เรื่องควรรู้เมื่อหมวกจักรยานแตก

 

หลายๆคนคงเคยพบกับประสบการณ์การล้มมาด้วยตนเอง หรือพบเห็นเพื่อนฝูงใกล้ชิดล้มให้ชมกันต่อหน้าต่อตามาบ้างไม่มากก็น้อย และบ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นข่าวกระพือสนั่นลั่นโซเลียลเมื่อมีการล้มครั้งรุนแรงชนิดแรงจนน้ำร้อนต้มมาม่าเดือดกินกันยาวหลายร้อยคอมเม้นท์ และแน่นอนว่าในหลายๆกรณีก็จะต้องพูดถึง “หมวกแตก” มาควบคู่กันไปด้วย

เพราะในการล้มหลายๆครั้ง สิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาวัดความรุนแรงในการล้มได้ในสังคม คนชอบตามกระแสร้อนก็คือ ถามว่า “หมวกแตกหรือไม่” นัยว่า การที่หมวกแตกมันต้องรุนแรงอย่างแน่นอน รวมไปถึงการให้ความเห็นต่อๆกันไปว่า ดีนะที่หมวกแตกบ้าง หรือจะบอกว่าหมวกแพงหมวกถูกก็แตกบ้าง วันนี้มารู้จักกับข้อควรรู้เมื่อหมวกแตกกันสักนิดพอเป็นพิธี

 

หมวกดีๆออกแบบมาให้แตก

หมวกจักรยานในระยะแรกๆ(ราว 20-30 ปีก่อน) ออกแบบเน้นมาให้หมวกทำหน้าที่ซับแรงกระแทกจากการล้มเป็นหลัก ในขณะที่หมวกในยุคหลังๆเน้นการออกแบบให้หมวกสามารถ”กระจายแรง” ไปยังโครงสร้างต่างๆให้ได้มากที่สุด และโครงสร้างเหล่านั้นรับแรงที่มากเกินอันตรายแล้วจะแตกออกแทนที่แรงนั้นจะส่งมายัง”หัว”ของคนใส่ ดังนั้นพูดให้ถูกก็คือ หมวกดีๆ ถูกออกแบบมาให้แตกในแรงกระแทกที่รุนแรงจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้สวมได้

ซ่วงค่าความรุนแรงก็แตกต่างกันออกไปตามมาตรฐานความปลอดภัยแต่ละเจ้า แต่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหนๆ แรงที่หมวกเบาๆ บางๆ รับได้ก่อนจะแตก จะมากกว่าหรือเท่ากับหมวกถูกๆรุ่นล่างๆที่ใช้ตัวหมวกซับแรงเสมอ แปลว่า เมื่อแรงถึงระดับหนึ่งที่หมวกมันควรจะแตก มันก็จะแตกตามหน้าที่ของมัน สิ่งที่แตกต่างระหว่างหมวกดีๆ กับหมวกเลวๆ คือ ระดับของแรงกระแทกและการทดสอบของมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือได้ ในขณะที่หมวกเลวๆ รูปร่างอาจสวยงามมาก แต่หมวกไม่สามารถกระจายแรงได้จริง ผลที่กลับมาคือ แรงกระแทกจะส่งตรงมายัง”หัว”ของคนสวมที่สะเพร่า มักง่าย แทนนั่นเอง

ดังนั้นการเลือกหมวกควรคำนึงถึง “มาตรฐานความปลอดภัย” ที่อยู่ในหมวกกันด้วยนะครับ อย่าเลือกแค่สวยทันแฟชั่น ราคาเบาสบาย สวยมีสไตล์ในระดับเอเอเอ

 

