
เมือ่นึกถึงจักรยานจากอิตาลี คงจะมีแบรนด์ต่างๆผุดขึ้นมาให้เป็นที่จดจำได้มากมายสำหรับแต่ละคน แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงแบรนด์ Wilier Triestina หรือเรียกกันง่ายๆว่า “วิลเลียร์” ด้วยความที่แบรนด์นี้อาจไม่ได้เป็นเจ้าบุญทุ่มซื้อทีมใหญ่ของโลก หรือไม่ได้ออกรถในระดับไฮเอ็นด์สุดหรูให้สะสม แต่พวกเขา เน้นไปที่การสร้างเสือหมอบแข่งขันสำหรับนักแข่ง โดยที่ยังคงความเป็นอิตาลี และคงความเป็นเจ้าของแบรนด์ด้วยตัวเองมากกว่าจะอยู่ภายใต้บริษัททุนใหญ่ที่เข้ามาครอบกิจการเอาไว้ จากที่มนี้เอง ที่ทำให้ Wilier ยังคงมีเอกลักษณ์ของตนเอง มีความเป็นครอบครัวที่มีความลุ่มหลงในการออกแบบพัฒนาจักรยานอย่างเต็มที่ และจาความร่วมมือกับการแข่ง Giro d’Italia มาอย่างยาวนาน พวกเขายังคงเน้นการสร้างเสือหมอบแข่งขันระดับสูงสุด เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนา
เราอาจไม่ค่อยได้เห็นโปรทีมดังใช้จักรยานยี่ห้อนี้กันสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุสำคัญเรื่องของงบประมาณการทุ่มทุนการตลาดที่พวกเขาไม่ต้องการผลักให้ภาระนั้นมาเป็นส่วนเพิ่มให้ราคาขายของเสือหมอบดีๆสักคันพุ่งขึ้นไปจนเกินสมดุลย์แห่งความเหมาะสม พวกเขาจึงเน้นการร่วมสนับสนุนทำทีมจักรยานในระดับรองลงมา เพื่อทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าทีมในอิตาลีที่สำคัญก็คือทีม Wilier Triestina โปรทีมที่มาแข่งในเอเชียบ่อยครั้ง รวมถึงการร่วมมือกับทีม United Healthcare โปรทีมระดับโปรคอนติเน็นตัลของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับเชิญไปยังรายการต่างๆทั้งในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และยุโรป นับว่าเป็นทีมในระดับโปรคอนติเน็นตัลที่แข็งแกร่งที่สุดทีมหนึ่งในโลกนี้ บทพิสูจน์นี้ทำให้ Wilier มั่นใจว่า จักรยานของพวกเขา ยังคงพร้อมไปด้วยสรรพคุณแห่งการเป็นม้าศึกในสนามแข่งขันชั้นนำได้อย่างเต็มที่
Cento1AIR ถือเป็นการต่อยอดพัฒนารถในรหัสเดิมให้ครบเครื่องมากขึ้น และเป็นการก้าวเดินต่อไปในสายการพัฒนาจักรยานเสือหมอบแอโรไดนามิคส์ของ Wilier ซึ่งในปัจจุบัน รุ่นที่เป็นสุดยอดของสายรหัสนี้คือ Cento 10AIR ที่ก้าวกระโดดจากเดิมไปอีกขั้นหนึ่ง แต่เมื่อนับจากการออกแบบและความน่าสนใจ Cento1AIR ถือเป็นเสือหมอบระดับโปรทัวร์ ที่โลดแล่นอยู่ในสนามแข่งมานานหลายปี ที่แม้จะถูกแทนด้วยรุ่นใหญ่น้องใหม่มาแรง แต่ตัวของมันเองยังคงมีพิษสงรอบตัว และในโอกาสนี้เองที่เราได้นำเอา Cento1AIR มาทำการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง โดยจุดเด่นของเฟรมนอกจากทรงที่บอกอยู่แล้วว่ามันคือเสือหมอบแอโร่ไดนามิคส์อย่างไม่ต้องสงสัย จุดเด่นคือตะเกียบหน้าที่พัฒนามาบนฐานของตะเกียบจากซีรีส์ของรถไต่เขาเน้นความสติฟฟ์เพื่อกาควบคุมที่ดีเยี่ยม บวกกับความแอโรฯของการเป็นด่านหน้าเข้าปะทะกับอากาศ และ Seat Stay เพรียวบางรีดให้อากาศผ่านไปได้อย่างราบเรียบที่สุด และมีการออกแบบให้รูปทรงของมันบังตัวเบรคที่ด้านหลังเอาไว้
อีกจุดที่ดูแล้วสะดุดตาคือหลักอานและการยึดที่เรียบง่าย ดูแลรักษาไม่ยาก รูปทรงเพรียวบางตามลักษณะของรถแอโรฯ หลังจากที่ Wilier ออกแบบพัฒนาจนได้รูปทรงที่เหมาะสม แข็งแรงที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรฝีมือดีอย่าง Ritchey ช่วยทำให้มันออกมาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้ว่าโดยรวมแล้วนี่ไม่ใช่เฟรมที่มีทรวดทรงสุดุดตาเป็นเอกลักษณ์มากนัก หากมองจากระยะไกลมันก็เหมือนเสือหมอบแอโรฯพื้นๆทั่วไป แต่ความประณีตที่คุณจะได้เห็นเมื่อเข้ามายืนใกล้กับรถ จนสายตาได้ประจักษ์กับงานสีของ Wilier จะทำให้คุณต้องอดใจไม่ได้ที่จะเอามือไปลองสัมผัสไล้ไปบนผิวของเฟรมอย่างแผ่วเบา นี่คืองานสีระดับพรีเมียมที่เกิดจากความใส่ใจคุมรายละเอียดของคุณภาพ แม้ว่าในรุ่นสีปกติ เฟรมถูกทำสีจากโรงงานในเอเชีย ต่างจากรุ่นสีพิเษศที่ทำสีในอิตาลี แต่พวกเขาก็เข้มงวดในมาตรฐานงานสีเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดที่ทำให้เฟรม Wilier Cento1AIR ดูมีราคาเกินตัวไปไม่น้อย นี่อาจเป็นข้อดีของการดำเนินธุรกิจในร่มชายคาของบ้านตัวเอง ยังสามารถเข้ามาดูในรายละเอียดเล็กๆเช่นนี้อยู่ได้อย่างทั่วถึง การซ่อนสายของ Wilier ทำได้อย่างชาญฉลาดตามที่พวกเขาตั้งใจออกแบบมา แม้ว่านี่ไม่ใช่เฟรมระบบซ่อนสายสมบูรณ์แบบสมัยนิยม แต่ในจุดที่มีการเดินสายเข้าสู่เฟรม พวกเขาได้ออกแบบมาให้มีการปิดสายที่เรียบ้รอย สำหรับเฟรมซ่อนสายแบบปกตินี่น่าจะเป็นเฟรมที่เก็บสายได้เรียบร้อยที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว ตลอดจุดรัดหลักอานที่มีการปิดระบบยึดหลักอานที่ช่วยให้เฟรมดู sexy สะดุดตา
เส้นทางทดสอบ เขื่อนป่าสักฯ อุโมงค์ต้นไม้ และเส้นทางเนินขึ้นลงของจังหวัดสระบุรี ถูกเลือกมาเป็นบททดสอบของการปั่นครั้งแรกของเราในครั้งนี้ ด้วยความเร็วในระดับแข่งขัน และสภาพเนินเขาจะชี้วัดความประทับใจแรกให้กับเราได้อย่างแน่นอน ด้วยน้ำหนักชุดเฟรมเซ็ทกว่า 1400 กรัม แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เฟรมน้ำหนักเบาหวิว และน่าจะส่งผลบนทางเนินชันอย่างแน่นอน