เป็นที่ทราบกันดีว่า ณ เวลานี้ ไม่มีอะไรที่ใช้บ่งชี้ความหนักของการปั่นจักรยานได้ดียิ่งกว่า “วัตต์” หรือ พาวเวอร์มิเตอร์ และหลายๆคนก็ได้จัดเอาวัตต์มาครองได้แล้ว แต่เมื่อใช้งานไปจึงเริ่มมีคำถามว่า ทำไมค่าวัตต์ของเรานั้น จึงออกมาแตกต่างจากชาวบ้าน และเป็นสิ่งที่ทำให้ต้อง”คาใจ” ว่าตกลงวัตต์ของเรานี้ มันแน่แท้หรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่เราได้รับมาหลังไมค์ และเป็นสตอรี่ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ จึงนำมาขยายความต่อในบทความนี้ครับ

ไม่ร่ายกันยาวมาก มาดูกันเลยว่า อะไรบ้างที่มีผลต่อค่าวัตต์ที่เราๆใช้กัน

 

น้ำหนักตัว

ค่าวัตต์คือ”กำลัง” ที่ใช้ในการขับเคลื่อนตัวเราและจักรยานไป หรือพูดง่ายๆก็คือสร้างความเร่งให้กับจักรยานหรือรักษาความเร็วนั้นเอาไว้ ตามหลักฟิสิกส์พื้นฐานนั้น ยิ่งมีมวลมากก็ต้องการกำลังที่มากขึ้นในการขับเคลื่อนไปด้วย ดังนั้น คนที่มีน้ำหนัก 50 กก. ก็ต้องการกำลังในการเคลื่อนที่ไปน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนัก 80 กก. ดังนั้น อย่าแปลกใจที่เมื่อขี่ไปด้วยกันกับเพื่อน คุณจะมีวัตต์ที่ไม่เท่ากัน

 

ท่าขี่ที่ลู่ลม

ถ้าบอกกับคนที่ไม่ใช้วัตต์คงยากจะเชื่อ แต่สำหรับคนที่มีวัตต์ คุณจะพบว่า เพียงแค่เก็บแขน เก็บคอ งอศอกลงมาให้ต้านลมน้อยที่สุด คุณจะขี่สวนลมไปได้โดยใช้วัตต์ลดลงถึง 5% ได้ไม่ยาก นั่นคือที่ความเร็วเดิม จากที่ใช้ 200 วัตต์ฝ่าลมไป ก็จะเหลือเพียง 190 วัตต์เท่านั้น ซึ่งก็ส่งผลทำให้คนสองคนที่แม้จะตัวหนักเท่ากัน ขี่ไปด้วยกัน แต่ด้วยการเซ็ทรถ และท่าขี่ที่ต่างกัน ก็สามารถมีค่าวัตต์ที่ต่างกันได้นั่นเอง

 

ตำแหน่งที่ขี่ในกลุ่ม

อีกเช่นกันที่หากคุณใช้วัตต์แล้วสังเกตุจะพบความหมัศจรรย์ของกลุ่มนักปั่น ที่ถ้าคุณขี่คนเดียวโดยใช้ 200 วัตต์ ที่ความเร็วเดียวกันนั้น ถ้ามีคนนำหน้าคุณอยู่ 1-2 คนก็สามารถลดเหลือเพียง  170-180 วัตต์ได้ทันที และเมื่อขี่อยู่กลางกลุ่มขนาดใหญ่จำนวน 20 คนขึ้นไป รับรองได้ว่า คุณจะได้พบว่า ที่ความเร็วเดิม คุณใช้กำลังเหลือเพียง  140 วัตต์เท่านั้นเอง ดังนั้น ในการปั่นครั้งหนึ่งก็ต้องดูว่าคุณมีนิสัยในการปั่นแตกต่างจากเพื่อนที่นำมาเทียบมากน้อยขนาดไหน บางคนเน้นหมกก็จะได้วัตต์ต่ำกว่า บางคนเน้นลุยลาก ก็แน่นอนครับว่า ความเร็วนั้น คุณใช้กำลังมากกว่าเพื่อน

 