หมวกเมื่อแตกแล้วมันก็จะหมดประโยชน์

หมวกของคุณจะใบละพันห้า หรือใบละหมื่นห้าก็ตาม เมื่อมันล้มหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะแตกหรือไม่แตก กระแทกพื้นไปแล้วหนึ่งที ถือว่าจุดๆนั้นได้เสียสภาพการกระจายแรงไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหมวกที่ “แตก” คาตา แม้ว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่าคิดจะเอามันกลับมาทากาวใส่ใหม่เชียวนะครับ เพราะโครงสร้างที่พังพินาศลงไป จะไม่สามารถกระจายแรงกระแทกได้ ส่งผลให้เมื่อวันไหนโชคร้ายมาบรรจบ ล้มลงไปแล้วเกิดหัวฟาดพื้น แรงต่างๆอาจกระจายไปรอบๆไม่เต็มที่และเกิดเป็นแรงเฉพาะจุดส่งมายังหัวของคุณได้ อย่าเสียดายเงินอันน้อยนิดเทียบกับความปลอดภัยของหัวอันเป็นที่รัก ที่จะแลกมากับน้ำตาของคนที่รอคุณอยู่เลย ถ้าคิดว่าไม่แน่ใจที่จะเลือกซื้อหมวกใบแพงสุดเท่าที่จะควักเงินจ่ายได้แล้วพร้อมจะจ่ายใหม่ทันทีที่มันแตก เราขอแนะนำให้เลือกซื้อหมวกรุ่นกลางๆ หรือรุ่นที่ราคาย่อมลงมาหน่อย เพราะตราบใดก็ตามที่เป็นหมวกที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเท่ากัน จะถูกหรือแพง มันก็ป้องกันหัวได้เท่ากัน

 

 

หมวกแตก อย่าด่าหมวกว่าหมวกมันเลว

หลายๆคนเข้าใจว่า หมวกจักรยานดีๆมันต้องไม่แตกสิ หรือแม้แต่ความเชื่อผิดๆว่า หมวกแพงมันก็แตกได้ ดังนั้นใส่หมวกปลอมไปเลยก็ไม่เห็นเป็นไร ในความเป็นจริง หมวกในสมัยก่อน(20-30 ปีที่ผ่านมา) ที่ยังไม่เน้นการออกแบบโครงสร้างเพื่อการกระจายแรงที่ดี เน้นการซับแรงกระแทกที่ตัวโฟมของหมวก เคยประสบปัญหาความปลอดภัยมาอย่างมาก เนื่องจาก แรงกระแทกที่ถูกซับไปแล้ว ยังคงส่งต่อมาถึงหัวของนักปั่นมากมายจนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ และมันจะร้ายยิ่งกว่าเมื่ออาการบาดเจ็บนั้นเป็นอาการตกเลือดภายใน ส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตหรือพิการได้เลยทีเดียว โดยที่หมวกไม่เคยแตก ดันนั้นการที่หมวกใดๆล้มโครมลงไปฟาดพื้นแล้วแตกเกลื่อนโซเชียล อย่าคิดว่านั่นคือสิ่งพิสูจน์ว่าหมวกมันอ่อนแอ แต่จงตระหนักเอาไว้ว่า หมวกได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว และหมวกที่แตก จะป้องกัน”หัว”ของคุณไว้ได้ดีกว่าหมวกที่ไม่แตก

 

สุดท้ายฝากแชร์ ส่งต่อ บทความนี้ เตือนสติเพื่อนนักปั่นที่รักของท่านๆทุกคน  เพราะหมวกใบในภาพประกอบ ก็เพิ่งฟาดพื้นมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ผู้เขียนขอนำมันมาต่อยอดอีกครั้งเป็นการส่งท้าย ถ้าไม่มีหมวกใบนี้ ผมคงไม่สามารถมาพิมพ์บทความนี้บอกต่อกันไปได้อีก ขอไว้อาลัยให้แก่หมวกใบรัก ที่อยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน และรักษา”หัว”ของผมเอาไว้ได้ จงหลับให้สบาย เจ้าเพื่อนยาก

 

May 2, 2018 cyclinghub 0 Comment