
เมื่อพูดถึง Sram คุณคงจะนึกออกถึงเกียร์จักรยานที่มีภาพลักษณ์ของความ”ล้ำ” คิดใหม่ทำใหม่และไม่ตามใคร ตั้งแต่การส่งเอาชุดเกียร์เสือภูเขาที่โดดเด่น จนมาต่อที่ระบบ Double Tap อันลือลั่นของเสือหมอบ และต่อติดๆด้วยชุดเกียร์ไฟฟ้าไร้สายสมบูรณ์แบบของ eTAP ล่าสุดการปล่อยอัตราทดใหม่ที่ได้เปรียบในทุกๆด้านของ AXS ทำให้พวกเรามีความสงสัยมาตลอดว่า ใครและอะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังความคิดและการพัฒนาสินค้าทั้งหมดของพวกเขา คำตอบนั้นรออยู่ที่นี่แล้ว เมื่อเราได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมชมโรงงาน Sram อย่างเป็นทางการในฐานะตัวแทนสื่อจักรยานจากประเทศไทย
โรงงาน Sram ถือเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของอุตสาหกรรมจักรยานไต้หวัน เน้นหนักไปที่อุปกรณ์เสริมต่างๆ โดยนอกจากที่พวกเขาผลิตเกียร์และอุปกรณ์ Sram ยังผลิตสินค้าแบรนด์อื่นๆที่อยุ่ภายใต้ร่มชายคาของเครือเดียวกันทั้ง Zipp, Truvativ, Quarq และ RockShock ซึ่งโรงงานที่ไต้หวันนี้ถือเป็นโรงงานหลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในบรรดาโรงงานทั้ง 9 แห่งใน 9 ประเทศของพวกเขา โดยมีพนักงานรวมกันถึง 2,100 คน จากพนักงานทั้งหมดในโลกนี้กว่า 3,000 คน
แหล่งผลิตหลักที่อยู่ที่ไต้หวันนี้ สามารถผลิตได้เกือบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ในเครือตั้งแต่ต้นทางจนถึงการบรรจุหีบห่อและจัดส่งไปยังประเทศต่างๆ เพื่อจัดจำหน่าย โดยมีความสามารถทั้งงานโลหะ อิเลคโทรนิคส์ ตลอดจนงานคาร์บอน ดังนั้นจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าของอุตสาหกรรมจักรยานได้ภายในเวลาสิบปีล่าสุดนี้ โดยเส้นทาง 32 ปีของพวกเขา เติบโตและสร้างรากฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ในที่สุดเมื่อทุกอย่างพร้อม ด้วยองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ การพัฒนาและวิขัยผลิตภัณฑ์ (R&D : Research And Development) ขั้นตอนสำคัญที่สุดของการออกผลิตภัณฑ์ ทำในไต้หวันเป็นหลัก โดยมีทั้งนักออกแบบ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญทางวัสดุพร้อมปฏิบัติการตลอดเวลา จากนั้นทำการพัฒนาตัวอย่างและผลิตตัวอย่างมากมาย ส่งไปทดสอบในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมถึงการส่งไปทดสอบโดยนักกีฬาและทีมจักยานชั้นนำจนมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะออกมานั้นพร้อมแล้วอย่างสมบูรณ์? ที่สุด จึงทำการผลิตออกมาจัดจำหน่ายนั่นเอง
อีกขั้นตอนหนึ่งที่ปฏิบัติการที่ไต้หวันคือการวางแผนการตลาดและกิจกรรมทางการตลาดทั้งหมดของ Sram และแบรนด์ในค่าย ก็ถูกวางแผนหลักจากที่นี่นั่นเอง ทั้งนักการตลาดและทีมงานฝ่ายขายเริ่มต้นวางแผนไปพร้อมๆกับที่นักพัฒนาผลิตภัณฑ์กำลังทำงานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาพร้อมออกสู่ตลาดทั้งในแง่ของสมรรถนะและการตลาด ดังนั้นแผนการเปิดตัว การนำเสนอ รูปแบบต่างๆของการตลาดก็มาจากดินแดนแห่งนี้ด้วยนั่นเอง เรียกได้ว่า ยกเอาขุมปัญญารดับหัวกะทิ มาสร้างสรรค์สินค้าและธุรกิจจักรยานออกมาให้เราได้เห็นกัน แม้ว่านี่จะไม่ใช่แบรนด์สัญชาติไต้หวัน แต่เรียกได้เลยว่า ด้วยขุมปัญญาและศักยภาพของไต้หวัน ผสมกับนวัตกรรมต้นทางและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ทำให้ Sram เป็นผู้นำเจ้าหนึ่งของโลกนี้ในเรื่องที่พวกเขากำลังทำอยู่ ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยแผล่งผลิต แบรนด์ และ บริการจักรยานที่อยู่ในไต้หวัน ซึ่งช่วยกันฉุดกระชากผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ของไต้หวันก้าวขึ้นมาและยังคงนำเป็นหนึ่งในดลกนี้ได้อย่างมั่นคง