อุณหภูมิแวดล้อม

ในบรรดาตัวแปรที่บอกมาทั้งหมด นี่คือตัวแปรเดียวที่ไม่เกี่ยวเลยกับลักษณะการขี่ของผู้ขี่ เนื่องจากอุปกรณ์พวกนี้ใช้การวัดการบิดตัวของตัวรับแรง ซึ่งก็เป็นโลหะนั่นแหละครับ ดังนั้น อุณหภูมิที่มีผลกับการขยายและหดตัวของโลหะ ก็ย่อมมีผลกับการวัดค่าที่มันบิดตัวไปด้วยนั่นเอง ในต่างประเทศที่มีอุณหภูมิพื้นดินกับยอดเขาต่างกันได้ถึง 15-18 องศา นี่คือปัญหาคลาสสิคที่ค่าวัตต์จะเปลี่ยนไปตามพื้นที่ๆปั่น ในบ้านเรานั้นค่อนข้างโชคดีที่ในแต่ละวันอุณหภูมิแตกต่างกันไม่มากขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม พาวเวอร์มิเตอร์สองตัวที่ตั้งค่าคาลิเบรทมาแตกต่างกันกับอุณหภูมิในวันที่ปั่นก็สามารถมีวัตต์ที่ต่างกันได้แม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน ถึงจะเป็นตัวเดียวกันก็ตาม หากคุณตั้งคาลิเบรทเอาไว้สำหรับห้องแอร์ที่ 20 องศา แล้วไปปั่นข้างนอกเจอ 39 องศา ก็จะได้ค่าวัตต์ที่เปลี่ยนไปแน่นอน ดังนั้น พาวเวอร์มิเตอร์ และไมล์จักรยานหลายๆตัวจึงมีฟังก์ชั่นที่สามารถคาลิเบรทได้อย่างง่ายๆเพียงกดปุ่มเดียว หรือ บังคับให้เราคาลิเบรททุกครั้งก่อนขี่ รวมถึง มีบางยี่ห้อที่สามารถทำ “Zero Offset” ได้ขณะปั่น นั่นคือการตรวจเช็คอุณหภูมิเรื่อยๆ แล้วทำการคาลิเบรทตัวเองโดยอัตโนมัติ

ในพาวเวอร์มิเตอร์รุ่นใหม่ๆเกือบทุกค่ายจะใส่ความสามารถ”ชดเชยอุณหภูมิ”มาให้ในซอฟท์แวร์ของตัวมันเอง โดยตรวจจับอุณหภูมิหรือความเปลี่ยนแปลงแล้วแปลงค่าให้ชดเชยเพื่อส่งไปที่ตัววแสดงผล ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไปก็จะได้ค่าวัตต์ที่คงที่เท่าเดิมในการออกแรงเท่าเดิม แม้ว่าตัวฮาร์ดแวร์จะไม่ได้แก้ปัญหานี้(ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกของวัสดุและการวัดที่ละเอียดมาก) แต่ก็แก้ปัญหาด้วยซอฟท์แวร์ที่ดีจนได้ผลที่น่าพอใจ

 

สุดท้ายก็ฝากเอาไว้ครับว่า หากค่าวัตต์ที่ได้มานั้นจะเพี้ยนจากเพื่อนๆไปบ้างนิดหน่อยก็ถือว่าช่างมันครับ เพราะจริงๆเราใช้งานมันกับตัวเราเองเป็นหลัก การเปรียบเทียบค่าวัตต์กัน จะเทียบผ่านค่า “วัตต์ต่อน้ำหนัก” เป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้ซีเรียสมากกับค่าที่ต่างเล็กน้อยๆ (เมื่อหารออกมาทศนิยมก็เหลือยิบย่อยจนไม่ส่งผลกับเลขหลักๆ) นอกเสียจากว่า ค่าที่ได้นั้นต่างชนิดคนละโลกกันไปเลย ดังเช่นหากดูตัวแปรทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังได้ค่าวัตต์ต่างจากเพื่อน 2 เท่านั้น ก็คงต้องมาดูกันล่ะครับว่าพาวเวอร์มิเตอร์ของคุณยังสบายดีอยู่หรือไม่ เพราะมีไม่น้อยที่อุปกรณ์พวกนี้จะเสียหายมีปัญหาได้เมื่อใช้งานไปยาวๆ มันก็คือ”ตาชั่ง” ระบบไฟฟ้านั่นแหละครับ ดังนั้น จึงมีโอกาสเกิดปัญหาจุกจิกได้ทุกเมื่อเช่นกัน

June 15, 2020 cyclinghub 0 Comment