จักรยานเน่ย หามาแล้วใครๆก็ปั่นได้สนุกกันทั้งนั้น ยิ่งเสือหมอบคันงาม สวยเท่เฉี่ยวซิ่งลู่ลมนั้นยิ่งเริ่ดอย่าบอกใคร ยามใดที่ได้ขึ้นไปปั่นท้าลมแรงแหวกอากาศไปข้างหน้า ชีวิตมันช่างสวยงามเกินกว่าจะบรรยายออกมาได้ ทว่า…วิบากชีวิตที่คุณจะต้องร้องจ๊ากเมื่อเดินออกจากถนนราบไปเจอคำว่า”เนิน” จะมาถึงทันทีสำหรับนักปั่นเมืองกรุงนับพัน นับหมื่น ที่อาจไม่เคยออกไปพจญเส้นทางชัน ที่เปลี่ยนจากการพุ่งฝ่าลมแรง เป็นศึกหนักที่ต้องลากเอาสังขารต้านแรงโน้มถ่วงของโลก จนทำให้แทบจะร้องโอ้กทุกครั้ง ที่เพื่อนชวนออกไปั่นเส้นทางสุดสวย ไม่ว่าจะเป็น วังน้ำเขียนว สวนผึ้ง โป่งกระทิง ระยอง จันทบุรี และแม้แต่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะเพียงนึกถึงแรงขาอันอ่อนเปลี้ยที่ต้องเคลียคลออยู่กับตะคริว และปลายเนินที่ไกลสุดสายตา ก็พร้อมจะกราบกรานขอชีวิตกันเลยทีเดียว

แต่มันไม่ใช่เรื่องยากหรอกครับ วันนี้ ผมหยิบเอาข้อเตือนใจ 5 ข้อให้ท่องเอาไว้ ก่อนจะรับปากเพื่อนว่า “ไป” ทันทีที่พวกเาชวนไปปั่นเส้นทางขุนเขา และพกเอาความมั่นใจใส่เห็เต็มสามกระเป๋าด้านหลัง จบทริปได้แบบไม่อนาถาอย่างแน่นอน

 

รู้เขา

ใน 13 ตำราพิชัยสงครามของซุนวูกล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ในตำราพิชัยจักรยานของซูนกู ก็ขอกล่าวเช่นกันว่า “รู้เขา รู้เรา ไต่ร้อยเขา รอดพันเขา” และตำรับแรกนี้ขอนำเสนอในส่วนของคำว่า “รู้เขา” เป็นอันดับแรก เป็นที่ทราบกันดีว่า เขาที่ขึ้นที่เดิมซ้ำเป็นครั้งที่สองนั้น คุณจะขึ้นได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน นั่นไม่ใช่เพราะมวลปราณภายในที่แกร่งขึ้น แต่เพราะ คุณรู้แล้วว่าเส้นทางเบื้องหน้าเป็นเช่นไร จะชันต่อ ชันขึ้น จะลาดลง หรือจะได้พักกับทางลงเขายาวๆ และบริหารกำลังขาได้ถูกต้อง ซึ่งนี่คือหัวใจของการไต่เขา เบื้องต้น การทำการบ้านสักนิดสามารถช่วยเราได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาข้อมูลของภูเขาให้ได้เนื้อหาถ่องแท้ ดังนั้น หนึ่งทักษะที่ควรฝึกฝนคือการเฝ้าสังเกตภูมิประเทศของเส้นทางนั้นๆ มองไปหาจุดยอดของเทือกเขา อ่านลักษณะเส้นทางว่าเมื่อพ้นโค้งหน้าไปแล้ว ทำท่าว่าภฤูเขาจะยิ่งชันขึ้น หรือน่าจะลาดลง ผสมกับข้อมูลที่หามาได้ เช่นความสูงของเขาลูกนั้น คุณอาจพอจะคาดคะเนได้ว่าจะพบเจออะไรในอีก 300 เมตรเบื้องหน้า เฉกเชี่ยเดียวกับที่ ขงเบ้งคาดการมาของลมอาคเนย์จึงแสร้งทำพิธีเรียกลมมาเผาทัพโจโฉให้จิวยี่ได้สำเร็จก่อนจะรีบหนีลงเรือไปกับจูล่งรอดพ้นการถูกใช้งานแล้วเชือดทิ้งไปได้

 

รู้เรา

บทที่สองต่อเนื่องกันคือเมื่อรู้เขาแล้ว ต้องรู้เราด้วยจึงจะได้ชัย เพราะแม้รู้เขา อ่านขาด เฉียบคนเช่นไร แต่ไร้ซึ่งความประจักษ์ต่อขุมกำลังที่ตนมี ย่อมถึงกาลบรรลัยได้อย่างง่ายดาย คุณต้องรู้ศักยภาพของตนเอง หมั่นตรวจสอบขุมกำลังอย่างเป็นกิจระหว่างการไต่เขานั้น ยิ่งเขายาวเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้แรงกำลังอย่างมีสติ อย่าผลีผลามทุ่มกำลังจนอาจหมดได้เอาง่ายๆ อุปกรณฺ์ที่ช่วยในเรื่องนี้ได้นั้น มีตั้งแต่ พาวเวอร์มิเตอร์ ฮาร์ทเรท ไปจนถึง ความสามารถในการอ่านความรู้สึกเหนื่อยของเราเอง และควบคุมให้ผ่านพ้นเนินแล้ว เนินเล่าไปด้วยอัตราความล้าที่อยู่ในการดูแลเสมอ

