ไฟหน้าฉลาดๆ ที่ไม่ใหญ่ และหนักจนถอดใจ
Garmin Varia UT800 Smart Light กับรีวิวการใช้งานจริง

ไฟจักรยาน เป็นอุปกรณ์สำคัญเพื่อความปลอดภัยทั่วไป ที่มักถูกละเลยได้ง่ายที่สุด เพราะคนส่วนมากไม่นิยมปั่นยามวิกาล และต่อให้ออกปั่นไปในตอนกลางคืน ก็มักชินกับการปั่นและอาศัยไฟถนนเป็นแหล่งกำเนิดแสงเพื่อไปข้างหน้าได้อย่างไม่ลำบากนัก ซึ่งเรื่องนี้เองก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของนักปั่นทันที 2 จุด ที่คุณหรือใครๆ ก็อาจมองข้ามไปได้

อันดับแรก การมีไฟส่องสว่างด้านหน้า ไม่ใช่เพื่อเฉพาะให้เราเห็นทางเท่านั้น แต่มันหมายถึงการช่วยให้เราเป็นฝ่าย”ถูกเห็น” จากรถยนต์ที่วิ่งสวนทางมาด้วย แน่นอนว่าไฟท้าย มีความสำคัญมากในตอนกลางคืน เพื่อให้รถที่วิ่งมาข้างหลังเรา เห็นเรา และหลบเราได้ก่อนที่จะชนเข้ากับล้อหลังของนักปั่น โดยส่วนมากเราอาจไม่รู้สึกตัวเลยว่ากำลังจะถูกชน

ในขณะที่ไฟหน้าอาจถูกมองว่าไม่จำเป็นนัก เพราะรถที่สวนมายามกลางคืนก็ต้องมีไฟหน้าและนักปั่นสามารถหลบหลีกได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุอีกไม่น้อย เกิดขึ้นจากกรณีรถยนต์ หรือจักรยานยนต์วิ่งสวนเลนเข้ามาหาอย่างเงียบๆ หรือรถที่ออกจากซอยและสี่แยกโดยที่ไม่ทันสังเกตเห็นจักรยานที่แล่นเข้ามาหา กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว และนักปั่นก็ไม่สามารถหลับหลีกได้ทัน จนก่อให้เกิดความเศร้าโศกมาแล้วก็เคยมี

และอีกด้านหนึ่งที่คุณอาจนึกไม่ถึงคือ ปัจจัยด้านกายภาพของจักรยานของเรา เนื่องจากจักรยานของเราๆท่านๆ มีหน้ายางที่แคบกว่ารถยนต์ มีการยึดเกาะถนนที่น้อยกว่า มีจุดศูนย์ถ่วงของน้ำหนักที่สูงกว่า เพราะตัวเราหนักหลายๆสิบกิโลกรัม ในขณะที่รถด้านล่างหนักไม่กี่กิโลกรัม ผิดกับจักรยานยนต์ที่จุดศูนย์ถ่วงต่ำกว่าเรามาก

ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยจากผิวถนน สิ่งกีดขวาง หรืออุปสรรคใดๆ โอกาสแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้จนเกิดเป็นอุบัติเหตุก็มีได้มากกว่าตามไปด้วย ยังเรื่องของระยะห้ามล้อที่ยาวกว่า เพราะกำลังเบรคของระบบเบรคจักรยานมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับความเร็วที่วิ่ง แถมถ้าเบรคจนล้อเกิดอาการล็อค ก็เสียความควบคุมได้อย่างทันที และนี่เองคือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมจักรยานจึงต้องการไฟส่องสว่างที่มากกว่ารถยนต์ เพื่อให้ได้รายละเอียดของเส้นทาง ผิวถนน และอุปสรรคต่างๆเบื้องหน้าที่มากกว่า ระยะใกล้กว่า

 

