
โดย นักปั่นขยันซอย
นักปั่นขยันซอยจะขอฝอยเป็นการเป็นงาน ให้นักปั่นหน้าเก่า หน้าใหม่ หรือหน้าไหนๆ ที่อยากแรงแต่ไม่มีเวลา อยากซ่าแต่ขาไม่ถึง ได้มีตัวช่วยดีๆที่คู่ควร หลายสัปดาห์ก่อนได้เว้าวอนในเรื่องที่เรียกว่า “Training” ซึ่งสำหรับคนที่กระสันอยากพัฒนาแข้งขา จากขารีบ ขาเร่ง ให้เป็นขาแรงแซงชาวบ้านได้ ก็ต้องขวนขวายไขว่คว้าการฝึกซ้อม ยอมเจ็บ ยอมเหนื่อย ยอมเมื่อย และไหนๆ ก็ยอมกันขนาดนี้แล้ว ก็ควรจะยอมเสียเงินกันอีกสักดอกไปออกสิ่งที่เรียกกันว่า เครื่อง “Trainer” มันจะทำให้คุณเหนื่อยชิบหายวายป่วง แต่ได้ผลแซบแสบทรวงทะลวงโลก เอาหละ เดี๊ยวจะเจียรนัยข้อดีของการ Training ด้วย Trainer ชนิดที่เรียกว่า บรรดาคนขาย Trainer จะต้องส่งยิ้มหวานให้กับนักปั่นขยันซอย
- “ประหยัดเวลา คือสิ่งมีค่าที่สุด” คิดดูนะเด็กๆ อยากปั่นสนามเจริญสุขฯยามเย็น เลิก
งาน 5 โมง ขับรถไปเสียเวลา 1 ชม. ปั่น 2 ชม. ขับรถกลับบ้านอีก 1 ชม. ยิ่งถ้าเจอวันวินาศบนท้องถนน นาทีโกลหลของคนเมือง การจะปั่นจักรยานเพียง 2 ชม. ได้พรากนาฬิกาชีวิตไปเฉียด 5 ชม. แต่ถ้ามีเทรนเนอร์หนะเหรอ เหลือเวลาอีก 3 ชม. เอาไปกิน ขี้ ปี้ นอน ผักผ่อนตามอัธยาศรัย
- “ซ้อมน้อยได้มาก ซ้อมท่ายากได้มหาศาล” สิ่งสำคัญของการซ้อมบนเครื่อง Trainer คือ การ
ซ้อมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ บางคนเรียกว่าฝึก Course บางคนเรียกว่าซ้อม Workout บางคนเรียกปั่นตาม Program ซึ่งไอ้เจ้าสิ่งเหล่านี้ ต้องทำการฝึกในช่วงเวลาที่กำหนด ความหนักเบาของการออกแรงที่กำหนด อัตราการเต้นหัวใจที่กำหนด หรือแม้แต่รอบขาที่กำหนด ถึงจะได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งกันไว้ แต่ถ้าออกปั่นถนน เราจะเจออุปสรรคอะไรกันบ้างหนอ อย่างแรกเลยก็คือไอ้เพื่อนเรา หรือกลุ่มปั่นเรานี่แหละ คือไอ้ตัวดี ทุกคนต้องเคยเจอกับเหตุการณ์ ก่อนปั่นตกลงกันว่าจะปั่น Endurance ยาวๆ สัก 2 ชั่วโมง พอรวมตัวกันแล้วเป็นไง มันจะมีตัวเปิด ตัวตาม ตัวเกทับ ตัวซ้ำ ตัวตี ตัวบ้าบอคอแตกที่จะแหกทุกกฏความเร็วที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก “รวมกันมันส์กว่า” เมื่อทุกคนคิดแบบนั้นความบรรลัยก็บังเกิด อย่างที่สองคือ เราจะหาถนนที่ไหน เส้นทางปั่นแห่งใด ที่จะปั่นตามกำหนดเวลาโปรแกรมซ้อมของเราได้อย่างปลอดภัยและตลอดรอดฝั่ง เดี๊ยวไฟแดง เดี๊ยวมอเตอร์ไซน์ย้อนซ้อน เดี๊ยวหมาตาถั่ว เดี๊ยวหลุมบ่อ ล่อกันให้มั่วไปหมด