ไม่มีสงครามใดที่ไร้ศพทหาร จงคำนึงไว้ว่า เนินแล้ว เนินเล่า ชันแล้วชันเล่า ก็เหมือนกับการเดินหมากแลกเบี้ยเพื่อรุกสู่ขุนของฝ่ายตรงข้าม หรือการค่อยๆส่งทัพเข้าตีหักด่าน มันต้องมีสูญเสียกันอยู่แล้ว คุณจะเลือกทุ่มกำลังทั้งหมดไปกับด่านห้น้าจนเหลือแต่ทัพหลังง่อยๆกับศัตรูอีกครึ่งแสน หรือจะเลือกการรุกไล่ตีทีละเนินอย่างชาญฉลาด ใช้คนน้อยสยบคนมาก ทุ่มตีได้ในจุดที่เราได้เปรียบ และตั้งมั่นรักษาควบคุมความเสียหายในจุดที่เราเสียเปรียบ อันนั้นต้องเลือกบริหารให้เหมาะกับกำพืดของแต่ละคน แต่สรุปสั้นๆได้ว่า มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง หากถีบลงให้มาก จักยาก …. นาน…..

 

เสียบงกรัง

การไต่เขา ต้องเซฟน้ำหนักให้ได้มากที่สุด… นี่คือสิ่งที่บอกต่อๆกันมาซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไรเลย น้ำหนักที่ลดลงเพียง 1 กิโลกรัม ช่วยเราไต่เขาได้ง่ายขึ้น แต่ในอดีตกาลนานมานั้น สอนสั่งกันมาว่า นักปั่นที่ทนอด ทนทรหด ดื่มน้อย กินน้อย แล้วไปได้เร็วคือสุดยอดแห่งมนุษย์ ใช้ชีวิตกันแบบหน่วยรบพิเศษเน้นลูกทนเข้าว่า ซึ่งผ่านพ้นมานับสิบปี บัดนี้ความเชื่อนี้ได้หายไปหมดสิ้นและเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า อาหารและน้ำที่ถึงอย่างเหมาะสม ช่วยให้สมรรถภาพการปั่นพุ่งทะยานไปได้มากกว่าเดิม ร่างกายอันแข็งแกร่งดุจหน่วยซีลก็จะระเบิดพลังได้พ้นขีดจำกัดเมื่อได้รับตัวช่วยจากกองเสบียง

จงอย่าตระหนี่กับการบรรทุกน้ำเต็มขวดให้พร้อมพอเพียงกับระยะเวลาที่จะเดินทาง จงอย่ากังวลที่จะพกแหล่งพลังงานติดไว้ในกระเป๋าหลังพร้อมจะจับใส่ปากเพิ่มแรงได้ทุกๆ 45-60 นาที ร่างกายที่ขาดน้ำและเกลือแร่ เสี่ยงต่อการเกิดตะคริวได้มากกว่าเดิมหลายเท่า พร้อมทั้งร่างกายที่ขาดแคลนแหล่งพลังงานด่วนจากน้ำตาลในกระแสเลือดและไกลโคเจน จำต้องไปดึงเอาไขมันมาแปรเปลี่ยนซึ่งใช้เวลามากกว่า และให้พลังงานเข้าสู่ระบบไม่ทันการออกแรงหนักอย่างต่อเนื่อง และเชื่อผมสิ น้ำมีเหลือดีกว่าขาด ส่วนอาหารไม่กี่ซอง มันไม่ทำให้น้ำหนักที่สู้รีดรถมาเพิ่มขึ้นมากมายหรอก พลังงานในนั้น ล้ำค่านักยามร่างกายโหยหา

 

นั่งตรงมองข้างหน้า

โจโฉ ส่งถุงผ้าบรรจุคำสั่งให้แม่ทัพเปิดออกอ่านยามคับขัน คราวนี้ผมก็ขอเลียนแบบสุดยอดนักปกครองแห่งวุย ยื่นวลีสั้นๆนี้ให้กับท่านจงท่องไว้ยามเข้าตาจน เมื่อไหร่ที่ใกล้ถึงจุดแตกหักแห่งการไต่ทางชัน หัวใจใกล้แตก ขาร้อนผ่าว และทางชันยังไม่หายไปเสียที จงหายใจให้ลึก นั่งตัวตรงจับที่แฮนด์ด้านบน ยืดอกเปิดทางเดินอากาศเข้าสู่ปอด แล้วค่อยๆลดแรงที่ออกไปทีละนิดๆ เพียงลดแรงทีละน้อยอย่างต่อเนื่องไม่นานร่างกายก็จะค่อยๆฟื้นคืนสภาพที่พอจะรับมือกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ และจำไว้ว่าหากไม่จำเป็น อย่าเปลืองแรงกับการลุกขึ้นยืนโยกอย่างหล่อเหลาเหมือนโปรในทีวี จงยืนเพื่อคลายอิริยาบทในช่วงที่ทางไม่ชันมากนัก คลายความเครียดของกล้ามเนื้อหลังช่วงล่างที่รับแรงเค้นมากกว่าการปั่นบนทางราบ

