
หลายคนเคยมีคำถามว่าเหตุใดนักปั่นหลายๆคนจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมกับ Power Meter ควบคู่กับ Heart Rate Monitor ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้นำเข้า Power Meter หลากหลายเจ้า หลากหลายแบรนด์นำสินค้าเข้ามาในตลาดบ้านเราเยอะมาก ตั้งแต่ราคาที่จับต้องได้ จนถึงระดับไฮ-เอนด์ กันเลยทีเดียว
Power Meter ช่วยอะไร ? นอกจากจะไปเพิ่มน้ำหนักรถแล้ว มันดูสง่าดุดันเหมือนเหล่านักแข่งโปรทัวร์แค่นั้นเองเหรอ คำตอบคงไม่ใช่ซะทีเดียว เนื่องจากการฝึกซ้อมโดยใช้โซนของ Power Meter นั้นจะแม่นยำกว่าถ้าหากเราใช้เพียง Heart Rate Monitor เพียงอย่างเดียว
Power Meter ช่วยเพิ่มศักยภาพของนักปั่นที่เริ่มเข้าสู่โหมดจริงจัง คือเรียกได้ว่าเราสามารถกำหนดการใช้แรงควงบันได ควบคู่กับการดูหัวใจว่าเราสามารถทนต่อแรงกดหรือแรงต้านได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเราสามารถดูการพัฒนาของเราเองได้
สิ่งที่ควรรู้หลังจากที่มี Power Meter คือ การเทสต์ค่า FTP (Functional Threshold Power) เพื่อที่จะกำหนดโซนในการซ้อมได้ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่การเทสต์ FTP จะมีอยู่ 2 วิธี โดยวิธีที่นิยมจะเป็นเทสต์ที่ 20 นาที จะเป็นค่าที่ใกล้เคียงที่สุด เนื่องจากการแข่งขันในทุกระดับนั้น ร่างกายที่พร้อมกล้ามเนื้อที่ดี เป็นส่วนสำคัญในการชี้ชะตาว่าตลอดระยะทาง 100 กว่ากิโล เราสามารถบริหารการใช้แรงได้มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่แค่ต้องการโชว์วัตต์มากๆ แต่การอ่านค่าที่ได้มันต้องสมเหตุสมผล เช่น การปั่นในกลุ่มอาจจะใช้ Power Zone 1-2 โดยการควงขาเบาๆประครองอยู่ในกลุ่ม หรือการขึ้นเนินชัน เราก็ต้องบริหารแรงให้ดีไม่เช่นนั้นอาจจะหมดแรงก่อนถึงยอดเนินก็เป็นได้ การยกสปรินท์ หรือการเบรคอเวย์ ตรงนี้อาจจะต้องอาศัย Power ที่หนักหน่วงแต่รีดออกมาในช่วงสั้นๆ เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ Power Meter ได้รับความนิยมคือการหาค่าของโซนการฝึกซ้อม เพื่อที่จะนำค่านั้นไปซ้อมได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็น IF หรือ TSS (ซึ่งเป็นค่าที่นิยมมาใช้ดูหลังจากการฝึกซ้อม) IF กับ TSS สามารถทำให้เราหรือโค๊ชคอยประเมินผลความหนักหรือเบาของการฝึกซ้อมในวันถัดๆไป ทั้งนี้ยังสามารถวางแผนการซ้อมระยะกลางถึงยาวได้เป็นอย่างดี เช่น นักกีฬาปกติจะมีค่า TSS ต่ออาทิตย์อยู่ที่ราวๆ 450-500+ (ระยะเวลาฝึกซ้อมราวๆ 12-15 ชม) ซึ่งตรงนี้เราสามารถประเมินได้ว่าจะซ้อมให้ออกมาในรูปแบบไหนจึงจะส่งผลดีที่สุดโดยที่ไม่ให้หนักหรือเบาจนเกินไป