คุณว่าอุบัติเหตุจักรยาน เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง.. แน่นอนที่คงมีปัจจัยแวดล้อมมากมายกล่าวกันไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งภายใน ภายนอก แต่ในบรรดาเหตุที่เกิดนั้นมีไม่น้อยเลยที่เกิดจากความไม่เหมาะสมหรือไม่สมบูรณ์ของอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งมันสามารถถูกป้องกันได้ด้วยการใส่ใจในรายละเอียดของผุ้ปั่นเอง ซึ่งในวันนี้ ก็ขอยกเอากรณีที่น่าจะเรียกว่าพบได้ไม่บ่อย แต่ถ้าเกิด อาจสร้างความวิปโยคได้อย่างไม่น่าเชื่อมาบอกเล่าให้ฟังกัน อย่างน้อยก็เป็นข้อเตือนใจไม่ให้ใครต้องมาพบกับเหตุการณเช่นนี้อีก

 

บันไดคลิปเลส เป็นอุปกรณ์ด่านแรกๆที่นักปั่นจะเลือกใช้เมื่อต้องการเข้าสู่โลกของการปั่นอย่างจริงๆจังๆกันล่ะ และมันก็คือหนึ่งในชิ้นส่วนที่สร้างความวิตกที่สุดเมื่อจะเริ่มใช้งาน เพราะกลไกการทำงานที่ล็อคให้เท้าของเราติดอยู่กับบันไดเอาไว้ตลอดเวลา การปลดล็อตต้องอาศัยการบิดมุมข้อเท้าออกด้านข้างแทนการยกเท้าออกตจากบันไดโดยตรง ทำให้เกือบทุกคนเป็นกังวลว่าจะล้มโครมลงไปเพราะไม่สามารถเอาเท้าออกมายันพื้นได้ และคำแนะนำแรกๆคือการปรับสปริง หรือเลือกใช้บันไดที่มีความแน่นไม่มากนัก อย่างน้อยก็ใช้แรงน้อยกว่าในการเอาเท้าออกมา โอกาสตอบสนองได้ทันก็มากกว่า ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ปัญหามันก็มาจากความ”หลวม” ของระบบล็อคนี่เอง เพราะมีไม่น้อยเลยที่เราสอบถามเรือ่งบันไดคลิปเลส ว่าคุณเคยปรับความตึงของมันให้แน่นขึ้นหรือไม่ และได้รับคำตอบมาว่า”ไม่เคย” จากนั้น เมื่อเราถามต่อว่า เคยมีอาการเท้าหลุดออกจากบันไดโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ ก็น่าแปลกใจที่หลายๆคนก็เคยเจอกับประสบการณ์เช่นนั้นมาแล้ว

 

อันที่จริงในระดับโปรมืออาชีพ แม้ว่าจะตั้งใ้ห้แน่นที่สุด หรือเลือกใช้แรงตึงที่มากที่สุด พวกเขาก็ยังสามารถออกแรงสปรินท์ให้เท้าหลุดออกมาได้บ่อยๆ จริงๆปัญหานี้เกิดจากความประจวบกันพอดีระหว่างแรงและมุมของแรงที่ออกไป ดังนั้น อย่าประสาอะไรเลยกับเหตุนั้น บันไดที่ตั้งให้สปริงอ่อนตัวมากๆ ปลดเท้าได้ง่าย ก็ย่อมมีโอกาสหลุดออกได้ง่ายด้วยเช่นกัน และนี่คือหนึ่งในเหตหายนะที่เกิดขึ้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากตัวบันไดเองแล้ว สภาพของแผ่นคลีทก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การล็อคทำได้ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อออกแรงก็หลุดออกมาได้ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นไม่เพียงดูแลบันไดให้ล็อคได้สมบูรณ์ ความแน่นพอเหมาะกับการขี่ของท่าน แผ่นคลีทก็ควรได้รับการดูแลบ้าง อย่างน้อยๆเฝ้าสังเกตุการสึกหรอ โดยเฉพาะบริเวณหัวของคลีท ที่เกี่ยวกับปลายบันไดด้านหน้า ซึ่งมักจะสึกก่อนจากการเดินไปเดินมาของนักปั่น เพียงเท่านี้ โอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันก็ลดน้อยลงไปมากแล้ว

 

