By Auum ^^

ทุกครั้งที่เราออกไปปั่น สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเก็บบรรยากาศ ประสบการณ์ในแต่ละวันก็คือ “ภาพถ่าย” ซึ่งในหลายครั้ง ภาพที่ได้มา สำคัญกว่ารางวัลในการแข่งขันด้วยซ้ำ หลายครั้งที่เวลาไปร่วมกิจกรรมปั่น วิ่ง หรือ งานไตรกีฬา เรามักจะมองหากล้องของงาน หามุมเพื่อให้เราได้มีรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกสักครั้งหนึ่งที่ได้ร่วมกิจกรรม  แต่มีหลายครั้งที่เรามักประสบปัญหาเกี่ยวกับภาพถ่ายในกิจกรรมเหล่านี้ เช่น  “ไม่ได้ภาพสวยๆ” “มุมกล้องไม่ได้ “มีภาพน้อย” แม้กระทั่ง “ไม่มีรูปของตัวเองเลย”  ทั้งที่ทุกวันนี้เราสามารถถ่ายภาพได้ง่ายๆเพียงปลายนิ้วผ่านโทรศัพท์ และแต่งภาพได้อารมณ์ที่หลากหลายผ่าน Application แต่ปัญหาเกี่ยวกับ ภาพถ่ายของนักปั่น นักวิ่ง และนักไตร ก็ไม่หายไปสักที  ผมเลยจะมาชวนออกแบบการ “บันทึกความทรงจำ” ด้วยกล้องแบบที่เราคุ้นเคย ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเราน่าจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง แต่บทความนี้ผมขอพูดในมุมนักปั่น แล้วกันนะครับ

สิ่งแรกสิ่งที่ต้องคิดก่อน คือ “รูปแบบของกิจกรรม” (เดี่ยว คู่ กลุ่ม ทีม)

ถ้าเราปั่นคนเดียว ชัดเจนเลยว่าถ้าเราอยากได้รูปตัวเราเองขณะปั่นก็ต้องถ่าย Selfie ซึ่งเราจะไม่สามารถถ่ายรูปตัวเองแบบเต็มตัวได้เลย ถ้าเรา ไม่จอดแล้วตั้งกล้องถ่าย หรือ ให้คนอื่นถ่ายให้  แต่เมื่อไหร่ที่ออกปั่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเราก็จะมีโอกาสที่จะเก็บภาพกว้าง(Long shot) ได้ง่ายกว่าปั่นคนเดียวแน่ๆ ดังนั้นถ้าเราอยากได้มุมกว้างๆสวยๆ เราต้องมีอุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เซลฟี่ หูฟังบลูทูธ(เอาไว้กด Shutter) ที่สำคัญ เราต้องวางตำแหน่งของตัวเราเอง ในภาพให้ได้ตามที่เราคิดเอาไว้  ซึ่งแรกๆอาจจะลำบากหน่อยเพราะไม่ได้ดั่งใจสักทีแต่ทำไปเรื่อยๆเราจะทำได้ดีขึ้นแน่นอน

 

เรื่องที่ 2 คือ จัดวาง “องค์ประกอบภาพให้โดน”

เรียกง่ายๆว่า ทำยังไงให้ภาพนี้ขายได้ หรือ มีคนสนใจ เอาง่ายๆว่าถ้าเราอยู่ในภาพ เราต้องการจะสื่ออะไร  เช่น เห็นภาพของเราชัดๆ  ภาพบรรยากาศรอบตัว ความสนุกสนานของก๊วน การจัดวางองค์ประกอบของภาพในการถ่ายมักจะเกี่ยวพันกับ “ตำแหน่ง” และ “ขนาด” ของวัตถุที่เราต้องการสื่อความหมาย

หลายคนบอกว่า  “ถ่ายๆไปเหอะเดี๋ยวไม่ชอบก็ไปเลือกๆเอา”  แต่ถ้าเรา “ออกแบบ” มุมมองผ่านองค์ประกอบของภาพ เราจะได้ภาพที่ดีในเวลาที่จำกัด และ ไม่เปลือง Memory ของโทรศัพท์แบบไม่จำเป็น

 

เรื่องที่ 3 ควรต้องมีข้อมูล และ จินตนาการก่อนถ่าย

เอาง่ายๆเลยคือ “ดูภาพถ่ายแบบที่ชอบ” ให้มากเข้าไว้ เรียกว่า การศึกษาข้อมูล  เทคนิค  การจัดองค์ประกอบ รวมถึงสีและแสงของภาพด้วย การที่เรามีข้อมูลเยอะจะช่วยให้เราสามารถออกแบบการถ่ายได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย  ซึ่งทำให้เราสนุก ข้อนี้สำคัญมากเพราะจำทำให้เราพยายามหาสถานที่ และ วิธีการสื่อสารแบบใหม่มากยิ่งขึ้น  นั่นคือ “เราจะหาโอกาสออกปั่นบ่อยขึ้น” “หาสถานที่แปลกๆมากขึ้น”  แล้วเราก็จะมีความสุขมากขึ้นเมื่อมีคนเห็นภาพของเราแล้วพูดว่า “มุมนี้คิดได้ไง” ลองดูครับมันเป็นคำเล็กๆที่ทำให้เราพยายามมากขึ้นในการถ่ายภาพให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

 

เรื่องสุดท้าย  “ทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ และ ตั้งคำถามบ่อยๆ ว่า “มีมุมไหนน่าสนใจกว่าที่เคยถ่ายอีกไหม”

การทำซ้ำ เป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาขึ้นเพราะ สิ่งเหล่านั้นกลายเป็น “ทักษะ” ที่อยู่ติดตัว ซึ่งทำให้เราปฏิบัติไปตามสัญชาติญาณโดยอัตโนมัติ  แต่การฝึกให้เรา “คิดต่าง” จากมุมที่เราเคยถ่ายก็เป็นเรื่องที่ “ขาดไม่ได้” เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะถ่ายในมุมแบบเดิมๆ แล้วเราก็จะเบื่อ ภาพของเราเอง  เนื่องจาก เราหาสิ่งใหม่ในวิธีคิดในการถ่ายทอดภาพถ่ายของเราไม่ได้

มาถึงจุดนี้ ผมเองก็ไม่ได้อยากให้ทุกคนต้องคิดว่า “ทำไมจะถ่ายรูปมันต้องคิดเยอะขนาดนี้” แต่ปั่นจักรยาน ถ่ายรูปไปเรื่อยๆก็มีความสุขได้  แต่ผมก็เชื่อว่า “ทุกครั้งที่เรามีภาพแห่งความทรงจำ” ภาพนั้นมันเป็น “มากกว่าภาพถ่าย” แต่มันคือ ภาพที่อธิบายถึง “ตัวตน” และ “มุมมอง” ที่เรามีต่อ การปั่นจักรยาน หรือ กิจกรรมอื่นๆที่เราใช้ชีวิต

สำหรับผมภาพถ่าย ไม่ใช่แค่รูป  แต่มันคือ “บันทึกประสบการณ์การเดินทางของชีวิต”  เพราะ ภาพที่เราถ่ายในแต่ละครั้ง โอกาสที่เราจะได้ภาพที่ดีที่สุด  อาจมีเพียงครั้งเดียว

Tag :: AUMPhototrip
October 11, 2018 cyclinghub 0 Comment