- “เทคโนโลยีดี ชีวีพาเพลิน” เมื่อก่อนเวลาซ้อมเทรนเนอร์ที่บ้านมันช่างน่าเบื่อ
เหมือนหน้าเมีย แต่เดี๊ยวนี้มันทำให้เราสนุกเหมือน 14 อีกครั้ง แม้ว่าเมียยังคง……เหมือนเดิม เทรนเนอร์แบบที่เรียกกันว่า Smart Trainer เราสามารถออนไลน์ปั่นพร้อมกันกับเพื่อนเพื่อคลายเหงาได้ สามารถเชื่อมต่อกับคอมฯ หรือมือถือ เพื่อโหลดโปรแกรมการซ้อมลงไป มันก็จะปรับความหนัก ความหนืด ความชัน และอะไรต่อมิอะไรให้เราเบ็ดเสร็จเด็ดดวง ยิ่งบางรุ่นมันจำลองสภาพผิวถนนได้ เรียกว่าปั่นแบบวิบาก มันก็สั่นให้เราพอหัวโยกหัวคลอนหลอนเล็กๆ มันกลายเป็นเครื่องมือที่มีชีวิตชีวา มีการตอบสนอง เหมือนตุ๊กตายางสมัยนี้ที่เทคโนโลยีช่วยให้เราฉิมพลีดีจริงๆ
- “อยากปั่นอากาศไหนเลือกได้ดั่งใจนึก” ฝนตกหนัก แดดออกแรง ลมเย็นจัดล้วนเป็นอุปสรรค
ตามธรรมชาติที่บังอาจห้ามเราออกไปปั่น แต่ถ้ามีเทรนเนอร์อยู่กับบ้าน ก็ใช้รีโมทแอร์เลือกอุณหภูมิที่ถูกจริต เลือกความแรงพัดลมให้ตรงกับความรู้สึกในการอยากจะโต้ลมเอาเลย ระหว่างปั่นถ้าอยากได้ความชุ่มชื้น ก็ไปหาสเปร์ยน้ำแร่ฉีดหน้าโปรยปรายความชุ่มฉ่ำให้หนำปอด เป็นไง…ปั่นในบ้าน…เหนื่อยแต่เลือกได้
- “แม้บ้านอยู่เมือง ก็คุยเฟื่องเรื่องขึ้นเขาได้” จะขึ้นครู ขึ้นคร่อม หรือขึ้นเขา แม้เราจะเป็นคนเมือง
แต่เทรนเนอร์จะช่วยจำลองความหนักหน่วง ให้เราซ้อมช่วงขึ้นเขาบนเทรนเนอร์ จะนั่งไถ่ จะนั่งบด จะยืนโยก ก็จงขโยกเข้าไป แต่ถ้าจะให้เผ่นไปหาภูเขาให้ปีนป่ายทุกวันอย่างนักปั่นภูธร ชาวเมืองอย่างเราๆ ก็คงจะไม่หวาดไหว แต่ถ้าได้ซ้อมบนเทรนเนอร์ บอกเลยว่าเขาไหนก็ได้อยู่
- “ปั่นเพลิน เมินความเสี่ยง” เรารู้กันนะว่าการซ้อมปั่นจักรยานที่ดีคือการซ้อมที่ระดับสัก 90 นาที
