วันนี้มาดูปัญฆาที่พบได้บ่อยมากสำหรับนักปั่นจักรยาน ที่แก้กันได้ง่ายๆด้วยการจัดท่าขี่ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเซ็ทรถที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ ทั้งหมดนี้ ก่อให้เป็นปัญหาได้มากอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเลย มีอะไรกันบ้างนั้น ลองมาดูนะครับ แล้วลองดูว่า คุณเคยพบกับปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่

 

เจ็บมือ มือชา

สิ่งที่พบได้บ่อยมากๆสำหรับนักปั่นจักรยานเสือหมอบ ซึ่งเกิดมาจากจุดกดทับที่เนื้อเยื้อและเส้นประสาทที่อุ้งมือ มีสาเหตุหลักมาจาก 2 ส่วนได้แก่ การเซ็ทรถที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นการปรับระยะเบาะที่สูงเกินไป การเซ็ทระยะแฮนด์ที่ต่ำเกินไป ไปจนถึงการตั้งองศาของมือชิฟท์เตอร์ และอีกส่วนคือ วิธีการวางมือของผู้ปั่นเอง  การแก้ที่ทำได้ง่ายๆก็คือการปรับตั้งระยะต่างๆของจักรยานให้เหมาะสม ลองปรับเบาะให้เหมาะสม เพิ่มแหวนรองคอให้แฮนด์สูงขึ้น หรือปรับองศาของแฮนด์และชิฟท์เตอร์ให้รับกับการวางมือ แต่ที่ทำได้ง่ายมากๆโดยไม่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญคือ การเปลี่ยนวิธีวางมือบนแฮนด์ จากการกำให้แน่น วางง่ามนิ้วชี้และนิ้วโป้งลงไปตรงๆ เปลี่ยนเป็นการวางมือสบายๆ และใช้ส่วนที่หนาของฝ่ามือในการรับน้ำหนักแทน รวมถึง การสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรง ช่วยพยุงร่างกายให้อยู่ได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องทิ้งน้ำหนักลงที่มือมากเกินไป

 

ปวดหลัง เมื่อคอ ปวดไหล่

ปัญหานี้พบได้บ่อยมากเช่นกันซึ่งแน่นอนว่า เกิดจากการฟิตติ้งรถที่ไม่เหมาะสมอีกเช่นเคย ทั้งเบาะที่สูงไป การก้มที่มากเกินไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุซึ่งหลายคนมองข้ามคือ การขี่ในลักษณะท่าทางที่ดุดันเกินกว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว การแก้ปัญหานี้หากจะแก้ให้ตรงสาเหตุก็คือการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว แต่อีกทางแก้ปัญหาที่มองข้ามกันก็คือการขี่ที่ผ่อนคลายมากขึ้น  ลองเปลี่ยนอิริยาบทมานั่งจับบาร์ด้านบนสบายๆบ้าง ยืดตัวและลดการก้มบ้าง แม้แต่ปั่นแล้วสลับการยืนปั่นอย่างสบายๆก็เป็นทางช่วยได้อย่างง่ายๆ เพราะแม้แต่โปรนักปั่นระดับโลก เวลาที่พวกเขาปั่นสบายๆอยู่ข้างหลังในกลุ่ม ก็ยังปั่นด้วยท่าทางที่สบายกว่าปกติ ไม่ได้ปั่นด้วยท่าทางที่ดุดันแบบตอนทำเกมส์การแข่งหรือตอนที่ออกมาปั่นข้างหน้าตลอดเวลา

 

เจ็บก้น หรืออาการชาที่ระหว่างขา

ข้อนี้ หลายคนคงมุ่งเป้าไปที่กางเกงจักรยานและเบาะที่นั่งเป็นลำดับแรก ซึ่งก็นับว่าถูกต้อง แต่ก็มีอีกมากมายครับที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนอย่างไรก็ไม่หาย นั่นก็เพราะ ปัญหาใหญ่เกิดมาจากท่าขี่ที่ติดเป็นนิสัยนั่นเอง นักปั่นกว่าครึ่งที่ไปทำฟิตติ้ง พบว่า การนั่งของพวกเขาไม่ได้นั่งบนกระดูกที่เรียกว่า “Sit Bone” ที่รับน้ำหนักได้อย่างดี แต่นั่งบนเนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานมากกว่า เพราะต้องการก้มให้มากกว่า มากกว่าที่ร่างกายจะยืดหยุ่นได้จนมุมการรับน้ำหนักไปตกที่เนื้อเยื่อ การแก้ปัญหาข้อนี้ นอกจากการทำฟิตติ้งให้ได้องศาต่างๆของรถและเบาะที่เหมาะสม กับการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวแล้ว ก็ยังรวมถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย เพื่อให้มุมของหลังและสะโพกสามารถพับลงมาในท่าขี่ได้ โดยที่ไม่ต้องปรับมุมนั่งให้เกิดการกดทับที่เนื้อเยื่อซึ่งเต็มไปได้หลอดเลือดและเส้นประสาทใกล้จุดซ่อนเร้น

October 21, 2020 cyclinghub 0 Comment