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยมากๆคือการปั่นที่เปลืองแรงจนเกินไป โน้มตัวลงต่ำ โยกตัวช่วงบนไปมา โดยที่คิดไปเองว่าการขย่มโยกตัวนั้นจะช่วยให้รถไต่เขาไปได้ แต่เปล่าเลย อันที่จริงมันคือการใช้พลังงานอานล้ำค่าไปอย่างไร้ผลอันสมควร เพราะในการนั่งปั่นขึ้นเขา เราอาศัยกำลังจากกล้ามเนื้อหลังช่วงล่าง ต่อเนื่องกับสะโพกและก้นลงไปยังขา โยกไหล่ ขย่มตัว เพียงช่วยหลอกให้คุณเข้าใจว่าแรงเหล่านั้นส่งลงไปยังลูกบันไดได้  คุณสังเกตโปรระดับโลกให้ดีๆก็จะเห็นว่ายิ่งพวกเขาระเบิดพลังมากเท่าไหร่ ยิ่งรักษาร่างกายที่นั่งช่วงบนให้นิ่งเท่านั้น และนี่คือเคล็ดลับที่ช่วยคุณได้ยามวิกฤตินั่นเอง

 

ใช้เงินแก้ปัญหา

อย่าอายที่จะบอกว่าเรื่องแบบนี้ใช้เงินแก้ปัญหากันได้ จงไปหาเฟืองใหญ่ จานเล็ก ที่เพียงพอกับความต้องการมาใช้ซะ และอย่าลืมทำการบ้านเกี่ยวกับเรื่องของกลไกว่าคุณต้องเปลี่ยนตีนผลี ตัดโซ่ ต่อโซ่ หรือไม่อย่างไร แต่หากพูดถึงภูเขาทั่วไปในภาคกลาง รับรองได้ว่าอย่างมากจานคอมแพ็คและเฟือง 32 ก็เกินพอแล้ว หากคุณใช้กลยุทธทั้งหมดที่ผ่านมาผสมกัน เพราะความชันและระยะทางไม่ได้ยาวมากแบบภูเขาในภาคเหนือ แม้แต่ภูเขาสูงชันของภาคตะวันออกและภาคใต้ หากคุณแกร่งพอก็สามารถพิชิตมันได้ด้วยความแกร่งของกล้ามขา เพราะมันไม่ได้ยาวมากเลย แตกต่างจากภูเขาในต่างประเทศที่ทั้งชนและยาวอย่างต่อเนื่อง หรือยอดดอยอินทนนท์ที่ช่วงสุดท้ายช่างขยี้หัวใจนัก

คุณลองมองหาจานแบบคอมแพ็ค 50/34 ฟันมาเป็นตัวเสริมก่อนไปขึ้นเขาดูได้เลยถ้าไม่มั่นใจ มันเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด จากนั้นหากยังไม่พอลองมองหาเฟืองที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นอีกตัวช่วย เพียงเท่านี้ ชีวิตที่รออยู่ก็จะดีขึ้นอย่างสดใส แต่ขอบอกเอาไว้ก่อนนะครับ แม้จะใช้เงินแก้ปัญหาไปแล้ว แต่ถ้าฝืนรบพุ่งมุ่งโดยละทิ้งข้อเตือนใจทั้ง 4 ด้านบน รับรองว่าต่อให้เอากระด้งมาใส่ล้อหลัง คุณก็พังบนเขาอยู่ดี ในอีกทางหนึ่งเพียงรำลึกถึงกลยุทธให้ขึ้นใจ การโมดิฟายนี้จะช่วยให้คุณสำเร็จสมดังหวังได้อย่างสวยงามมากที่สุด

 

ส่งท้ายสักนิดก่อนร่ำลาจาก

ภูเขาไม่เคยโกหกใคร ภูเขาเป็นของเขาไม่ใช่ของเรา ดังนั้นแม้คุณจะไปกับเพื่อนแต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะปั่นเคียงข้างเกาะหลังกันไปได้ตลอดเวลาเหมือนบนทางราบ ทางชันนี่แหละที่คัดกรองความแข็งแกร่งออกมาได้ดีที่สุด ยอมโบกมือลาเพื่อนที่บินฉิวๆขึ้นไปอย่างกับปุยนุ่นแต่เนิ่นๆแล้วไปด้วยกำลังของเราให้ดีที่สุด คุณจะลดโอกาสม้วยมอดตายคาเขาได้มากกว่า และสามารถไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าทนยื้อจนวินาทีสุดท้าย ก่อนจะถูกทิ้งเอาไว้กลางทางพร้อมๆกับควันคลุ้งของหม้อน้ำที่ระเบิด เครื่องยนต์ที่แหลกเหลว

August 22, 2018 cyclinghub 0 Comment