“โปร” คำนำหน้าของใครหลายๆคน ที่ไม่ว่าจะตั้งขึ้นมาเอง หรือถูกขนานนามโดยนักปั่นสาธารณะ จะมีที่มาอย่างไหนก็ตาม แต่มันก็เต็มไปด้วยเกียติ และ ศักดิ์ อันสูงส่งของความเป็น”มืออาชีพ” เอกอุแห่งความสำเร็จในการเป็นนักจักรยาน แต่ในเนื้อแท้ของเนื้อหาคำนี้ จะมีนัยอะไรที่ซ่อนอยู่ กับความเข้าใจที่สังคมมองภาพนี้แตกต่างกันออกไป วันนี้เราเก็บเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นน้ำจิ้มรสแรง แกล้มความสุขในการปั่นจักรยานของผองเราพี่น้อง

 

ตามนิยามของการแข่งจักรยานนานาชาตินั้น นักกีฬาจักรยานถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามระดับของทีมจักรยานที่พวกเขาสังกัดอยู่ แยกเป็นสองกลุ่มง่ายๆได้แก่ นักปั่นอาชีพ และ นักปั่นไม่อาชีพ แน่นอนว่า นักปั่นอาชีพก็หมายถึง คนที่ดำรงชีวิตหาเลี้ยงปากท้องด้วยการเป็นนักจักรยาน ซึ่งในที่นี้ เราเจาะจงหมายถึง นักปั่นที่ดำรงชีวิตหาเลี้ยงปากท้องด้วยการเป็นนักจักรยานและสังกัดอยู่กับทีมจักรยานในระดับดิวิชั่น 1 และ 2 (World และ Pro Conti) ซึ่งมีสัญญาระบุค่าจ้าง และอัตราค่าตอบแทนบังคับอยู่ในระเบียบการยื่นจดทะเบียนทีมในระดับนั้นๆ ส่วนระดับดิวิชั่น 3 (Conti)  ยังคงก้ำกึ่งเพราะในการยื่นจดทะเบียนทีม นักกีาของทีมไม่ได้จำเป็นต้องมีระบุสัญญาว่าจ้างเป็นค่าตอบแทน นักปั่นอาจมาร่วมทีมโดยมีสปอนเซอร์เป็นการส่วนตัวก็ได้ (พ่อ แม่ ญาติโยม วัด ส่งเข้ามาอยู่กับทีม) แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสามระดับนี้ คือ สามดิวิชั่น สำหรับการเป็น”ทีมจักรยาน” ที่จะได้สิทธิเข้าร่วมการแข่งจักรยานระดับนานาชาิตในฐานะทีมจักรยานในสังกัดของ UCI  นั่นเอง ดังนั้นหากจะเรียกกันให้ถูกต้องว่า “โปร” หรือ “เทิร์นโปร” ส่วนมากในยุโรปจะจำกัดอยู่กับการเข้าร่วมทีมในระดับดิวิชั่น 1 และ 2 เป็นสำคัญ การเข้าร่วมในทีมระดับดิวิชั่น 3 อาจไม่ได้นับเป็นคำว่า “เทิร์นโปร” ก็ได้ เพราะ มีคำหนึ่งที่เรียกบรรดาโปรทีมระดับบนหน้าใหม่ว่า “นีโอโปร” ที่แสดงถึงนักปั่นที่โผล่มาได้รับสัญญาร่วมทีมดิวิชั่น 1 และ 2 เป็นปีแรก นักปั่นพวกนี้ไม่น้อยเลยที่เคยผ่านทีมดิวิชั่น 3 มาก่อน แต่เมื่อเข้าไป”เทิร์นโปร” กับทีมดิวิชั่นบน ก็ถูกรเียกว่า “นีโอโปร” นั่นเอง สะท้อนถึง ภาพลักษณ์มุมมองของแวดวงจักรยานอาชีพที่อาจมองเพียงนักปั่นระดับดิวิชั่นบนๆเท่านั้นที่เป็น”โปร” อย่างเต็มตัว

 

ส่วนทีมในระดับสมัครเล่นไม่ว่าจะเป็น”คลับทีม” หรือการร่วมทีมชาติ ที่ไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่าจะต้องเป็นนักปั่นอาชีพ แต่ก็มีสิทธเข้าร่วมการแข่งของ UCI ได้นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของโอกาส แ่ก็แน่นอนครับว่า นักปั่นคลับทีม ทีมสมัครเล่นนั้น จะมีสิทธิร่วมได้เพียงการแข่งนานาชาติในระดบัล่างสุดเท่นั้น ส่วนทีมชาติก็มีสิทธิร่วมการแข่งในระดับสูงขึ้นมาได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้จัดจะตัดสินใจให้สิทธินี้หรือไม่

 