ขึ้นไป และยิ่งถ้าซ้อมแบบมีโปรแกรมหรือ workout ที่ต้องก้มหน้าดูจอไปด้วย มันจะเป็นช่วงเวลาที่พลาดไม่ได้เลยบนท้องถนน แต่เทรนเนอร์จะทำให้การออกกำลังของเราเหมือนการซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง 1 เรื่อง เพียงแต่ไม่ได้นั่งกินป๊อปคอร์นเท่านั้นเอง ระหว่างปั่นเราสามารถเปิดหนังที่เราอยากดูเคียงคู่กันไป แต่ก็เลือกประเภทหนังกันหน่อยนะ เอาเป็นหนังแอคชั่นที่ไม่ต้องใช้สมองประคองเรื่องเยอะ หรือหนังตลกโปกฮาพาเพลินดี แต่ถ้าใครล่อหนังดราม่าหรือหนังอย่างว่า เดี๊ยวจะพาปั่นไม่เสร็จเสียเปล่าๆ
เมื่อตกลงปลงใจได้ว่าจะสอยเทรนเนอร์ ก็จะเข้าเรื่องว่า แล้วเลือกเทรนเนอร์แบบไหนอย่างไรดี
หลักสากลโลกเขาแบ่งประเภทเทรนเนอร์กันตาม ระบบที่ทำให้มันเกิดความหน่วง (Resistance)
- แบบพัดลม ข้อดีคือมันถูก แต่ข้อเสียคือมันเสียงดัง มันเชย มันไม่ค่อยมีลูกเล่น ไม่ทันสมัย
- แบบแม่เหล็ก ข้อดีคือ เงียบ ดูแลง่าย ใช้งานสะดวก Option เยอะ เชื่อมต่อได้วิจิตรพิสดาร
- แบบของเหลว ข้อดีคือ ให้ความรู้สึกเวลาปั่นคล้ายคลึงเวลาปั่นบนถนนมากสุด มี Option มากมายแต่ก็มีข้อเสียสำคัญคือ มันร้อน
- แบบลูกกลิ้ง ข้อดีคือ ได้ฝึกทักษะการควบคุมจักรยาน ราคาถูก ยางไม่สึกหรอมาก แต่มันปรับความหนืดเพื่อฝึกขึ้นเขาไม่ได้ แต่มันก็มีเทรนเนอร์ลูกผสมรุ่นใหม่ออกมาแล้ว ที่เป็นลูกกลิ้งเฉพาะรองรับล้อหลัง ส่วนล้อหน้าถอดออกแล้วมีฐานยึดกับตะเกียบ มันปรับความหนึดได้ ยางไม่สึก พี่ซอยเคยใช้อยู่พักใหญ่ ใครสนใจลองไปหาข้อมูลกันดูนะจ๊ะ
- แบบสุดท้ายนี่ เพิ่งโผล่มาได้ไม่นาน เรียกว่าแบบต่อตรงกับชุดขับ หรือฝรั่งเรียก Direct Drive คือตัวเทรนเนอร์จะมีเฟืองติดมาด้วย เวลาใช้ก็ถอดล้อหลังออกแล้วเอาโซ่ของจักรยานเราติดตั้งเข้ากับเฟืองที่ติดอยู่กับเทรนเนอร์ ซึ่งมันใช้งานง่ายมาก ถอดเข้าออกไม่ยาก และให้ความรู้สึกในการปั่นแบบสมจริงสมจัง แต่ก็แลกด้วยเงินหลายตังอยู่
และนั่นก็คือทั้งหมดทั้งมวลของนักปั่นที่คิดจะ Training ด้วย Trainer ว่ามันดีมีประโยชน์จริงๆ
นะเออ มันช่วยย่นเวลาการซ้อม แถมช่วยให้เราพร้อมในทุกสภาพอากาศ โปรแกรมการปั่นที่เตรียมรับรองว่าไม่มีพลาด ใครสนใจก็ไปลาดตระเวนดูตามร้านจักรยานเอาเอง…ได้มาก็ขอให้คลื้นเคลงกันทั่วหน้านะครับ…ด้วยรักและมักมาก…นักปั่นขยันซอย