แต่ในการปั่นระดับความหนักที่ 4-5 วัตต์ต่อกิโลกรัม เราพบว่านี่คือเฟรมที่สู้เนินชันได้ดีไม่เลวเลยทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อพ้นยอดเนิน นี่คือจุดที่ Cento1AIR จะสำแดงอานุภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อรถพุ่งลงเนินมาด้วยความเร็วสูง ผ่านโค้งคดเคี้ยว ความเร็วที่ทะยานทะลุ 60 กม./ชม. กลับให้ความรู้สึกมั่นใจในการควบคุม รถออกอาการ”เชื่อง” ในโค้งสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ องศาของเฟรมยังช่วยให้ผู้ขี่ก้มได้เยอะอย่างดุดัน การถ่ายเทน้ำหนักร่างกายคนขี่ประสานกับเฟรมได้อย่างยอดเยี่ยมเกินคาด ดังนั้นนี่คือรถแอโรไดนามิคส์ที่ครอบคลุมการปั่นที่สนุกสนาน ดุดัน ไม่อืดอาด ไม่มีอาการตื้อแบบรถในลักษณะเอนไปทางไทม์ไทรอัล
Cento1AIR เราของจัดให้อยู่ในกลุ่มของเสือหมอบครบเครื่อง กระชุ่มกระชวย ทำความเร็วได้สนุก ควบคุมได้ดีเยี่ยม น้ำหนักที่ไม่เบามากกลับไม่ได้ส่งผลร้ายนักบนทางเขา เพราะเฟรมตอบสนองต่อแรงบิดส่งกำลังได้อย่างสนุก จะขี่กลุ่มเพื่อเซฟกำลังวัตต์ หรือออกเดี่ยวโต้ลมหัวแถวก็ยังไปได้ดี แม้อัตราเร่งจะไม่ได้จัดจ้านมากนัก แม้จะยกบนเขาแล้วไม่ได้พุ่งบินขึ้นไปแบบรถไต่เขาแท้ๆ แต่ด้วยความครบเครื่องนี้เองที่น่าจะทำให้มันเป็นเสือหมอบที่คุณพร้อมจะนำไปขี่ได้ในแทบทุกสถานการณ์ของถนนประเทศไทย มาในร่างของงานอิตาลี ความเรียบร้อยของงานสี การออกแบบการประกอบที่หรูหราเกินตัว ผลสรุปของมันจึงเป็นเรือธงระดับโปรที่อยู่ในตำแหน่งที่จับต้องได้ หากคุณมองแล้วว่า Cento 10AIR อาจมีราคาค่าตัวที่สูงเกินเอื้อม มองว่าเทคโนโลยีล่าสุดของโปรทัวร์ไม่ใช่สิ่งที่คุณสัมผัสความคุ้มค่าได้ Cento1AIR เป็นคำตอบที่คุณไม่ควรแคลงใจกับมันเลย
สุดท้ายเราลองนำมันมาขี่บนถนนกรุงเทพ เรายิ่งต้องประหลาดใจเมื่อ Cento1AIR สามารถซอกแซ่กเข้าไปตามซอกเล็กซอกน้อยของการจราจรได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนกับรถเชื่องๆที่ปราดเปรียว ผิดกับรถแอโรฯโดยทั่วไปที่มาพร้อมอาการท่อจนไม่เหมาะกับการเข้าสู่ทางแคบ เปลี่ยนทิศทางบ่อยๆแบบนี้
สิ่งที่ชอบ : เสือหมอบแอโรฯที่กระชุมกระชวย ฉับไว รักษาความเร็วได้ดี คล่องตัวมาก
สิ่งที่ไม่ชอบ : หน้าตาของเฟรมที่มองจากระยะห่าง มันไม่มีจุดเด่นอะไรเลย รวมถึงการรองรับเทร็นด์ใหม่ๆเช่นยางหน้ากว้างที่ยังทำไม่ได้
คำแนะนำ : ถ้าคุณเป็นสิงห์นักปั่นที่มองหาความแรงของรถทางราบ ที่ขึ้นเนินเขาได้อย่างไม่ขี้เหร่ คันเดียวมันส์ทุกที่ คุ้มค่ากับการลงทุน นี่น่าจะเป็นรถที่ต้องพิจารณาให้ดีอย่าให้พลาดจากสายตาไปได้