และแล้วเสตจที่สิบ เสตจสุดท้ายของช่วงการแข่งขันช่วงแรกก็สิ้นสุดลง กับเส้นทางราบระยะทาง 217.5 กม. กับสภาพทางราบเป็นส่วนใหญ่ มีเขาให้เก็บคะแนนเจ้าภูเขาอยู่บ้าง เนินบ้างอีกนิดหน่อย แต่สุดท้าย มันคือการวัดกันของขุมกำลังทีมที่ต้องการปิดเกมส์ที่หน้าเส้น ไล่ล่าเข้ามาจนสำเร็จไปตามเป้าหมาย แถมเป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นว่า ในปีนี้ เสตจทางราบ ไม่มีใครที่ผูกขาด กินกันได้อย่างไม่เห็นฝุ่นแบบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเราได้เห็นการคว้าแชมป์เสตจจากการสปรินท์ของบรรดาสปรินท์เตอร์ ที่ตบเท้าพากันมาคว้าชัยแซงหน้าดาราดังกันได้อย่างพร้อมเพรียง และเป็นอีกครั้ง ที่ ยัมโบ้ วิสม่า ที่ที่อาจถูกมองว่าเป้นทีม”นอกสายตา” แน่นอนล่ะ ในเมื่อหลายคนก็ต่างจับจ้องไปที่ อินิออส โมวี่สตาร์ ทำให้ทีมจากเนเธอแลนด์ทีมนี้ ที่ปกติก็ฉายฟอร์มเก่งากเสตจที่หนียาวๆมาเก็บได้ หรือทำได้แค่ ส่งตัวอันดับเวลารวมของตน มาป้วนเปี้ยนแถวหัวตารางบ้างในปีก่อนๆ จะแจ้งเกิดขั้นดาราดังนั้น สำหรับแฟนๆสองล้อชาวไทยออกจะยังไม่ใกล้คำว่าคุ้นหู แต่ปีนี้ ยัมโบ้ วิสม่า ย้ำให้แฟนจักรยานไทยได้รู้กันอีกครั้งว่า ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ไม่ใช่เวทีสำหรับดาราคุ้นชื่อเท่านั้น

“ผมไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้น ผมไม่เชื่อว่าผมชนะคู่แข่งสุดเร็วเหล่านี้ได้ ยากที่ผมจะเชื่อ กับความยิ่งใหญ่ของการแข่งขันรายการนี้ และผมคว้าชัยชนะมาได้…” คำสัมภาษณ์กึ่งรำพันของ โวต ฟาน เอิร์ต จากทีม ยัมโบ้ วิสม่า หลังจากที่เข้าเสตจไปเป็นคนแรก นำหน้าทั้ง คาเล็บ ยวน, อีเลีย วิวิอานี่ และ ปีเตอร์ ซากาน ทำให้การคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์แรกของหนุ่มนักปั่นวัยเพียง 24 ปีผู้นี้ น่าจะเป็นวินาทีในความทรงจำของเขาไปอีกตลอดกาล

ฟาน เอิร์ต อาจไม่ใช่นักปั่นเสือหมอบที่เราคุ้นหูกันนัก เพราะเขาเพิ่งเทิร์นโปรขึ้นมาระดับสุงสุดได้ในปีนี้เป็นปีแรก ก่อนหน้านี้สังกัดอยู่กับทีมในระดับ โปรคอนติเน็นตัลฯ หรือทีมดิวิชั่นสองในการจดทะเบียนกับยูซีไอ แต่สำหรับแวดวงกีฬาจักรยาน ชื่อนี้คือชื่อหนึ่งที่คุ้นหูกันดีจากเวทีการแข่งไซโคลครอส หรือเรียกง่ายๆว่าเสือหมอบวิบาก เพราะเขาคือเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกไซโคลครอส 3 ปีล่าสุด! มีความถนัดเป็นพิเศษเรื่องความแข็งแกร่ง และทักษะบนจักรยานที่ไม่เป็นรองใครในสนามวิบาก ความสำเร็จบนเส้นทางเสือหมอบของเขาเริ่มค่อยๆฉายแววมาเรื่อยๆ และมาพีคเอาในเวลานี้ ในปีที่แล้วเขาเป็นที่จดจำในรายการถนนเรียบเมื่อคว้าโพเดี้ยมจากรยการคลาสสิค สตราเด เบียงเก้ ที่อิตาลี (รายการแข่งวันเดียวที่มีช่วงเส้นทางถนนฝุ่นสีขาว)  ต่อเนื่องมากับการคว้าอันดับที่สามของการแข่งขันเสือหมอบชิงแชมป์สหภาพยุโรป และในปีนี้  ฟาน เอิร์ต คว้าตำแหน่งแชมป์เดี่ยวไทม์ไทรอัลของเบลเยียมมาครองได้ ถือเป็นชัยชนะรายการสำคัญในเวทีเสือหมอบแรกของเขา จากนั้นมาต่อด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของทีม ยัมโบ้ วิสม่า คว้าแชมป์เสตจทีมไทม์ไทรอัล ใน ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ มาได้ และแน่นอน ในเสตจที่สิบนี้เอง เขาก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้ชนะอย่างสมบูรณ์แบบที่หน้าเส้นชัย นำหน้าสปรินท์เตอร์ดังๆอีกหลายต่อหลายคน

