มาทำความเข้าใจกับเรื่องเก่า เล่าใหม่ ถ้าเรื่องนี้เป็นเหล้าเก่า ก็เป็นเหล้าเก่าที่คลาสสิกมากเพราะจะเอามากรอกใส่ขวดใหม่เมื่อไหร่ ก็ยังละมุนหอมกรุ่นนุ่มลิ้นอยู่เสมอไป เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขนาดอธิบายกันปีละ รอบ ก็ยังมีผู้ละเลยไม่ใส่หมวก ยังมีผู้คนที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับหมวกมากมาย

หมวกยิ่งแพงยิ่งดี แล้วมันดียังไง?
หมวกใบละเก้าร้อยกับใบละหมื่นก็เหมือนกัน แล้วอะไรที่มาทำให้ราคาต่างกันเกือบร้อยเท่า?

บทแรกนี้ขออธิบายเกณฑ์ในการออกแบบของบรรดานักออกแบบกันก่อนว่ากว่าจะมาเป็นหมวกจักรยานให้ใส่กันนั้น มันผ่านกระบวนการคิดมาอย่างไร

ก่อนอื่นลองมานั่งจินตนาการสมอง กระโหลก และหัวของคุณนะครับ หลับตาคิดว่าสมองคือเต้าหู้ก้อนหนึ่งที่ลอยอยู่ในกระป๋องที่ขนาดเกือบพอดี มีน้ำอยู่เต็ม …. สมมุติว่ากระป๋องแข็งมากๆ ลองจินตนาการว่ากระป๋องกระแทกกับพื้นด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. กระป๋องไม่แตก แต่เต้าหู้ก้อนนั้นไม่ได้ลอยอยู่นิ่งๆเต้าหู้มันต้องกระแทกกับกระป๋องผิวด้านในด้วย เฉกเช่นเดียวกับสมองของคุณๆเราๆ ที่กระแทกกับผนังกระโหลกด้านในเมื่อเราเอาหัวไปโหม่งพื้น ซึ่งนี่คือที่มาของอาการบาดเจ็บทางสมองที่ส่งผลถึงชีวิตได้ในภายหลัง

ดังนั้นวิธีการที่จะรักษาสมอง หรือเต้าหู้ให้ได้ก็คือ การพยายามชะลอไม่ให้สมองหรือเต้าหู้ไปกระแทกกับผนังด้านในได้อย่างรุนแรก หากลดเวลาเกิดภาวะหยุดนิ่งจากความเร็วตั้งต้นเปลี่ยนจาก 0.2 วินาทีไปเป็น 0.8 วินาทีได้ แปลว่า สมองเคลื่อนที่ไปชนกับผนังกระโหลกด้วยความเร็วที่เบาลงหลายสิบเท่าแล้ว แล้วอะไรคือวิธีการชะลอความเร็วนั้น? แน่นอนครับถ้าเอาหัวเพียวๆไปโหม่งพื้นเลย มันไม่ชะลอความเร็วแน่นอน เพราะแรงกระแทกที่เกิดจากความเร็วที่ลงไปโหม่งมันส่งมาเต็มๆ เหมือนกับเราออกแรงยันการเคลื่อนที่เอาไว้ตรงๆ วิธีที่ทำให้การกระแทกลดลง ค่อยๆลดความเร็วเสี้ยววินาทีได้คือการบุรองรับด้วยสิ่งที่นุ่ม ดั่งเช่นเวลาเรากระโดดตัวเองลงบนที่นอนหนานุ่ม ที่นอนจะทำหน้าที่ค่อยๆชะลอความเร็วตัวเราลงจนเหลือ 0 และนี่คือที่มาของต้นกำเนิดการออกแบบหมวกจักรยาน

