกด เมืองสองล้อเราอาจไม่มีฮอลันดาเดินชนไหล่กับฝรั่งเศส ไม่มีโปรตุเกสเดินสวนกับพ่อค้าสำเภาจีน แต่เรามีพ่อค้าอิตาเลียนเดินจับมือกับนายหน้าชาวสยามเยอะพอๆกับที่สำเภาจีน สำเภาไต้หวันเทียบท่าหาคู่ค้ารายใหม่ขึ้นฝั่งศรีรามเทพนครแห่งนี้ แต่ไส้ในเนื้อหาหลักๆของการค้าขาย สุดท้ายแล้วไปจบลงที่ราคาขายกันทั้งสิ้น เพราะอย่างที่เล่ามาด้านบน ร้านค้าย่อยก็ร้อนเงิน เมื่อโดนภาระแบกกันมาเป็นทอดๆ วินาทีนั้นก็เป็นฝันที่นักปั่นไม่อยากตื่นกัน

และแล้วเมื่อความจริงกำเนิด เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าสู่จุดสงบนิ่ง เนินคัดตัวได้คัดเอาผู้เล่นที่ไปต่อไม่ได้ออกไปจากการแข่งขันค้าขายรถถีบไปแล้วไม่น้อย บรรดานักปั่นที่เหลืออยู่ในเปโลตองของคนขาย ทีมใหญ่ ทีมเล็ก เริ่มหายใจช้าลง ฮาร์ทเรทคืนสภาพกลับมาโซนสอง อนนี้ยากที่จะหาใครแลกชีวิต ทิ้งโดเมสทีคในทีมให้ได้เห็น การลดราคาจึงเริ่มเข้าสู่จริยแห่งอารยชนสังคมจักรยานนานาประเทศกันแล้ว มาตรงนี้ขอข้ามน้ำไปเล่าเรื่องการลดราคาในประเทศนอกกันให้ฟังสักหน่อย เพราะบ้านเขาก็มี ใช่จะมีแต่บ้านเรา ที่อเมริกา หากคุณจะซื้อจักรยานให้ได้คุ้มค่าจริงๆ คุณต้องซื้อในช่วงเดือน พฤศจิกายนถึงมกราคมของทุกปี ผมจำได้เลยว่าเมื่อปี 2006 ผมเดินเทียบราคาจักรยานที่นั่น พบว่า มีจักรยานปี 2005 และ 2004 ลดราคาเพียบจริงๆ ลดตั้ง … 25% …อ้าว ทำไมลดน้อยแบบนั้นล่ะ ท่านคงถามในใจสินะ นั่นแหละครับ ลดมากที่สุดก็เพียงเท่านั้น โอกาสน้อยมากๆที่จะเจอลดกันถึง 40% ถ้าจะลดขนาดนั้นพบได้เพียงแค่การโละรุ่นที่เลิกผลิต กับเป็นคนสำหรับทดสอบหรือชิ้นส่วนบางชิ้นถูกถอดไปให้บริการท่านอื่นแล้ว ซึ่งนั่นสะท้อนภาพปัจจุบันของบ้านเราว่าเป็นในแนวเดียวกันด้วย กลไกการขายมันบีบให้แท้ที่จริงราคาที่ควรลดได้มันไม่น่าจะมากไปกว่านั้นสักเท่าไหร่ ยิ่งลดมาก ความอยู่รอดก็เป็นเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น ร้านค้าย่อยไม่มีทางไปรอดได้ในสัดส่วนของการลดราคาแบบนั้น เมื่อร้านค้าย่อยเสียชีวิตลงไป ผู้นำเข้าก็เหมือนคนป่วยที่ขาดมือขาดเท้าไปด้วย ดังนั้น ถ้าไม่ใช่กรณีทิ้งแบรนด์ เลิกขาย อำลาวงการ จะเป็นร้านใหญ่หรือคนนำเข้า ไม่มีใครอยากทำเช่นนั้นอยู่แล้ว ทันทีที่สภาพตลาดเริ่มสงบ จึงรีบกลับมาสู่ราคาขายอันพึงควรได้แทบจะทันที อย่าลืมสิครับว่าพวกเขามาค้าขายเอากำไรให้พออยู่พอกินตามแต่ฐานะของแต่ละท่าน ไม่ได้มาเปิดกองทุนจักรยานเพื่อเพื่อนในราคามิตรภาพ แต่ชีวิตเดินหน้าเป็นเต่าเป็นตะพาบ ลูกหลานก็โต พนักงานก็โต แรกๆมาทำงานมันก็โสด อยู่ๆไปก็ได้เมีย คลอดลูกมา ถ้าไม่มีเงินเดือนอัพเกรดชีวิตให้พนักงาน พนักงานก็ต้องลาออกไปหากินวงการอื่นเท่านั้นเอง

แต่คนซื้อล่ะ? ….
เราเป็นเหมือนเด็กที่ขับรถสปอร์ตที่เตี่ยให้มาซิ่งเล่นๆ ขับไปชนที่กั้นทางด่วน ชนคนตาย เตี่ยก็ส่งให้ไปชุบตัวทีเ่มืองนอก มีเรื่องราวกระทืบคนขาเป๋ ป๊าก็มาช่วยให้รอดพ้นจากโทษทัณฑ์ได้ไม่ยาก อยากได้อะไรก็ได้ ไม่อยากเกณฑ์ทหารก็ยัดเงิน หางานทำไม่ได้ก็ฝากเพราะเส้นใหญ่ เรียกกันว่า “สปอยล์” กันมาอย่างสุดขีดด้วยราคาที่ดีเลิศที่สุดในโลกใบนี้ คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ แต่หากคุณเช็คราคาจักรยานเทียบกันแล้ว จังหวะนั้น ประเทศไทยขายสินค้าจักรยานถูกที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย นอกเสียจากคุณหาทางได้ส่วนลดพิเศษในต่างประเทศและหาทางเอามันเข้ามาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเท่านั้นแหละถึงจะทำได้ถูกกว่าราคาที่ขายในบ้านเรา ซึ่งดูๆไปแล้ว พวกเรายังไม่อยากตื่นจากฝันหวานนั้นเลย ตอนนี้ญาติผู้ใหญ่เริ่มเ้มงวด ไม่ตามใจดังเก่า ถึงเวลาต้องเรียนรู้ปรับตัวกับกระแสสังคมที่แท้จริงกันแล้ว ใครๆก็อยากได้ของถูก ใครๆก็ไม่อยากจ่ายเงินแพงๆ แต่วันนี้ กลไกราคาจักรยานเริ่มเข้าสู่ทำนองของสากลโลกแล้ว และมันจะยังคงเดินหน้าไปในทิศทางนี้เรื่อยๆจนกว่าจะถึงยอดเขาลูกใหม่ของธุรกิจจักรยาน จะมาช้าหรือเร็ว ต้องดูกระแสโลกกันต่อไปสักหน่อย แต่หากคุณกำลังคิดว่าจักรยานกำลังตกต่ำลงสู่เหวลึกแห่งความล้มเหลว คุณอาจต้องตกใจ เมื่อเห็นกราฟโดยรวมของจักรยานในไทย ในเอเชีย และในโลกนี้ เพราะรูปฟันเลื่อยเฉียงขึ้น บ่งบอกว่า จักรยานไม่เคยตายอย่างแท้จริง และเติบโตขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน ผ่านจังหวะสลับขึ้นลง แต่แนวทางโดยรวมมันสูงกว่าเดิมเสมอ

March 24, 2018 cyclinghub 0 Comment