เรื่องระยะของไฟส่องก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง มากกว่าความสว่างด้วยซ้ำ เพราะจักรยานต้องการการส่องสว่างที่ระยะทำการ 2 ช่วงในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็คือ ช่วงระยะไกลด้านหน้าเพื่อมองเห็นทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป เห็นสิ่งกีดขวางระยะไกลได้อย่างชัดเจน และระยะใกล้ ช่วง 4-5 เมตรจากล้อหน้า นี่คือระยะสำคัญในการหลบหลีกอุปสรรคบนพื้นเบื้องหน้าให้ได้ทัน เพราะแม้คุณจะเห็นอุปสรรคเหล่านั้นจากระยะห่างมาก่อนแล้วก็ตาม โอกาสที่รายละเอียดบางอย่างเช่นหินเพียงก้อนเดียวจะหลุดรอดสายตา มาปรากฏตัวในความสว่างเบื้องหน้าให้เราได้เห็นก่อน  ไฟหน้าจะถือเป็นตัวช่วยเปลี่ยนจากอุบัติเหตุของค่ำคืนนั้นไปสู่การปั่นอันสนุกสนานแทนได้ในทันที

โดยที่ความสว่างของไฟและระยะการกระจายของแสง ต้องสัมพันธ์กับความเร็วที่วิ่งไปด้วย หากจักรยานวิ่งช้าเราก็ไม่ต้องการไฟที่สว่างมากนัก ไม่ต้องการระยะการส่องที่ไกลจนเกินไป ในขณะที่หากจักรยานใช้ความเร็วมากกว่า เราก็จะต้องการกำลังไฟที่สว่างกว่า และครอบคลุมพื้นที่ไปด้านหน้าไกลกว่านั่นเอง

ลักษณะของวงความสว่างของไฟก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ในปกติแล้วจักรยานเสือหมอบ หรือจักรยานบนถนน จะต้องการวงไฟที่สว่าง และแคบกว่า ในขณะที่จักรยานเสือภูเขาหรือจักรยานในทางขรุขระ จะมีรัศมีวงไฟสว่างกว้างกว่า แต่ไม่จำเป็นต้องสว่างเท่า

ระยะทำการของไฟใกล้กว่า ตามลักษณะการขี่ที่ต่างกัน และนั่นคือที่มาของการออกแบบ Garmin Varia UT800 ไฟหน้าแบบ Smart Light ที่พัฒนามาให้เป็นไฟหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่ Garmin เคยมีมา

ในอดีต Garmin เคยออกไฟหน้าในตระกุล Varia มาก่อนแล้ว แล้วได้รับการยอมรับสูงมากในหมู่สื่อจักรยานต่างประเทศ ได้รับรางวัลการออกแบบไม่น้อย เพราะความฉลาดที่สามารถทำงานร่วมกับไมล์จักรยาน

นอกจากปิดเปิดได้เองจากหน้าจอของไมล์แล้ว ตัวไฟยังสามารถปรับความสว่างให้เหมาะกับความเร็วที่ใช้ได้โดยอัตโนมัติอีกด้วย ทว่า มีปัญหาสำคัญคือขนาดตัวไฟที่ใหญ่ เทอะทะ แถมหนักมาก หนักจนแทบไม่มีนักปั่นคนไหนอยากนำไปใช้เพิ่มน้ำหนักให้รถคันเก่งที่รีดจนเบาถูกใจมาด้วยทุนทรัพย์ไม่ใช่น้อย และกายเป็นหนึ่งในความล้มเหลวของเสียงตอบรับในตลาดผู้บริโภคครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่ Garmin ต้องทำใจ

โดยเฉพาะในตลาดประเทศไทย แต่ไม่นานหลังจากนั้น UT800 ก็ออกมาสู่ตลาดพร้อมกับไฟตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่เราได้ทดลองใช้ไฟหน้าแบบ Smart Light มาแล้วทั้งใช้งานทั่วไป ใช้เป็นไฟฉายพกพา รวมถึงใช้ปั่นจักรยานทั้งตอนเช้า และกลางคืน ทั้งสว่างแบบตอนกลางวันและมืดสนิทไม่มีไฟถนน แน่นอนว่าทั้งในประเทศไทย ยุโรป และประเทศในเอเชีย เรียกว่าใช้งานจริงกันจนถึงไส้ถึงพุงกันเลยทีเดียว