หมวกจักรยานในยุคเก่าอาศัยเพียงแนวคิดนี้เป็นหลัก ตั้งแต่ยุคหมวกริ้ว(หมวกหนังวินเทจ) มาจนยุคต้น90s (หมวกโฟมตันๆ) หมวกเหล่านี้ใช้ผิวตัวเองเป็นเหมือนที่บุรองรับชะลอแรงกระแทกเอาไว้ แต่ทว่าๆข้อแม้มันตามมาทันทีสองข้อ ประการแรก…มันต้องหนาและตัน เพื่อรองรับซับแรงให้ได้ดี ประการที่สอง…สืบเนื่องกัน มันเลยร้อนและอบหัว ซึ่งพาลทำให้นักแข่งไม่ยอมใส่กัน (ถึงขั้นประท้วงหยุดแข่งกันเลย) เป็นที่มาของแนวคิดใหม่ที่จะออกแบบหมวกจักรยานให้ได้แข็งแรง มีรูเยอะๆ ซึ่งยุคนั้นหมวกจักรยานที่มีรูระบายอากาศมากๆ มันเสียความสามารถในการซับแรงไป

จนถึงในยุคปลาย 90s นักออกแบบพยายามทำให้หมวกมีรูมากที่สุดในขณะที่ยังสามารถซับแรงกระแทกได้ดี รูเหล่านี้ช่วยให้หมวกเย็นขึ้น ระบายอากาศดีขึ้น แถมเบาลงมาก ซึ่งชะตากรรมของการออกแบบไปอยู่ที่ชั้นเชิงในการวางโครงสร้างของหมวกให้ซับแรงได้ดีแม้ว่าจะเจาะเสียพรุน

และแล้วก็เกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมา…. ในเมื่อเราซับแรงหมวกแล้วหมวกจะเสียความเบาและสบายไป ลองเปลี่ยนแนวคิดไปมองเรื่องการ”กระจายแรง” แทนที่จะซับแรงเอาไว้หมวกที่ออกแบบด้วยแนวคิดนี้จะกระจายแรงกระแทกไปบนตัวมันเอง ส่งผลให้แรงกระแทกไปอยู่ที่หัวเราน้อยลง ซึ่งส่งผลให้สมองกระแทกด้วยความเร็วที่น้อยลงในผลสุดท้ายนั่นเอง หมวกกลุ่มนี้เกิดมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อหมวกมีรูพรุนไปหมด โครงสร้างของหมวกเป็นเหมือนริ้วเส้นกระจายแรงไปบนตัวเอง

และด้วยแนวคิดนี้เอง หมวกจักรยานจึงมีน้ำหนักเบาลงเรื่อยๆ มีรูระบายอากาศได้มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอาศัยโครงสร้างภายในด้วยวัสดุไฟเบอร์หรือวัสดุเสริมความแข็งแรงยิ่งทำให้หมวกเบาลงแต่แข็งแรงขึ้นได้อีกมาก หมวกเหล่านี้เมื่อเจอแรงกระแทกแรงๆ แรงกระแทกจะส่งกระจายไปจนทั่วโครงสร้าง และซับแรงเอาไว้ จนเกิดการแตก หัก ร้าว ลองสังเกตุอุบัติเหตุที่หมวกแตกร้าวพบว่ารอยแตกร้าวไปอยู่ในจุดที่ไม่ได้โดนกระแทกด้วย นั่นแปลว่าแรงถูกส่งออกไปถึงจุดนั้นตามการออกแบบของนักออกแบบนั่นแหละครับ

นี่คือที่มาของหมวกจักรยาน ความต่างของหมวกถูกและแพง หมวกที่เบา ระบายได้ดีแต่แข็งแรงรับแรงได้ดีเท่ากันก็ย่อมแพงกว่า ด้วยการออกแบบและวัสดุ ปัจจัยการตลาดนั้นมีผลบ้างแต่ไม่สูงมากสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ หมวกเบาๆๆไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไป หมวกหนักๆไม่ได้แปลว่าจะแข็งแรงเสมอไปแล้วอะไรคือตัววัดว่าหมวกนั้นดีหรือไม่ดี?? คนเลือกซื้อหมวกจะพิจาณาจากอะไรได้บ้าง???

ตอนหน้าพบกับ “มาตรฐานหมวก” ตราสัญลักษณ์ในหมวกที่หลายคนไม่เคยใส่ใจจะสังเกตุ ถ้าเลือกซื้อตู้เย็น คุณมองดูเบอร์ 5 ซื้ออาหารคุณมองหา อย. ถ้าซื้อพัดลมคุณมองหา มอก. แล้วหมวกจักรยาน??คุณจะมองหาอะไรดี

พบกันตอนต่อไปครับ

March 9, 2018 admin-cyclinghub 2 Comment