
หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปเมื่ออร้ยกว่าปีที่แล้ว”เหล็กกล้า” หรือ “สตีล” เป็นวัสดุแห่งอนาคตในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารที่เปลี่ยนจากคอนกรีตมาสู่เหล็ก จนถึงเฟอร์นิเจอร์ และแน่นอนว่าในเวลาไม่นานหลังจากนั้น เมื่อจักรยานกำเนิดขึ้นมาไม่นาน จากเฟรมไม้ มันก็ถูกเปลี่ยนเป็นเหล็กกล้าในที่สุด และใช้เวลาอีกหลายสิบปี ผ่านกรรมวิธีและความพยายามอย่างยิ่งยวด วิ่งจากเหล็กกล้า เข้าสู่ยุคของโลหะผสที่เรียกกันว่า”อัลลอย” โดยการผสมโลหะต่างๆเพื่อคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ตัวที่ประสบความสำเร็จที่สุดตัวหนึ่ง ที่ทำให้เหล็กกล้าเบาลงได้กว่าเดิมก็คือการใช้อัลลอยผสมจนกลายเป็น “โครโมลิบดินั่มอัลลอย” และเรียกกันติดปากว่า”โครโมลี่” ที่พวกเราคุ้นเคยกัน ต่อมา เมื่อถึงจุดอิ่มตัวของการพัฒนาเหล็กกล้า การมองหาโลหะใหม่ๆก็เข้ามาสู่อุตสาหกรรมจักรยาน โดยมี อลูมินั่ม เป็นโลหะที่มีอนาคตมากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ที่ทำให้อลูมินั่มที่ทั้งเบา แข็ง แกร่ง เข้าสู่จุดอิ่มตัว รวมถึงการเกิดความพยายามทดแทนด้วยวัสดุต่างๆนานา ทั้ง ไฟเบอร์กลาส และ แม็กนีเซียม ท้ายที่สุด วัสดุคอมโพสิต ก็ได้ชัยชนะไป และเข้าสู่ยุคของ”คาร์บอนไฟเบอร์” ในปลายทศวรรษ 90s นั่นเอง
คาร์บอนไฟเบอร์ ไม่ใช่สิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมหนัก มันกำเนิดมาก่อนสิ้นสงคราเย็นเสียด้วยซ้ำ ในวันเวลาที่โลกยังคงแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจนนั้น วัสดุนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆเป้นที่แพร่หลาย แต่ยังไม่เข้ามาสู่วงการกีฬา สาเหตุสำคัญอันดับแรกเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์มากกว่า เพราะพวกเขาไม่สามารถผลิตมันได้มากนัก ความต้องการก็อยู่ในแวดวงจำกัดทำให้มีความเป็นวัสดุเฉพาะทางมาก ราคาจึงสุง การจะนำมาผลิตจักรยานสักคัน ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่โตกว่าสมัยนี้อย่างที่จินตนาการไม่ได้ คุณลองนึกภาพง่ายๆครับว่า จักรยานคาร์บอนจริงๆแล้ว มีมาตั้งแต่ยุค 80s โน่น แต่มันเป็นจักรยานสั่งทำพิเศษ เฉพาะคนมากกว่า และใช้เวลานานมากกว่าที่จะมีจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์ผลิตขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในระบบอุตสาหกรรม โดยมีแบรนด์”ลุค”(Look) เป็นรายแรกที่ทำจักรยานคาร์บอนออกมาขาย ซึ่งก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ด้วยในเวลานั้น ราคาของมันจัดว่าสุงมาก อีกสาเหตุสำคัญก็คือ สมรรถนะของอลูมินั่มที่ทำได้อย่างสุดยอด เข้าใกล้จุพีคของวัสดุ มีการขึ้นรูป การรีดท่อ และการทำทรีตเม็นท์ที่ให้คุณสมบัติที่แข็งแต่น้ำหนักเบา กลายเป็นวัสดุที่สามารถสร้างจักรยานได้ดีกว่า มีความต้องการตลาดรองรับมากพอที่จะผลิตออกมาในปริมาณที่เหมาะสมให้ราคาลดลงได้ไม่ยาก