เอาล่ะสิครับ ทีนี้ ความงุนงง ก็จะเร่ิมมาถึงแล้ว เพราะ ในทางปฏิบัติ มีนักปั่นจำนวนไม่น้อยเลยที่ในความเป็นจริง พวกเขาใช้ชีวิตเป็น”โปร” อย่างในนิยามของคนทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นนักปั่นในสังกัดของสโมสรเหล่าทัพ หน่วยงานต่างๆ ไปจนถึง นักปั่นท้องถิ่นที่มีเงินอัดฉีด ค่าจ้าง ค่าแรง ในการลงปั่นรายการต่างๆเอง พวกเขาก็มี”อาชีพ” เป็นนักจักรยานกันทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่ได้นับว่าเป็น”นักปั่นอาชีพ” ในตัวหนังสือของ UCI เท่านั้นเอง  หากจะเทียบง่ายๆก็คือ ทีมจัรกยานในระดับดิวิชั่นสาม (Continental Team) สามารถมีนักปั่นสังกัดในทีมของตนเอง โดยที่พวกเขาไม่ได้รับค่าแรงจากทีมนี้ แต่พวกเขาได้ค่าแรงจากสังกัดหน่วยงานต่างๆที่พวกเขาอยู่ และทำหน้าที่ปั่นจักรยานให้กับต้นสังกัดนั้นๆ เช่น นายแมวเหมียว ปั่นจักรยานแข่งเป็นอาชีพอยู่ในสังกัดของ กองทะลวงฟันค่ายมะขามเปียก วันๆไม่ต้องทำงานอะไร นานๆทีเข้าค่ายไปปฏิบัติหน้าที่ราชการสักครั้ง แต่หน้าที่หลักคือ ซ้อมจักรยาน และไปทำชื่อเสียงให้กับหน่วยงานในการแข่งกีฬาต่างๆ ถ้าผลงานดี ก็มีโอกาสขยับยศ เจริญก้าวหน้าทางอาชีพราชการต่อไป นับเป็นหนึ่งในการช่วยให้นักกีฬาระดับประเทศของเรา มีอาชีพ มีรายได้และอนาคตที่มั่นคงอีกด้วย ถามว่า นายแมวเหมียวนี้ เ)็นนักปั่นอาชีพ หรือ เป็นผู้ที่มีอาชีพเป็นนักปั่นจักรยาน?

 

อีกตัวอย่างที่พบได้เพียบในบ้านเรา และในต่างประเทศ แต่ในเมืองนอกเมืองนา เรียกขานกลุ่มนี้ว่า “semi-pro” หรือ”นักปั่นกึ่งโปร” นั่นเอง พวกเขามักมีอาชีพอยู่กับร้านจัรกยาน เป็นพนักงานขาย เป็นช่าง เป็นเด็กในร้าน และ ดำเนินการแข่งจักรยานระดับสมัครเล่นในคลาสสูงๆของประเทศ และในแววตาเปี่ยมไปด้วยความฝันว่าจะไปเป็นนักปั่นจักรยาน”โปร” ให้ได้ วันๆก็ทำงานต่างๆนี่แหละครับไปเรื่อยๆ อาจจะลงแข่งให้กับสโมสรของเมือง หรือทีมของร้านที่สังกัดอยู่ มีบ้างที่ได้รับค่าจ้างให้ไปลงแข่งกับทีมนั้น ทีมนี้ เพื่อสร้างผลงานให้  ถ้าจะเรียกกันอีกแบบก็คงจะบอกได้ว่าเขาเหล่านี้มี”อาชีพเสริม” เป็นนักปั่นจักรยานก็คงไม่ได้ผิดไปจากความจริงนัก

แต่สิ่งสุดท้ายที่สำคัญยิ่งกว่า”หัวโขน” ว่าตกลงเป็นตัวอะไรกันแน่ น่าจะเป็น”จิตวิญญาณ” ของสิ่งที่เป็น ไม่ว่าโลกนี้จะเรียกพวกเขาว่าอะไร จะมีสิทธิทำอะไรมากน้อยขนาดไหน แต่ในความเป็นจริง นักจักรยานระดับชั้นนำของบ้านเราก็มีวิถีชีวิตที่ดำรงชีพและมั่นคงด้วยฝีมือการปั่นจักรยานของพวกเขาทั้งสิ้น เพื่อฝันในการแบกภาระแห่งธงไตรรงค์ที่อยู่บนอกไปสู่เส้นชัยในการแข่งขันรายการสำคัญในที่ต่างๆ สิ่งนี้น่าจะมีความเที่ยงแท้มากกว่าแค่คำเรียกนำหน้าชื่อเท่านั้น ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างที่ไม่ใช่เฉพาะในบ้านเรา แต่รวมถึงประเทศที่กีฬาจักรยานไม่ใช่กีฬาที่มาจากรากฐานสังคมของบ้านนั้นๆด้วย ทำให้การมีอาชีพเป็นนักจักรยานอาชีพ ไม่ใช่วิถีที่สอดใส่ได้ลงตัวกับบล็อคของสังคม แม้แต่ญี่ปุ่น บ้านเมืองที่ดูเจริญรุดหน้ากว่าเอเชียชาติอื่นๆ ความเป็น “โปร” จักรยาน ก็ยังถือเป็นสิ่งที่หาช่องทางอยู่ยากในสังคม ในแง่ของความเป็นอยู่ ความมั่นคง  ที่สำคัญ จิตวิญญาณของ”โปร” ที่เรสัมผัสกันใกล้ตัว ก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนักปั่นระดับอาชีพที่เห็นในยุโรปที่แข่งกันโครมๆ แต่เราก็หวังสักวันหนึ่งว่า จะมีนักปั่นไทย ที่สามารถไปถึงจุดนั้นได้อย่างสมภาคภูมิ ตามรอยรุ่นพี่ๆที่เริ่มไปกรุยทางเอาไว้แล้วอย่างมั่นคงและยั่งยืน

May 21, 2020 cyclinghub 0 Comment