UT800 ถือเป็นไฟอัจฉริยะในรูปแบบ Urban มากกว่าที่จะเป็น Race Performance เพราะในตลาดระดับนั้นต้องการอายุการใช้งานและความสว่างที่มากกว่า ดวงไฟที่แคบกว่าจะเหมาะสมมากกว่า ในขณะที่ UT800 มีลักษณะของดวงไฟที่กระจายกว้างกว่า ความสว่างที่จุดกลางน้อยกว่า เพื่อให้เห็นสิ่งกีดขวางโดยรอบได้สะดวกกว่าเดิม มีทัศนวิสัยที่กว้างกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ยังคงออกแบบให้มีกำลังไฟมากพอที่จะใช้งานในการปั่นเชิงกีฬาได้อย่างไม่ต้องกังวล สื่อหลายๆหัวจึงนิยมใส่เอา UT800 เข้าไปอยู่ในประเภทของไฟเสือภูเขาเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับเรา HUB ขอยกให้มันเป็นหนึ่งในสุดยอดไฟเอนกประสงค์แทนจะดีกว่า

วิศวกรของ Garmin ใส่เอาเสป็คสุดอึ้งมาให้ในไฟขนาดพอดีมือตัวนี้ ด้วยระยะการมองเห็นเวลากลางวันที่สามารถมองเห็นดวงไฟได้จากระยะห่างมากกว่า 1.5 กิโลเมตร ซึ่งเราทดลองแล้วพบว่า ที่ระยะประมาณ 300-500 เมตรเป็นช่วงที่เห็นได้สะดวกที่สุด เนื่องจากขนาดของดวงไฟที่ค่อนข้างเล็ก แม้จะสว่างมากก็ยากจะมองได้ง่ายในตอนกลางวัน แต่ถ้าเป็นยามกลางคืน หรือโพล้เพล้ ไฟหน้า UT800 สามารถสังเกตุได้ไม่ยากเลย จากระยะห่าง 1 กม. สบายๆ รวมถึงความสว่างของไฟที่ส่องไปไกลจนน่าตกใจ สังเกตุได้จาก แผ่นสะท้อนแสงริมทาง สะท้อนไฟหน้าของเรามองเห็นได้แม้ตัวสะท้อนแสงนั้นจะอยู่ห่างไปเบื้องหน้าแทบจะสุดสายตา ซึ่งแน่นอนว่า สว่างกว่าไฟหน้ารถยนต์อย่างไม่ต้องสงสัย

ตามเสป็คไฟมีกำลังใช้งานสูงสุด 1.5 ชั่วโมงแบบต่อเนื่อง และความสว่างที่ทำได้คือ 800 ลูเมน อาจไม่ใช่ความสว่างที่ทำให้คุณต้องลุกขึ้นยืนปรบมือ แต่นี่คือความสว่างที่เพียงพอเมื่อผสมกับชนิดการกระจายแสงของ UT800 ทีมออกแบบเลือกให้แสงมีลักษณะเป็นดวงกลม กระจายเป็น 3 จุดแตกต่างกัน ได้แก่ จุดกลางที่โฟกัสของไฟ มีความสว่างมากที่สุด (800 ลูเมน ตามที่เคลมไว้) และวงรอบกินรัศมีกว้างกว่า ลดความสว่างลงมา แต่ยังเพียงพอที่จะช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆโดยรอบเบื้องหน้าได้ และตัวกระจายแสงด้านหน้าจักรยาน ที่ระยะ ไม่เกิน 5 เมตร เราจะเห็นอปสรรคบนพื้น จากแสงที่ถูกดัดแปลงให้กระจายลงด้านล่างนี้ด้วย นับว่าการออกแบบเช่นนี้ ทำให้ ไฟเพียงดวงเดียว ช่วยสร้างทัศนวิสัยเพื่อความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี แม้ว่านี่จะไม่ใช่ไฟที่สว่างี่สุด แต่ในด้านการใช้งาน มันใ้งานได้ดีมากที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว


ความ Smart ของมันก็เกิดจากคุณสมบัติที่สามารถใช้งานร่วมกับไมล์จักรยาน Garmin ทั้งหลายในตระกูล Edge เพื่อเปิดและปิดไฟอย่างอัตโนมัติ หรือกดได้จากหน้าจอไมล์ รวมถึงปรับความสว่างของไฟโดย UT800 ปรับความสว่างของไฟให้เหมาะสมจากปัจจัยภยนอกได้แก่ ความเร็วของจักรยาน, สภาพแสงแวดล้อม และ ชนิดของการปั่นนั้น (บนถนนหรือทางวิบาก) นอกจากช่วยให้เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกันได้แล้ว ยังช่วยให้ไฟ UT800 มีขนาดและน้ำหนักที่ลดลงจากรุ่นก่อนหน้านี้มาก นอกจากนั้นไฟยังปรับชนิดของตัวไฟได้อีก 5 รูปแบบ ทั้งความสว่างในแบบ 3 ระดับ และการกระพริบที่เลือกได้ทั้งแบบกลางวัน (สั้นแต่สว่างมาก) และกลางคืน (สว่างไม่มากแต่ความสว่างสม่ำเสมอ)