การใช้คาร์บอนไฟเบอร์มาผลิตเฟรมจักรยานในระยะแรกๆใช้ในรูปแบบของท่อคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งก็ได้จากการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาม้วนเป็นท่อทรงกระบอกแล้วตัดให้ได้ความยาวตามต้องการ เข้ารอยต่อด้วยข้อต่อทากาวพิเศษ คล้ายๆกับการนำมาแทนที่ท่อโลหะที่ใช้มาแต่เดิม โดยให้จุดเด่นที่น้ำหนักที่เบากว่าเหล็ก(สตีล) และอลูมินั่ม ทว่ามีข้อเสียตามมาคือความสติฟฟ์ที่ไม่สุงมากนัก ดังนั้นในการแข่งขันจักรยานระดับอาชีพ เฟรมคาร์บอนจึงยังไม่ได้เข้ามามีส่วนอย่างเต็มตัว แน่นอนว่ามีหลายทีม หลายแบรนด์เริ่มใช้จักรยานคาร์บอนในการแข่งขันมาตั้งแต่ต้น 1990s กันแล้ว แต่มันใช้เพียงในกรณีเฉพาะ จนกระทั่งมีจักรยานคันหนึ่ง กลายเป็น”อาวุธ” สำคัญให้กับนักแข่ง เป็นเสือหมอบคาร์บอนไฟเบอร์เต็มคัน คันแรกที่ถูกใช้ในการแข่งขันตูร์ เดอ ฟร็องซ์ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย
เทร็ค มาโดน (Trek Madone) ชือ่นี้ได้มาจากชื่อภูเขาลูกหนึ่งที่แลนซ์ อาร์มสตรอง ใช้ฝึกซ้อมและทดสอบความฟิตของเขาอย่างสม่ำเสมอ “โคล เดอ ลา มาโดเน่” ซึ่งชื่อรุ่นนี้ถูกใช้ครั้งแรกในปี 2003 ทว่าแท้ที่จริงแล้ว มันคือการส่งต่อสายพันธุ์ “เทร็ค 5000” ที่มีมาก่อนหน้านั้นและถูกใช้ในโปรทีมโดยแลนซ์ อาร์มสตรอง สร้างความฝันของอเมริกันชนในกีฬาจักรยานคู่กับความสำเร็จของเขาในช่วงเวลานั้น ดังนั้นถ้าจะพูดให้ถูกจริงๆ เทร็ค 5000 น่าจะเป็น จักรยานรุ่นแรกที่ถูกใช้ในการแข่งแกรนด์ทัวร์ทุกเสตจมากกว่า อย่างไรก็ตาม บรรดากูรูทั้งหลาย และสื่อจักรยานหลักของโลกยกให้ มาโดน คือ หนึ่งในรุ่นของ เทร็ค 5000 ก็พอจะอธิบายกันได้ง่ายๆว่า จึงยกให้ มาโดน เป็นจักรยานเสือหมอบคาร์บอนไฟเบอร์รุ่นแรกที่ใช้แข่งแกรนด์ทัวร์ทุกเสตจนั่นเอง
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกสิบปี ในปี 1992 เป็นปีแรกที่เทร็คได้เริ่มต้นนวัตกรรมของพวกเขาโดยการชูเส้นทางการพัฒนาเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์อย่างเต็มที่ แตกต่างจากคู่แข่งแบรนด์สัญชาติเดียวกันอย่างแคนนอนเดล ที่ไปชูเอาอลูมินั่มเป็นวัสดุหลัก จนกำเนิดเป้นเทคโนโลยี OCLV หรือการผลิตคาร์บอนไฟเบอร์ให้มีช่องว่างระหว่างเนื้อวัสดุน้อยที่สุด เพื่อให้ได้คาร์บอนที่แข็งแรง รับแรงได้ดี ใช้ปริมาณไม่มากก็สามารถแข็งแรง สติฟฟ์ส่งกำลังได้อย่างยอดเยี่ยม และลบจุดด้อยของคาร์บอนไฟเบอร์ในยุคก่อนหน้านั้นไปได้สำเร็จ ซึ่งระยะเวลายาวนาน 10 ปีนี้เอง ที่ทำให้พวกเขาสามารถสร้างมาโดนออกมาได้ในปี 2003 เป็นเสือหมอบที่ลงตัวด้วยวัสดุคาร์บอนเป็นรายแรกของดลก ทั้งแนวคิดในการวางทิศทางของคาร์บอน และการควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่แบ่งแยกระหว่างเฟรมคาร์บอนที่ดีและเลว แม้กระทั่งในปัจจุบัน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ จากคาร์บอนที่ถูกเรียงตัวเป็นท่อแล้วมาประกอบกัน สู่การขึ้นรูปแบบโมโนค็อก ความรู้ทางด้านคาร์บอนไฟเบอร์เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างมาก นักออกแบบและวิศวกรสามารถดึงเอาคุณสมบัติต่างๆมาสร้างให้ได้เฟรมจักรยานที่มีน้ำหนักเบา แข็งแกร่ง สติฟฟ์มากกว่าเดิม ในขณะที่สามารถให้ตัวได้ สลายแรงสะเทือนในเฟรมเดียวกัน ทั้งหมดนี้ คงจะไม่สามารถเป้นไปได้ หากขาดช่วงรอยต่อสำคัญของอุตสาหกรรมจักรยานในยุคนั้น และเราขอยกให้ เทร็ค มาโดน กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัสดุชนิดนี้ จวบจนถึงปัจจุบันนี้ที่เรามีเฟรมจักรยานน้ำหนักเพียง 600 กรัม คาร์บอนก็ยังคงเป็นวัสดุสำคัญต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปีเข้าไปแล้ว และจะยังคงเป็นอยู่ต่อไปอีกในอนาคตอย่างแน่นอน จนกว่าวันที่วัสดุศาสตร์จะล้ำหน้าและส่งเอาวัสดุรูปแบบใหม่มาเปลี่ยนเส้นทางเดินของอุตสาหกรรมจักรยานแทนที่วัสดุคอมโพสิตชนิดนี้