จากผลการแข่งขันในวันนี้ บรรดาตัวเต็งต่างๆก็ยังคงเกาะกลุ่มกันเข้ามา แต่มีชัยชนะเล็กๆที่ทำให้แชมป์เก่า ขยับตำแห่งขึ้นมาอย่างน่าตกใจ ทำให้ผลเวลารวม เสื้อเหลืองยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแต่ก็เริ่มร้อนขึ้นทีละนิดแล้วในตอนนี้

ผู้นำเวลารวม จูเลียน อลาฟิลิปป์ (ดีคอยแน็ค ควิกสเต็ป)

อันดับสอง แกเร็นต์ โธมัส (ทีมอินิออส) +01’12”

อันดับสาม อีแกน เบอร์นาล +01’16”

อันดับสี่ สตีเฟ่น ครูซ์วิค +01’27”

 

ตัวแปรสำคัญของเสตจทางราบวันนี้ ที่เกิดจากกระแสลม คือการเกิดกลุ่มขาดระหว่างช่วงก่อนจบการแข่งขันเพียงราว 1 ชม. เมื่อทีมอินิออส ยกกำลังกันขึ้นมาลากความเร็วสูง ต่อด้วยการรุกหนักของหัวแถวกลุ่มเปโลตอง ที่ทำให้ตัวเต็งเวลารวมของทีมต่างๆเกิดการได้เสีย บางคนได้ไปกับกลุ่มหน้าจากแผนการและการรับมือสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางคน พลาดตั๋วรถไฟเที่ยวนี้ จำต้องพลาดท่าเสียเวลาจนอันดับขยับลงไปเป็นนาทีในวันสำคัญนี้เอง

ด้าน อดัม เยตส์ จาก มิเคลตัน-สก็อตส์ ตามมาที่อันดับเจ็ด ตามหลังผู้นำอยู่ 1 นาที 47 วินาที และ ไนโร คินทาน่า จากโมวี่สตาร์ทีม ตามมาติดๆที่ 2 นาที 4 วินาที  ที่อันดับเก้านั้นคือ แดน มาร์ติน จากทีม ยูเออี เอมิเรตส์ ที่เวลาห่างจากผู้นำ  2 นาที 9 วินาที ซึ่งก็มีดาราเด่นๆอีกมากมาย ยังเกาะกลุ่มเวลาอยู่ในระดับนี้ไม่ว่าจะเป็น ซิคโคเน่, ปีโน่ต์, อูราน หรือ วาลเวอร์เด้ ทั้งหมดนี้อยู่ห่างตามหลังแชมป์เก่า แกเร็นต์ โธมัส เพียงราว 2 นาทีเท่านั้น นั่นทำให้ การแข่งขันในช่วงต่อไป ที่จะมีภูเขาและการปั่นไทม์ไทรอัลรออยู่ จะยังคงมีการพลิกอันดับกันเกิดขึ้นอีกแน่นอน

ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ปีนี้ เป็นอีกปีที่มีสีสันดุเดือดกันอย่างที่เกินจะคาดคิดเอาไว้ ทั้งในเรื่องของผลแต่ละเสตจ ผลของเสื้อแต่ละตัว ที่ดาราใหญ่ๆก็ทั้งป้องกันอย่างยากลำบาก และการชิงชัยผู้นำเวลารวม ที่ไม่ใช่ว่าจะได้กันมาง่ายๆขาดลอยอย่างที่ใครๆก็มองเอาไว้ แะนี่คือบรรยากาศของตูร์ฯ ในยุคปลายทศวรรษ 90s ที่กลับมาอีกครั้ง ในวันเวลาก่อนที่จะมี”ขาใหญ่” ของแต่ละยุคเข้ามาผูกขาด นับแต่ แลนซ์ อาร์มสตรอง มาจนถึงวันเวลาของ อัลเบอร์โต คอนทาดอร์ และยุคของทีมใหญ่จากอังกฤษ นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เราไม่ค่อยได้เห็นการแข่งขันชิงชัยรูปแบบนี้

ติดตามกันต่อไปสำหรับฉากใหม่ เหลืองสดใส ล้ำสมัยยิ่งกว่าเดิม ประเดิมศักราชใหม่ของ ตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ไปด้วยกันนะครับ

July 16, 2019 cyclinghub 0 Comment