ดูแข่ง ดูปั่นกันมาก็นาน คุณรู้หรือไม่ครับว่า เบื้องหลังการทำงานนั้น มีเกร็ดน่ารู้อะไรบ้างที่พวกเราควรรู้ เพราะบางเรื่องอาจค้านกับความคุ้นเคยที่เราเห็นกันมาตลอด เพราะความคุ้นชินนั้นไม่ได้แปลว่าถูกต้องเสมอไป ที่สำคัญ บางเรื่องก็ง่ายแสนง่าย ชนิดไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีกันเลย

 

กล้องที่ถ่ายห้ามนั่งกลับหลัง

ในระเบียบของ UCI ที่ควบคุมการแข่งขันจักรยานมาตรฐานสากล ระบุอย่างชัดเจนเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกล้องภาพนิ่ง หรือกล้องถ่ายทอด ห้ามนั่งกลับด้านหันมาถ่ายอย่างเด็ดขาด เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ดังนั้น ที่ทำๆกันอยู่ ที่นั่งหันอีกด้านมาคอยถ่าย ถือว่า”นอกคอก” กันทั้งสิ้น  ดังนั้นช่างภาพเมืองนอกที่เห็นๆทำงานกันนั้นเรียกว่า “ฝีมือ” และความสามารถล้วนๆไม่ต้องมาดัดแปลงรถ ท่านั่งให้มันพิสดารก็ได้งานมาสำเร็จ

ข้อมูลการแข่งขัน ส่งมาทางกลุ่มไลน์

นี่คือกระบวนการแบบไทยๆ ง่ายๆ หาทางแก้ปัญหากันอย่างเบสิคที่สุด โดยมีคนคอยส่งข้อมูลการแข่งขันทั้งหมดกลับมาทางห้องส่งด้วย”ไลน์” สุดยอดการเชื่อมต่อหากันอย่างไร้พรมแดน แถมเวลาจะโฟนอินเข้ามา ก็โทรเข้าสายกันดื้อๆ เอาไมค์จ่อลำโพงกันดื้อๆ ไม่มีการเดินระบบเสียงเข้าสู่อุปกรณ์ไฮเท็คอะไรทั้งสิ้น บางครั้ง การทำอะไรให้เรียบง่ายแต่ได้ผลดี คือทางแก้ปัญหาให้ได้ผลงานออกมาดีที่สุด

ถ่ายทอดแต่ละครั้งใช้เงินเป็นครึ่งล้าน

อ่านไม่ผิดเลยครับ มูลค่าการออกไปถ่ายทอดการแข่งแต่ละครั้ง แต่ละวัน นับเป็นเงินหลักครึ่งล้านบาทได้เลย ทั้งอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ ช่างภาพ ทีมงานนับสิบๆชีวิตที่ต้องเดินทางออกไปสำรวจเส้นทางวางแผนการจัดการ ที่พัก อาหาร  ดังนั้น อย่าว่าแต่เฮลิคอปเตอร์เลย แค่ต้นทุนนี้ก็ถือว่าอ่วมแล้ว ถ้าอยากได้ภาพแบบสุดเทพเหมือนในยุโรป ต้องมีคนดูกันเป็นแสนๆคนก่อนครับ ตอนนี้ดูไม่มากพอที่จะมีเงินเติมน้ำมันเฮลิคอปเตอร์ได้

สถิติยอดผู้ชมสูงที่สุดมาจาก Youtube

ไม่ผิดเลยครับ ในการถ่ายทอดสดจักรยานที่ผ่านมา ยอดการเข้ชมรายการที่มีคนชมพร้อมกันมากที่สุดคือยอดรวม ณ ช่วงเวลาหนึ่งประมาณ 10,000 คน โดยที่แบ่งเป็น Facebook และ Youtube อย่างละครึ่งๆกันเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ยอดจาก Youtube มีเวลาการชมเฉลี่ยราว 20 นาที ในขณะที่ยอดการชมเฉลี่ยใน Facebook อยู่ที่ราว 2 นาทีเท่านั้น !!

กล้องที่ใช้ไม่ได้ต่างจากอุปกรณ์ในบ้านทั่วไป

ในการถ่ายทอดสดจักรยานในยุโรป กล้องที่ใช้นั้นถือเป็นอุปกรณ์การออกอากาศแบบมาตรฐาน ทั้งเรือ่งของภาพ สี และการกันสั่นสะเทือนของภาพที่สุดยอด เฉพาะกล้องก็หลายล้านบาทแล้ว แต่ในการถ่ายทอดสดจักรยานในบ้านเราปัจจุบันใช้เทคโนโลยีการส่งข้อมูลผ่านสัญญาณโทรษัพท์ด้วยซิมการ์ด 4G เชือ่มต่อเข้ากับกล้อง DSLR ปกติที่หาซื้อกันได้ทั่วไปนี่แหละครับ ดังนั้น ข้อจำกัดจึงมีทั้งเรือ่งของการสั่นของภาพ การกันน้ำกันฝน และแน่นอนว่า เรื่องของการส่งสัญญาณในหลายพื้นที่ ที่สำคัญ …  กล้องแบบนี้แบตเตอรี่มันก็ไม่ได้อยู่กันได้ยาวนานมาก การวางแผนการถ่ายทำจึงต้องรวมถึงการสลับก้องถ่ายเพื่อให้มีเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่กันด้วย บางรายการถึงขั้นมีทีมสนับสนุนทีมกล้อง มีกล้องำรองเอาไว้ยามฉุกเฉินเลยก็มี

ปีนี้ ประเทศไทยมีการถ่ายทอดจักยานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ในปีนี้ เรามีการถ่ายทอดสดการแข่งจักรยาน หรือทริปจักรยานอย่างเป็นระบบผ่านสื่อโซเชียลมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ หากนับเป็นวัน ประเภท และรายการในการถ่ายทอด รวมๆกันแล้วน่าจะมีเกิน 60 การออกอากาศอย่างไม่ต้องสงสัยนั่นก็แปลว่าเอามาเฉลี่ยกันแล้ว มีการถ่ายทอดสดจักรยานให้ชมกันมากกว่าสัปดาห์ละครั้งกันเลย ทั้งเสือหมอบ เสือภูเขา บีเอ็มเอ็กซ์ ไครทีเรียม แข่งระดับโปรทัวร์ ระดับสมัครเล่น วันเดียว หลายวัน สะสมคะแนน ไปจนถึงทริปปั่นขนาดใหญ่ๆก็มีการถ่ายทอดสดให้ได้ชม

 

ในปีหน้า 2020 จะมีรายการโอลิมปิค ณ กรุงโตเกียว ซึ่งเรากำลังลุ้นให้นักปั่นไทยทั้งชายและหญิงมีสิทธิเข้าร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งเวลาและสถานที่ นับว่า เหมาะแก่การรับชมเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องมาลุ้นกันว่าเราจะได้ชมการถ่ายทอดผ่านทางสื่อไทย ภาษาไทย เพื่อให้เข้าใจและเชียร์กันอย่างสนุกหรือไม่ ทั้งนี้ก็อยู่ที่พวกเรานักปั่นทุกคน ยิ่งชม เชียร์ แชร์ กันมากเท่าไหร่ กีฬาจักรยานก็ยิ่งถูกให้ความสำคัญมากขึ้น

May 22, 2019 cyclinghub 0 Comment