ท้ายที่สุด ท่านอาจจะตั้งคำถามว่า เท้าหลุดออกมาแล้วมันจะมีปัญหาอะไร หรืออาจจะบอกว่าเคยเห็นโปรสามารถกลับไปขี่ได้อย่างไม่มีปัญหาเมื่อเท้าหลุดจากบันได ต้องบอกกันตรงนี้เลยว่า ส่วนตัวของผมเองนั้น เคยเท้าหลุดออกมาแล้วในการปั่นขึ้นเขา ทั้งนั่งปั่น และยืนปั่น ซึ่งในจังหวะนั้นการควบคุมรถทำได้ไม่ยากเย็นนัก แม้กระทั่งยืนปั่น เมื่อเท้าหลุด ก็ยังควบคุมรถและใส่ปั่นต่อไปได้ แต่เหตุมันเกิดจากจังหวะการสปรินท์เต็มที่ ด้วยแรงบิดสุงของทั้งสองขาที่เร่งออกตัวทะยานไปข้างหน้า ท่าขี่ที่โถมน้ำหนักก้มต่ำลงหลบลม รวมถึงรอบขาที่กำลังไต่ระดับสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ รวมกันทำให้การควบคุมรถทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก และโอกาสที่จะแก้ไขวินาทีนั้นลดน้อยลงจนเกิดเหตุมาแล้ว คุณลองนึกภาพว่าหากคุณเกิดเหตุแบบนี้ในกลุ่มปั่นที่ความเร็วกำลังทะยานผ่านเลข 4 ไปยงเลข 5 และกำลังเค้นไปหาเลข 6 อะไรจะเกิดขึ้นกับสมาชิกกลุ่มที่ตามหลังคุณมา? ซึ่งนี่คือสิ่งสุดท้ายที่เราอยากให้เกิดขึ้นในการออกมาปั่นจักรยานของเรา

 

ลองสละเวลาสัก 1 นาที ตรวจสอบบันไดและคลีทของคุณสักนิด เพื่อชีวิตการปั่นที่ดีกว่าของท่านและสหายร่วมทาง

เกร็ดความรู้

-บันไดที่หลวมหรือแน่น อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการหัดใช้บันไดคลิปเลส เพราะจริงๆมันคือการฝึกการตอบสนองและความทรงจำของกล้ามเนื้อในการดึงเท้าออก บันไดเกือบทุกยี่ห้อ มีมุมที่สามารถปลอดเท้าออกได้ทันทีอยู่แล้ว ปัญหาของการปลดเท้าไม่ออกคือ การบิดข้อเท้าไม่เหมาะสมมากกว่า ลองหาความตึงที่พอเหมาะ แล้วจะพบว่า ที่แรงต้านมากกว่าเดิมสักนิด สปริงจะช่วยดันให้เแผ่นคลีทหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น

-สปริงหรือระบบล็อคบันไดคลิปเลส ก็ต้องการการดูแลที่เหมาะสม อย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้งควรได้รับการทำความสะอาดเพื่อยืดอายุการใช้งานของระบบล็อค เคยมีกรณีที่สปริงเกิดสนิมแล้วขาดระหว่างปั่นส่งผลให้ระบบล็อคทำงานไม่ได้มาแล้ว รวมถึงการตรวจสอบว่าแรงตึงของการล็อคอยู่ในระดับที่เราชินหรือไม่ก็ช่วยได้ อย่างน้อยๆ เวลาเริ่มปั่นหากรู้สึกว่าจังหวะที่เท้าล็อคเข้าไปกับบันไดนั้นไม่ปกติ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าการล็อคนั้นไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป

-หลีกเลี่ยงการใช้บันไดที่ไม่คุ้นเคย ในบทบาทหนึ่งของนักทดสอบรถจักรยาน ที่ได้รับการสอนมา สิ่งสำคัญที่เราต้องมีติดตัวเสมอคือ รองเท้าปั่นจกรยานและบันไดคลิปเลสของเรา ไม่ใช่เพราะต้องนำไปคู่กันเท่านั้น แต่ในการทดสอบจักรยานของสื่อนานาชาติ พวกเขาะนำบันไดที่คุ้นชินมาด้วยเสมอ แม้ว่าการหาบันไดยี่ห้อยอดนิยมไว้รอ จะไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับบริษัทจักรยาน แต่พวกเขาไม่ยอมเสี่ยงกับการใช้บันไดที่ไม่คุ้นเคย

June 16, 2018 cyclinghub 0 Comment