
ใครที่เคยฝึกซ้อมจักรยานแล้วพบว่า ฝึกยังไง ก็ไม่พัฒนาเสียที ลองมาอ่านบทความนี้ดูนะครับ นี่คือเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง ที่หลายคนมองข้ามไป เพราะมันดูน่าจะไม่เกี่ยวกันเลย เทียบกับ การหาคอร์ส หาตารางฝึกซ้อมเด็ดๆโดนๆของโปร ของขาแรงมากระหน่ำให้สะใจแล้ว เรื่องของการพักผ่อนนี้ เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามอย่างน่าเสียดาย และพอมาพูดถึงเรื่อง”จิตใจ” ด้วยแล้ว ยิ่งมีน้อยคนที่จะพูดถึง
ตารางฝึกซ้อมจักรยานที่ดี คือการวางโปรแกรมให้เหมาะสมกับตารางชีวิต ถ้าเป็นนักกีฬา ก็คือ ตารางการแข่งขันต่างๆที่รออยู่ การวางเป้าหมายและน้ำหนักความเข้มข้นของโปรแกรมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของผู้ฝึกสอนที่ต้องสื่อสารกับนักปั่นอย่างใกล้ชิด สำหรับนักปั่นสัมครเล่นก็คล้ายๆกัน โดยจะวางปัจจัยการทำงานควบคุ่ไปด้วย เช่น หากนักปั่นที่อยู่ใต้การดูแลของคนวางโปรแกรม ทำงานที่ต้อง ยืน เดิน มากๆ วันไหนต้องทำงานใช้ร่างกายมากเป็นพิเศษ ก็จะนำมาประกอบแผนการฝึกไปด้วย ลองจินตนาการดูนะครับ ถ้านักปั่นสองคน คนหนึ่งทำงานธนาคาร นั่งหน้าเคานท์เตอร์บริการเป็นหลัก อีกคน ทำงานเป็นวิศวกรคุมงานก่อสร้าง แน่นอนว่า การพักผ่อนฟื้นตัวของทั้งสองคนจะมีประสิทธิภาพต่างกัน
เอาง่ายๆเลยครับ นักปั่นขาแรงที่ฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง แต่ทำงานเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวที่ต้องตื่นตีสามไปตลาด กลับมาตั้งหม้อต้มน้ำ ก่อนจะออกไปปั่นอย่างสุดเหวี่ยง และกลับมาเปิดร้าน ยืนลวกก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่สายยันเย็น ก่อนจะทำบัญชี เก็บร้านและได้พักผ่อนยามค่ำ วิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้การฝึกซ้อมจักรยานต้องมีการวางแผนอย่างพิถีพิถันมาก เพื่อให้รีดความสามารถ เค้นความเข้มข้นออกมาได้ โดยร่างไม่พังเสียก่อน
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียง “กายภาพ” เท่านั้น แต่หัวข้อวันนี้เราพูดถึงเรื่อง Mental Stress หรือความเครียดที่เกิดขึ้นกับจิตใจและส่งผลกับการซ้อมจักรยาน
เราทุกคนคงเคยผ่านความเครียดกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเรื่องงานหลัก เรื่องหน้าที่รับผิดชอบ ครอบครัว แม้แต่ รถติด หงุดหงิดเมียบ่น ลูกค้าเบี้ยว หรือภาวะการเมืองน่าเพลียจิต ความเครียดทั้งหมดส่งผลกับร่างกายเราทางตรงอันดับแรกก็คือ การนอนหลับมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมาก ซึ่งก็แน่นอนว่า การนอนถือเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูร่างกาย ในเมื่อนอนหลับได้ยาก หรือหลับด้อยคุณภาพลง การฟื้นตัวก็ทำได้คุณภาพที่ลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ ความเคีรียดยังส่งผลกับการหลั่งสารบางตัวที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟู ซ่อมแซมร่างกาย หรือแม้แต่ฮอร์โมนที่ช่วยการการเติบโตในกรณีของนักกีฬาเยาวชน ดังนั้น การติดตามความเครียดของนักปั่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางโปรแกรมการฝึกซ้อมจักรยานที่เหมาะสม
และแน่นอนว่าสำหรับนักปั่นทั่วไป ที่นิยมขวนขวายหาตาราง หาโปรแกรม หาคอร์สเทพจากนักปั่นขาแรงในดวงใจ จากโปรสุดไอดอล หรือบางคน ใช้วิธี”คัดลอก” การฝึกซ้อมของนักปั่นเหล่านั้นมา โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตและประเมินความเครียดของตัวเองมาประกอบ นี่แหละครับ คือกำแพงที่น่ากลัวสำหรับการพัฒนาในระยะยาว แน่นอนว่า หากคุณปั่นได้ตามโปปรแกรมนั้นๆ ก็อาจส่งผลร้ายกับตัวเองมากกว่าผลดี พูดกันง่ายๆก็คือ “กรอบ” นั่นเองครับ แล้วถึงตอนนั้นก็จะตั้งคำถามว่า เราทำอะไรผิดไปตรงไหนถึงปั่นเท่าไหร่ก็ไม่พัฒนา