 

การติดตั้งบนจักรยานแน่นอนว่าสามารถใช้งานร่วมกับระบบเมาท์เดิมของ Garmin ได้ ไฟของ Garmin จะยึดกับเมาท์ที่ออกแบบให้ด้านล่างมีสลักยึดกับเมาท์แบบหมุน (คนละตัวกับที่ไมล์) หรือเป็นสลักตัวผู้ตัวเมียกัน (เราสามารถติดไมล์กับไฟได้พอดี) เมื่อใช้เมาท์ของพวกเขา ไฟจึงติดตั้งได้อย่างเรียบร้อยไม่ต้องมีระบบรัดอะไรมาให้วุ่นวายอีก เพียงบิดหมุนเหมือนปกติก็เป็นอันเสร็จสิ้น UT800 มีขายึดแบบนี้มาให้ในตัว อย่างไรก็ตาม ที่ข้อตอของ UT800 สามารถถอดเอาแป้นยึดกับเมาท์ของ Garmin ออก เพื่อนำไปติดตั้งกับอุปกรณ์เสริมที่ใช้ระบบยึดแบบกล้องแอ็คชั่นคาเมร่าเช่น Go Pro ได้เลย ไม่ว่าจะเอามาใส่ไม้ต่อถือส่องแบบเซลฟี่ หรือติดกับตัวและหมวกก็สามารถดัดแปลงใช้ UT800 ได้หากคุณมีอุปกรณ์ของกล้องเหล่านั้นอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม จากการใช้งาน เราสังเกตุว่าแบทเตอรี่หมดค่อนข้างเร็วไปสักหน่อย โดยเฉพาะหากคุณใช้งานโดยไม่ได้เชื่อมต่อกับไมล์จักรยาน แล้วเปิดความสว่างสูงสุดเอาไว้ตลอด พร้อมทั้งยังมีความร้อนสุงมากอีกด้วย ถ้าคุณจะปั่นโดยเปิดไฟสว่างที่สุดต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 1.5 ชั่วโมง บอกได้เลยว่า UT800 ไม่ใช่ตัวเลือกของคุณ อย่างไรก็ตาม บนถนนโดยทั่วไป คุณไม่ควรเปิดความส่างสูงสุดอยู่แล้ว เอาเป็นว่าหากคุณได้ลองจับแล้วเปิดไฟสาดเข้าหน้าตัวเองสักครั้ง คุณก็จะทราบเหตุผลได้ทันที เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงสรรเสริญญาติเหง้าบรรพบุรุษ

คุณควรละลงมาเปิดระดับ 3 หรือใช้กระกะพริบแบบกลางคืนจะเหมาะกว่า หรือถ้าขี่เร็ว ต้องการความสว่างจริงๆ ระบบกะพริบแบบกลางวันก็ช่วยให้ปั่นกลางคืนได้สว่าง เห็นได้ง่าย และไม่กวนคนอื่นมากนัก (ก็ดีกว่าฉายค้างไว้แบบนั้น) อีกเรื่องที่ไม่พูดคงไม่ได้ ที่ระบบยึดแบบกล้องแอ็คชั่นนี่แหละ ที่ทำให้ใช้ๆไปแล้วมันก็หลวม มีอาการหัวตั้ง คอตกกันอยู่เรื่อย แถวเวลาจะขันสกรูวให้แน่นก็ต้องใช้อุปกรณ์เสียด้วยสิ จะให้ดี ควรมีสลักให้ใช้มือขันปรับความแน่นได้จะสะดวกกว่ามาก

จุดเด่น : ขนาดพอเหมาะ และใช้งานได้สะดวก
จุดด้อย : อายุแบทฯไม่ยาวนัก และระบบยึดใช้งานไม่ค่อยสะดวก

March 26, 2018 cyclinghub 0 Comment